ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กล่าวสำหรับกรณีมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและมีมติปลด “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ในคดีที่ดินและสนามกอล์ฟอัลไพน์นั้น นอกเหนือจากประเด็น พระราชบัญญัติล้างมลทินที่พรรคเพื่อไทยและบรรดาเนติบริกรหยิบยกขึ้นมาช่วยเหลืออย่างน่าไม่อายแล้ว
ประเด็นอันเกี่ยวเนื่องที่สังคมให้ความสนใจไม่แพ้กันต่อก็คือ ท่าทีของ “นายพระนาย สุวรรณรัฐ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน และ “นายอัชพร จาจุจินดา” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนปัจจุบัน รวมทั้งนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)
เพราะทั้งสามคนล้วนแล้วแต่ให้ความเห็นว่า นายยงยุทธมิต้องรับผิดเพราะอานิสงส์ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินไปเรียบร้อยแล้ว
โดย อ.ก.พ.ระบุท้ายคำสั่งว่า การลงโทษทางวินัย ผู้ถูกลงโทษอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับการล้างมลทิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ.2550 ตามแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่อาจเทียบเคียงได้ ตามเรื่องเสร็จที่ 440/2526 และหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร.1011/272 ลงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งผลของการล้างมลทินให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ
กล่าวสำหรับนายพระนายนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย เพราะสังคมคาดหวังการการทำหน้าที่ของเขาเป็นอย่างมาก เพราะรับรู้ว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้นี้คือใคร มีสายสัมพันธ์กับใคร
มิต้องอธิบายขยายความก็สามารถรับรู้ตัวตนของปลัดกระทรวงมหาดไทยผ่านนามสกุลสุวรรณรัฐได้เป็นอย่างดี
แต่สิ่งที่นายพระนายปฏิบัติในคดีนายยงยุทธกลับสวนทางกับสิ่งที่สังคมคาดหวังอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
กล่าวคือหลังจากที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยมีมติปลดออกนายยงยุทะไม่นานนัก นายพระนายก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวปกป้องนายยงยุทธ กระทั่งสามารถใช้คำว่า “ออกนอกหน้า” ได้
นายพระนายแจกแจงข้อมูลแทนนายยงยุทธเอาไว้ว่า....
“ในฐานะรองประธาน อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม อ.ก.พ. เมื่อวันที่ 14 ก.ย.55 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 8/2555 ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นพ้องกับความเห็นกับ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 3 คน ที่เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานพยานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายยงยุทธกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แม้ว่า อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยจะไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เรื่องนี้จะไม่สามารถพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ จึงเห็นควรเสนอให้ รมว.มหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) สั่งลงโทษนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ออกจากราชการตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.มีมติ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.45 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่นายยงยุทธมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป
“การลงโทษทางวินัยนี้ ผู้ถูกลงโทษอยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2550 ตามแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่อาจเทียบเคียงได้ ตามเรื่องเสร็จที่ 440/2526 และหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ที่ นร.1011/272 ลงวันที่ 7 ก.ย.2555 ซึ่งผลของการล้างมลทินให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ ทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่ขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งข้าราชทางการเมืองแต่อย่างใด ส่วนเรื่องจริยธรรมมหาเถรสมาคมและวัดธรรมิการามวรมหาวิหาร ได้เห็นชอบด้วยที่อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ปฏิบัติไปแล้ว”
เกิดอะไรขึ้นกับนายพระนาย สุวรรณรัฐ
เกิดอะไรขึ้นกับนายพระนายซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วต้องถือว่าเป็นหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญของกลุ่มที่คนเสื้อแดงขนานนามว่า “ฝ่ายอำมาตย์”
หรือเวลานี้ กระบวนทัศน์ของฝ่ายอำมาตย์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนดูพิจารณาประวัติศาสตร์และสายสัมพันธ์ระหว่างนายพระนายและนายยงยุทธแล้วก็จะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมนายพระนายถึงปกป้องนายยงยุทธถึงขนาดนั้น
เพราะต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่ใช่นายยงยุทธ ก็ไม่มีปลัดมหาดไทยชื่อพระนายซึ่งนามสกุลสุวรรณรัฐ
เพราะต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่ใช่นายยงยุทธ นายพระนายคงไม่นั่งอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้จนเกษียณอายุราชการ
