xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน” ชี้ชัด “ยงยุทธ” ไม่เข้าข่ายล้างมลทิน “ปานเทพ” แนะลาออกจะสง่างามกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมสัน” ชี้ชัด “ยงยุทธ” ไม่เคยได้รับโทษมาก่อนจึงไม่เข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ล้างมลทิน ระบุแต่ถ้าหากล้างมลทินได้ ความผิดก็ยังคงอยู่ ซึ่งทำให้มีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส.ติดตัวไปตลอดชีวิตอยู่ดี “ปานเทพ” แนะแสดงความรับผิดชอบตามหลักจริยธรรมจะสง่างามกว่าดันทุรังต่อไป เพราะจะเท่ากับว่าไม่เคยสำนึกผิดเลย

วันที่ 24 ก.ย. 55 อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายคมสันกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ว่า เวลา ป.ป.ช.ชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่อกระทำการทุจริต จะชี้มูล 2 ส่วน คือ ทางอาญา และทางวินัย จะชี้มาคู่กันเพราะบางกรณีผิดอาญาไม่ผิดวินัย หรือผิดวินัยไม่ผิดอาญาก็มี

กรณีนายยงยุทธนั้น ป.ป.ช.ชี้มูลเรื่องบทวินัยว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เสียงข้างมากเห็นสมควรให้ไล่ออก แต่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) เห็นชอบกับ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อยว่าหลักฐานไม่พอ จึงให้ปลดออกแทนที่จะไล่ออก ซึ่งการสั่งแบบนี้ ถ้าไม่มี ป.ป.ช.มาเกี่ยวข้องแล้วโต้ไปยังศาลปกครอง นายยงยุทธจะหลุดเลย เพราะบอกไม่มีมูลแต่ดันให้ปลดออก ตัวลงโทษกับฐานพฤติการณ์มันไม่ไปด้วยกัน แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกฎหมายปปช. แล้วก็สั่งลงโทษตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเชื่อมโยงกับระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยมีหลักกฎหมายระบุว่าเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ให้องค์กรสั่งการตาม ป.ป.ช. ซึ่ง อ.ก.พ.จะชี้ไปทางอื่นไม่ได้ ต้องปลดออกกับไล่ออกเท่านั้น ซึ่งไล่ออกจะส่งผลให้หมดสิทธิ์รับบำเหน็จ บำนาญ แต่ถ้าปลดออกยังได้อยู่

นายคมสันกล่าวต่อว่า นายยงยุทธอยู่ในฐานะนักการเมือง มันจะส่งผลให้เป็นลักษณะต้องห้ามติดตัวไปตลอดชีวิตนับแต่วันนี้เป็นต้นไป คือไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆได้อีก ตามมาตรา 102 (6) ว่าด้วยเรื่องบทบัญญัติของ ส.ส. ทีนี้นายยงยุทธอยู่ในสองฐานะ คือ รมว.มหาดไทย และรองนายกฯ ซึ่งก็คือตำแหน่งรัฐมนตรี กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งผลก็คือจะหลุดจาก ส.ส. เพราะมีลักษณะต้องห้าม แต่จะหลุดจากรัฐมนตรีหรือเปล่า ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ส่วนกรณีที่มองว่ากรณีนายยงยุทธจะเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ล้างมลทินหรือไม่ ตนขอเรียนว่าเรื่องล้างมลทินกับคุณสมบัติว่ามีความเกี่ยวโยงกัน กฎหมายล้างมลทินนั้น ถือหลักการคือผู้ที่ได้ล้างมลทิน ยังเป็นผู้ที่กระทำความผิด แต่ล้างเฉพาะโทษความผิดยังอยู่ ฉะนั้น นายยงยุทธจะโต้ว่าล้างหรือไม่ล้างก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามแน่นอน ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยบุคคลต้องห้ามสมัครเป็น ส.ส. ตามมาตรา 102 (6) คือบุคคลที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ดังนั้นเมื่อถูกปลดออก ถึงแม้จะถูกล้างมลทินแต่ความผิดยังอยู่ มันก็โยงกลับไปที่โทษลักษณะต้องห้าม

นายคมสันกล่าวอีกว่า เมื่อดูเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติล้างมลทิน 2550 จะเข้าใจเลย เนื้อหาระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและให้เกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมควรล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องโทษ 1. ในความผิดต่างๆ ซึ่งพ้นโทษไปแล้ว หมายความว่าต้องรับโทษก่อนแล้วพ้นโทษไปแล้วด้วย ในกรณีความผิดทางอาญา

