“มงคลกิตติ์” ยื่นผู้ตรวจฯ สอบ “ยงยุทธ” เข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ล้างมลทินหรือไม่ ดักยังไม่ได้รับโทษ บิดเบือนเจตนารมณ์ พ.ร.บ. โยงคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นบรรทัดฐาน ถ้าได้ต้องได้เหมือนกัน ย้อน ม.102 (6) หากมีผลย้อนหลัง พท.ตั้ง “ยงยุทธ” นั่ง หน.มีสิทธิ์ถึงโดนยุบพรรค-พร้อมยื่นสอบ รมว.ยุติธรรม ถูกแบล็กลิสต์ห้ามเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ
วันนี้ (24 ก.ย.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งชาติ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายปรีดา เวทยาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ที่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการกรณีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์ มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 หรือไม่ หากตรวจสอบไม่เข้าหลักเกณฑ์ ขอให้ส่งความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยหรือมีคำสั่งต่อไป
ทั้งนี้ มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯระบุว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำมาก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค. 50 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้หรือลงทัณฑ์ในวินัยในกรณีนั้น
“การที่เลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีคำวินิจฉัยส่วนตนว่าการที่นายยงยุทธถูกคำสั่งปลดออกน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน เครือข่ายเกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนกับนายกรัฐมนตรี เพราะตามหลักเกณท์บุคคลที่จะได้รับอานิสงห์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน 50 ต้องเป็นคนที่กระทำผิดและได้รับโทษทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งมาก่อน พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งการที่นายยงยุทธอ้างว่าตัวเองเข้าข่ายเพราะช่วงเวลาที่ถูกระบุว่ากระทำผิดเป็นปี 45 หากยึดตามนี้ก็ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ ก็ต้องได้รับอานิสงห์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน 50 ด้วย เพราะช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดเกิดขึ้นก่อนปี 50 ทั้งสิ้น แต่ทางเครือข่ายเห็นว่า การตีความลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน 50 จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม” นายมงคลกิตติ์กล่าว
นายมงคลกิตติ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) ยังกำหนดลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ว่า ต้องไม่เคยเป็นผู้ที่ถูกให้ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เมื่อนายยงยุทธไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินแล้ว ยังขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากมีผลย้อนหลังถึง 30 ก.ย. 45 แล้ว การเป็นนายทะเบียนของพรรคเพื่อไทย และมาลงสมัคร และเซ็นรับรองส่งผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ย่อมอาจเข้าข่ายเป็นความผิดที่ยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่
นอกจากนี้ นายมงคลกิตติ์ยังขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี เลขที่นร 0103/28815 ลงวันที่ 12 พ.ย. 44 ห้ามเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ รับตำแหน่งใดๆ อีก เนื่องจากขณะที่ พล.ต.อ.ประชา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วไม่ยอมประกาศให้นายอภัส จันทวิมล ซึ่งได้รับเลือกตั้งขณะนั้นเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ แต่กลับประกาศให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน โดยทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ากรณีดังกล่าวสภามหาวิทยาลัยกระทำไม่ถูกต้อง และสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่สภามหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการ จึงมีการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติดังกล่าว ดังนั้น การที่ พล.ต.อ.ประชายังคงรับตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องได้รับการเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ จึงเป็นกระทำที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริงขอให้ส่งความเห็นต่อไปยังนายกรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและมีคำสั่งต่อไป