แน่นอน การที่นายใหญ่คนเสื้อแดง รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์และนายยงยุทธสนับสนุนให้นายพระนายนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ย่อมต้องคาดหวังที่จะเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า “อำมาตย์”
เช่นเดียวกับการนั่งในเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ทั้งๆ ที่นายพระนายอยู่ในกลุ่มที่คนเสื้อแดงขนานนามว่า “อำมาตย์” ก็เป็นผลมาจากเหตุผลข้างต้นเช่นกัน
มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า มีการพบปะสังสรรค์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งฝ่ายข้าราชประจำและข้าราชการการเมือง โดยมี “อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยที่มีสายสัมพันธ์กับนายพระนาย” เป็นเจ้าภาพ ไม่ต่ำกว่า 1 ครั้งในระหว่างที่นายพระนาย สุวรรณรัฐเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย
แน่นอน การพบปะดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่การสังสรรค์ของคนเคยรู้จักกัน โดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแฝงหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบได้
ขณะที่อีกบุคคลหนึ่งที่ถูกสังคมตั้งคำถามไม่แพ้กัน ก็คือ “นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้ความเห็นไม่ต่างอะไรจากนายพระนาย
เกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานของกฤษฎีกา
เพราะในยุคคุณพรทิพย์ จาละ ได้เคยมีบันทึกถึงข้อวินิจฉัยกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกันไปถึง ป.ป.ช.มาแล้ว และคำวินิจฉัยดังกล่าวก็เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่นายอัชพรให้ความเห็นดังเช่นที่นายวิชา มหาคุณกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้ความเห็นเอาไว้
แต่ในยุคนายอัชพร จารุจินดา เป็นใหญ่กลับมีบันทึกลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2555 ระบุว่า กรณี "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทิน
“ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ส่งไปที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) เป็นความเห็นเดิมของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้นานแล้วว่า หากจะลงโทษข้าราชการต้องลงโทษระหว่างที่บุคคลนั้นรับราชการอยู่ หากพ้นหรือเกษียณอายุราชการแล้วจะลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ใช้แนวทางนี้มาโดยตลอด ซึ่งกรณีของนายยงยุทธหากเป็นไปตามแนวทางนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายได้รับการล้างพ.ร.บ.ล้างมลทิน
“นายยงยุทธถูกลงโทษด้วยการปลดออกจากราชการไปแล้ว เพราะคำสั่งที่ออกมาเป็นคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันเกษียณอายุราชการ (30 ก.ย.45) ก็เท่ากับออกจากราชการไปแล้ว ไม่ได้ออกจากราชการเพราะเกษียณอายุราชการ ก็ถือว่าได้รับโทษไปแล้ว พอเวลาล่วงเลยมา มีการออก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ก็อยู่ในเกณฑ์ของผู้ได้รับการพิจารณาล้างมลทิน ทั้งนี้ การเทียบเคียงดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักเดิมที่ใช้มาตลอด ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นบุคคลใด หากบุคคลใดมีลักษณะดังกล่าวก็ถือว่าเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน”นายอัชพรอธิบาย
เช่นเดียวกับความเห็นของนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)เ
และความเห็นของ 1 เนติบริการ กับอีก 2 เทคโนแครตก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อดันทุรังให้นายยงยุทธนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจากระบอบทักษิณ ซึ่งแม้กระทั่งนายยงยุทธเองก็ได้นำบันทึกดังกล่าวมากล่าวอ้าง แถมยังยืนยันว่า มิได้ทำความผิดในคดีที่ดินอัลไพน์อีกต่างหาก
สรุปก็คือ นายยงยุทธยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิด และยังคงดึงดันที่จะทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป โดยมีนายพระนาย สุวรรณรัฐ นายอัชพร จารุจินดาและ รวมกระทั่งถึงนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)เป็นผู้รับรองการอยู่ในอำนาจ
แต่ความจริงก็คือ นายยงยุทธมีความผิดชัดแจ้งตามมติของ ป.ป.ช.และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102(6) ก็ระบุเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.และรัฐมนตรีอย่างชัดเจนว่า บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่
จะต้องพ้นเก้าอี้ ส.ส.-รัฐมนตรีทันที
ที่สำคัญคือทั้งนายพระนาย นายอัชพรและนายนนทิกรไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 มาช่วยเหลือนายยงยุทธได้ เนื่องเพราะตามมาตรา 5 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “...ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ”
ทำไมทั้ง 3 คนถึงอ่านกฎหมายมาตรานี้ไม่เข้าใจ
สุดท้ายสิ่งที่สังคมอยากกระตุ้นความคิดของข้าราชการของประเทศนี้ก็คือ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
หมายเหตุ : ตอนนี้ 'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันได้ที่ http://www.facebook.com/#!/Astvmanagerweekend