2. ผู้ถูกลงโทษทางวินัยของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้รับการลงโทษทางวินัยไปแล้ว หมายความว่าคนที่ถูกวินัยก็ต้องรับโทษทางวินัยแล้ว

3.สมควรให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการอันมิใช่เป็นการลงโทษทางวินัยก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

4. และบรรดาผู้ถูกดําเนินการทางวินัยในกรณีกระทําผิดวินัย ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

โดยเงื่อนไขทั้งหมดก็คือ มันต้องเกิดก่อน 5 ธันวาคม นายยงยุทธเข้าข่ายเงื่อนไขที่ 2 ซึ่งอยู่ในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน คือ “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทําก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ท้ังหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ก็คือ นายยงยุทธจะเข้าเงื่อนไขนี้ได้ต้องถูกลงโทษก่อนวันที่ 5 ธันวาคม ไม่ได้แค่กระทำก่อน 5 ธันวาคมเท่านั้น

มีการโต้กันว่า นายยงยุทธถูกลงโทษไปแล้ว ซึ่งเรื่องการลงโทษไม่ว่าจะความผิดทางอาญาหรือวินัย ถือหลักการว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้มีการวินิจฉัยชี้ขาด กรณีอาญา ศาลก็ต้องตัดสินก่อนว่าเป็นผู้กระทำความผิด ด้านวินัยก็คือมีการสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว ฉะนั้น นายยงยุทธ นับแต่วันที่กระทำผิดในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตอนปี 45 มาถึงปัจจุบัน เพิ่งถูกปปช.ชี้มูลเมื่อ 13 มิถุนายน 2555 เราจะเห็นได้ก่อนหน้านั้นไม่มีการดำเนินการทางวินัยเลย หลักทางกฎหมายถือว่านายยงยุทธบริสุทธิ์มาตลอดจนถูกชี้มูลเมื่อ 13 มิถุนายน 2555 แล้วอนุกรรมการเพิ่งชี้มูลไปเมื่อ 20 กันยายน 55 จะบอกว่าถูกลงโทษก่อนไม่ได้ เป็นการลงโทษหลัง

ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า ถึงชั่วโมงนี้นายยงยุทธไม่เคยได้รับการลงโทษเลย เห็นได้จากการดำรงตำแหน่งต่างๆมาจนถึงวันที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ดังนั้นเมื่อไม่เคยได้รับการลงโทษจะไปล้างมลทินได้อย่างไร ถ้าจะไปย้อนหลัง ก็เท่ากับว่าอีกหน่อยทุกคนก็จะอ้างสิทธิถ่วงเวลาให้นานที่สุด ดำรงตำแหน่งอะไรก็ได้ เพื่อให้ล่าช้าไม่ต้องรับโทษใดๆทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง

แค่ข้อกฎหมายตนคิดว่านายยงยุทธไม่สามารถผ่านไปได้ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน แต่เหนือไปกว่านั้นคือจริยธรรม ซึ่งคนเป็นนักการเมืองต้องมีสูงส่งกว่าคนทั่วไป แค่จริยธรรมผิดต้องรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ

แล้วกรณีนี้จะนำไปสู่ปัญหามากมายเพราะการที่ขาดคุณสมบัติ มันจะลามปามไปถึงการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะตอนนี้นายยงยุทธต้องนั่งหัวโต๊ะแทน ไปประชุม ครม. แม้กระทั่งเรื่องของตัวเอง แค่นี้ก็เป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์แล้ว เรื่องผลกระทบตรงนี้ ขั้นแรกถ้านายยงยุทธไม่ทำอะไร พรรคฝ่ายค้านคงยื่นถอดถอนต่อไปแล้วอันนี้มันชัดเจนทางตัวอักษรว่าไม่สามารถล้างมลทินได้ ถ้านายยงยุทธจะแสดงจริยธรรมก่อนที่จะชี้มูลโดยองค์กรอื่น จะสง่างามกว่าให้เกิดกระบวนการดันทุรังแล้วไปถูกชี้ในขั้นสุดท้ายว่ากระทำผิด เพราะนั่นแสดงว่าไม่แม้แต่กระทั่งสำนึกผิด ไม่แม้กระทั่งแสดงความรับผิดชอบต่อจริยธรรมพื้นฐานของนักการเมืองเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น