xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” จี้ “ยงยุทธ” แสดงสปิริตลาออก “วิรัตน์” เผยเตรียมหารือยื่นศาล รธน.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป.ชี้ดูจากข้อกฎหมาย มท.1 ขาดคุณสมบัติชัดเจน เหตุไม่เคยรับโทษก่อน จี้ลาออกเพื่อรับผิดชอบ ถามเตรียมยื่นเรื่องตั้งใจฝ่าฝืน กม.บอกขอให้ดูทีละขั้น ด้าน “วิรัตน์” เตรียมหารือเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาล รธน.พรุ่งนี้ ซัด อ.ก.พ.กระทำเกินอำนาจหน้าที่ “ธนา” อัด อ.ก.พ.เลี่ยงบาลี เทียบ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 26 พบมาตรา 5 แตกต่างชัด


วันนี้ (24 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทยที่ระบุยืนยันว่ายังไม่ลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงมหาดไทย หรือ อ.ก.พ. ชี้มูลนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 ทำให้ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีว่า ดูจากข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัติชัดเจนแล้ว เพราะนายยงยุทธยังไม่เคยได้รับโทษก่อนที่จะมีกฎหมายล้างมลทินปี 2550 จากนี้จะมีสองส่วน คือ ส.ส.สามารถเข้าชื่อต่อประธานสภาฯ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ อยากให้นายยงยุทธแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและสังคม ส่วนกรณีที่จะเข้าเป็นประธานในการประชุม ครม.แทนนายกรัฐมนตรีที่ติดราชการต่างประเทศหรือไม่ และจะเป็นปัญหาตามมาหรือไม่ เกี่ยวกับมติ ครม.ที่จะออกมานั้น ตนเข้าใจว่านายยงยุทธคงจะอ้างว่าในทางกฏหมาย หากจะโต้แย้งเรื่องนี้ก็ให้ไปโต้แย้งที่ศาล และศาลคงไม่สั่งให้มีผลย้อนหลังในการกระทำนั้นๆ แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อรู้อยู่แล้วว่า ทำไปแล้วจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังก็ไม่ควรที่จะทำ

เมื่อถามต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเอง ก็รู้ถึงมติของ อ.ก.พ. แต่ยังมอบหมายให้นายยงยุทธทำหน้าที่ประธานการประชุม ครม.แทน ตัวนายกฯ เองจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายกฯ ให้เหตุผลไว้อย่างไร เพราะยังไม่มีการอธิบายในเรื่องนี้ต่อสังคม แต่หากจะอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เทียบเคียงกับคำสั่งเมื่อปี 2526 ซึ่งเคยมีการล้างมลทินนั้น ก็มีข้อสังเกตว่า ที่กฤษฎีกาตอบมามีความต่างกันในข้อเท็จจริง ในกรณีของนายยงยุทธกับกรณีที่อ้างเมื่อปี 2526 ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันและมีความแตกต่างของกฏหมายล้างมลทินปี 2526 กับปี 2550 ด้วย เมื่อถามว่าหากนายยงยุทธทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ครม.จริง ถือว่าจงใจละเมิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อยังมีปัญหาอยู่ แต่ท่านยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป ก็ต้องพิจารณาต่อในรายละเอียดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นอกจากแนวทางการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการขาดคุณสมบัติของนายงยุทธแล้ว จะยื่นเรื่องตั้งใจที่จะฝ่าผืนกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอให้ดูทีละขั้น แต่ชั้นนี้ถือว่าขาดคุณสมบัติแล้ว และจากนี้ต้องติดตามดูว่านับตั้งแต่ที่ถูก อ.ก.พ.ชี้มูลให้ออกว่า ได้ดำเนินการอะไร อย่างไรไปแล้วบ้าง แต่หน้าหน้าที่ อ.ก.พ.มีแค่พิจารณาลงโทษหรือไม่เท่านั้น และไม่ทราบว่าทำไมต้องระบุถึงการล้างมลทินให้ด้วย ส่วนกรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาเองก็ระบุแค่ว่า เคยมีความเห็นกรณีเช่นนี้เมื่อปี 2526 มาแล้ว แต่ไม่ดูลงลึกถึงรายละเอียดที่ต่างกันจะเทียบเคียงกันไม่ได้

ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว สาระมีสองประเด็น ผู้มีสิทธิล้างมลทินต้องทำผิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ คือวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และต้องรับโทษมาก่อน สำหรับกรณีนายยงยุทธ แม้ว่าการกระทำผิดจะเกิดก่อนปี 2550 แต่เพิ่งรับโทษวันที่ 19 กันยายน 2555 ตามมติของ อ.ก.พ. ดังนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ล้างมลทินจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินได้ ส่วนที่มีการเทียบเคียงความเห็นกฤษฎีกา 440/2526 นั้น เป็นกรณีที่ อ.ก.พ.มีมติลงโทษก่อน พ.ร.บ.ล้างมลทินออกมามีผลใช้บังคับ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของนายยงยุทธอย่างชัดเจน ดังนั้นความเห็นดังกล่าวจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงนำประเด็นที่ไม่เหมือนกันมาเทียบเคียงกัน

ทั้งนี้ ผลที่ตามมาคือ เมื่อนายยงยุทธถูกให้ออกจากราชการก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส. รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทยได้อีกต่อไป ทางที่ดีที่สุดคือลาออกเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับการเมืองไทย แต่หากไม่ลาออก ก็สามารถดำเนินการได้สามช่องทาง คือ ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ประมาณ 49 คนร้องประธานสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ หรือยื่นคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการในเรื่องนี้ หรือยื่นให้ กกต.ดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ทั้งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมพรรคเพื่อพิจารณาในวันพรุ่งนี้

นายวิรัตน์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายยงยุทธทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ทราบมติ อ.ก.พ.ที่ให้นายยงยุทธออกจากราชการแล้วจะถือว่าจงใจละเมิดกฎหมายหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูที่เจตนาด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่า อ.ก.พ. กระทำเกินอำนาจหน้าที่ในการออกมติย้อนหลังและชี้นำว่านายยงยุทธได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ทำให้ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งพรรคจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบของ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยด้วยเช่นเดียวกัน

ด้าน นายธนา ชีรวนิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในทีมกฎหมาย กล่าวว่า การพิจารณาของ อ.ก.พ.เป็นการเลี่ยงบาลีเพราะเป็นคนละกรณีกัน แม้ว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 จะมีข้อความเกือบเหมือนกับ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2526 แต่มีความแตกต่างในสาระสำคัญคือ มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2526 ใช้คำว่า “ได้ถูกลงโทษ หรือลงทัณฑ์ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” แต่ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 มาตรา 5 ใช้คำว่า “ได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” จะเห็นว่าการเปลี่ยนเพียงแค่คำเดียวจาก “ลงโทษ ลงทัณฑ์” มาเป็น “รับโทษ รับทัณฑ์” ทำให้ความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ คำว่า รับโทษ ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ชัดเจนว่าจะต้องได้รับโทษก่อน พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้นจึงจะใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ได้ แต่กรณีของนายยงยุทธ ยังไม่ได้รับโทษทางวินัย ได้รับบำเหน็จและบำนาญตามปกตินับตั้งแต่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2545 อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติต้องห้ามว่าต้องไม่เคยถูกปลดออก ไล่ออก ให้ออกได้ด้วย เช่น เป็นกรรมการผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข 2 ครั้ง ในปี 2547-2548 เป็นประธานกรรมการไฟฟ้านครหลวง และประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งข้างต้นต้องไม่เป็นผู้ถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการ ดังนั้นจึงเท่ากับว่านายยงยุทธไม่เคยรับโทษทำให้ไม่มีสิทธิใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น