กรรมการ ป.ป.ช.ชี้กรณี อ.ก.พ.มีมติไล่ออก “ยงยุทธ” ผิดวินัยร้ายแรงกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้วอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทินทำไม่ได้ ต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน กังขาประหลาดหรือไม่ เผยรอหนังสือ มท.แจงลงโทษวินัยต้องมีผลออกมา 2 กรณี “ปลดออก-ไล่ออก” เท่านั้น วอน ขรก.อย่าตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า ชี้นัก กม.ต้องยึดหลักนิติธรรม ถามจิตสำนึกศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ อย่าทำพระนามท่านเสียหาย
วันนี้ (25 ก.ย.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยเเลนด์ ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 97 เมกะเฮิรตซ์ กรณีที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีเเละ รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยร้ายเเรงกรณีสนามกลอ์ฟอัลไลน์ เเต่ อ.ก.พ.อ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 ทำให้นายยงยุทธไม่ต้องรับโทษเเละไม่ต้องออกจากตำเเหน่งทางการเมืองในปัจจุบันว่า ยังไม่ทราบต้องดูรายละเอียดว่าเข้ากฎหมายนี้หรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.นี้ มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินต้องรับโทษทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน อยู่ดีๆ จะล้างมลทินโดยที่ไม่ได้รับโทษจากความผิดนั้นไม่เคยปรากฏ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยแจ้งมายัง ป.ป.ช.ตั้งแต่สมัยคุณพรทิพย์ จาละ ดำรงตำเเหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีที่ข้าราชการยังไม่รับโทษมาก่อนต้องดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. จะใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินไม่ได้
เมื่อถามว่ากรณีนี้อำนาจของ ป.ป.ช.นั้น หากปลัดกระทรวงมหาดไทยแจ้งมาว่า ได้กำหนดโทษตามการชี้มูลของ ป.ป.ช. เเล้ว ป.ป.ช.จะกระทำสิ่งใดมากกว่านี้ได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า หาก ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยกับ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ป.ป.ช. จะโต้แย้งเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีได้ แต่ตนยังไม่เห็นหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยในกรณีนี้ หากนายกฯ ยืนกรานตามกระทรวงมหาดไทย มันต้องดูว่ากรณีนี้มีขัดเเย้งระหว่างหน่วยงานหรือไม่ หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยความขัดเเย้งระหว่างหน่วยงานในกรณีอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนหนึ่ง โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การลงโทษต้องยึดกฎหมาย ป.ป.ช. โดยต้องรับโทษจริงๆ ก่อนหากยังไม่รับโทษและจะล้างมลทินได้เช่นใด
“การตีความกฎหมายต้องไม่ให้เกิดผลประหลาดขึ้น คือเกิดผลแบบมนุษย์ไม่คาดคิด แต่กรณีนายงยุทธนั้นนายยงยุทธไม่เคยรับโทษเลย แต่จะขอให้ใช้กฎหมายล้างมลทินมันประหลาดหรือไม่” กรรมการ ป.ป.ช.กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายวิชากล่าวถึงกรณีการติดตามผลมติ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีมติไล่ออกจากราชการนายยงยุทธว่า ต้องรอหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยอย่างเป็นทางการก่อนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ ป.ป.ช.มีหนังสือชี้มูลไป ขณะนี้ตนทราบเรื่องจากสื่อมวลชนเท่านั้น ทั้งคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการกฤษฎีการายนามการลงชื่อ แต่ยังไม่มีหนังสือส่งอย่างเป็นทางการเลย ทั้งนี้ยืนยันมติที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไป กระทรวงมหาดไทยสามารถใช้ดุลยพินิจได้เพียง 2 กรณี คือ ปลดออก หรือไล่ออกเท่านั้น และกรณีที่กระทรวงมหาดไทยระบุในการแถลงข่าวว่าไม่เห็นด้วยกับมติ ป.ป.ช.แต่จำเป็นต้องทำตามนั้น ตนยังไม่เคยเห็นการใช้ดุลยพินิจเช่นนี้
ส่วนการทำหนังสือโต้แย้งคำสั่งลงโทษตามกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น นายวิชากล่าวว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และจะต้องโต้แย้งไปที่นายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ต้องขอดูอย่างเป็นทางการก่อน และถ้าลงมติว่าปลดออกหรือไล่ออกเท่านั้น คงไม่ต้องมีการโต้แย้งอะไร แต่ถ้าไปพูดถึงการล้างมลทินคงต้องดูรายละเอียดว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ ส่วนจะมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายอำนาจ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ถือว่าเรื่องเช่นนี้มีมาเสมอ ที่หน่วยงานของรัฐรับเรื่องไปแล้วไม่เห็นด้วยจึงมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ในอดีตก็เคยมีการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาชี้ขาดและศาลก็เคยระบุว่าให้ยึดกฎหมายของ ป.ป.ช.เป็นหลัก อาทิ กรณีอดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า จะกลับไปใช้ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนไม่ได้ แต่กรณีนั้นไม่มีเรื่องของการใช้กฎหมายล้างมลทิน
“ท่านทั้งหลาย ตอนนี้ก็เปรียบเสมือนช่างทำรองเท้า และกำลังจะตัดรองเท้าให้ท่านรัฐมนตรีเดินอย่างสง่างาม แต่อย่ามาใช้วิธีการตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า ที่ได้เตรียมทำไว้แล้ว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะบาดเจ็บ เดินเข้าไม่ถูก ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ช่วยตัดรองเท้าให้เข้ากับท่านดีกว่า กรณีความผิดของนายยงยุทธน่าจะเข้าใจได้ เพราะไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่คนเป็นนักกฎหมายต้องยึดหลักนิติธรรม และคนอย่างนายยงยุทธที่ร่ำเรียนด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงไมได้สอนให้ใช้วิธีการบิดเบือนเป็นแน่ ทั้งนี้วันที่ 23 ตุลาคมนี้จะครบรอบวันปิยะมหาราช ที่เป็นองค์ให้กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังว่าคงไม่มีใครจะทำให้พระนามท่านเสียหาย” นายวิชากล่าว
นายวิชากล่าวว่า เชื่อว่าคงมีหลายองค์กรที่ยังสงสัยจะมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ ป.ป.ช.คงไม่ใช่องค์กรที่จะไปยื่นเอง ส่วนกรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นั้นก็มีการโต้แย้งตอนมีมติ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีการปลดนายปลอดประสพออกจากราชการ แต่ต่อมามีข้อโต้แย้งว่าจะได้รับผลตามมาตรา 5 ของกฎหมายล้างมลทินหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนกระบวนการที่กฎหมายล้างมลทินเกิดภายหลังที่นายปลอดประสพได้รับโทษแล้ว กล่าวคือได้รับผลจากการลงโทษแล้ว ทั้งนี้จะเอากรณีของนายปลอดประสพมาเทียบเคียงคงไม่ได้
เมื่อถามถึงกรณีการโยกย้ายแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะนายยงยุทธต้องเซ็นคำสั่งลงนามแต่งตั้ง นายวิชากล่าวว่า หากกรณีที่มีผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้ายแล้วนำมาใช้โต้แย้งก็ต้องมาพิจารณากัน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต้องระมัดระวังข้อนี้ และต่อไปยังมีงานใหญ่รออีกมาก ไม่ควรจะมาสะดุดกับเรื่องพวกนี้ ทั้งนี้หากมีประเด็นใดที่เกิดความเคลือบแคลง สงสัยในการใช้อำนาจบิดเบือนความผิดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมต้องทวงถามความรับผิดชอบทางการเมือง