xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” หวังศาล รธน.รวมสำนวนฟ้อง ม.68 ของพันธมิตรฯ ชี้มีผลต่อคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ระบุน่าเสียดายถ้าศาล รธน.ไม่รวมสำนวนฟ้อง ม.68 ของพันธมิตรฯ เข้ากับสำนวนอื่น เพื่อตัดสินในคราวเดียวกัน เพราะฟ้องครอบคลุมคนลงมติแก้ รธน.ทั้ง 416 คน หรือหากใช้ตัดสินทีหลัง สถานการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายมาก เนื่องจากจะถูกขัดขวางอย่างหนัก ด้าน “คมสัน” ชี้ตามข้อกฎหมาย เป็นไปได้ยาก ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเข้ามาตรา 68 แต่ไม่ยุบพรรค เหตุเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากพรรคการเมืองชัดเจน

วันที่ 4 ก.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายปานเทพกล่าวว่า สำนวนของพันธมิตรฯที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ยึดแนวทางตีความว่าต้องผ่านอัยการก่อน เมื่ออัยการปฏิเสธ เราจึงยื่นเอง เลยทำให้ล่าช้ากว่า 5 สำนวนที่ยื่นก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลได้รวม 5 สำนวนเป็นคดีเดียวกัน ส่วนของพันธมิตรฯ ศาลรับแล้ว แต่ไม่ได้รวมกับ 5 สำนวน

ที่ตนเขียนบทความว่าน่าเสียดายที่ไม่รวมสำนวนของพันธมิตรฯ เข้ากับ 5 สำนวน เพราะอาจจะมีบางอย่างที่เก็บตกเพิ่มเติม ไม่อยากให้ขาดไปในบางประเด็น เพราะหากบางมุมศาลมองว่ายกคำร้อง แต่สำนวนของพันธมิตรฯ อาจสามารถอุดรอยรั่วนั้นได้ ก็จะได้ไม่ต้องยกคำร้อง อีกทั้งสำนวนของคนอื่นไม่ได้เอาผิดครอบคลุม 416 คน ที่ลงมติไปในวาระที่ 1

ความหมายคือ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตัดสิน และสำนวนของพันธมิตรฯนั้นยืดยาว เพราะต้องไต่สวน 416 คน ถ้าศาลมองความเร่งด่วนก็ไม่เอาของพันธมิตรฯ มารวมด้วย และถึงแม้เล็งเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญแน่ๆ จึงไม่ต้องรอ 416 คน แต่ก็จะไม่มีโอกาสเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งได้ครบทั้ง 416 คน ต้องรอคดีพันธมิตรฯ มาเป็นดาบที่ 2 ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเกิดผลร้ายตามมา คือดาบ 1 คือ 5 คำร้อง ถ้าวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีการลงโทษหรือลงโทษไม่ครบ 416 คน พอดาบ 2 คือสำนวนของพันธมิตรฯ มาพิจารณาที่หลัง สถานการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายมาก เพราะผู้คนจะเห็นเลยว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะหากเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งถึง 416 คน ต้องเกิดสุญญากาศแน่นอน มวลชนที่ต่อต้านก็จะขัดขวางทุกวิถีทาง แล้วฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐก็จะชิงยุบสภาก่อน ไปตั้งพรรคสำรองไว้เลือกตั้งใหม่ก็ได้กลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าใจว่าหากมีการตัดสิทธิการเลือกตั้ง นายกฯ จะไม่กระทบ แต่สำนวนของพันธมิตรฯ ได้รวมนายกฯ เข้าไปด้วย ซึ่งหากถูกเพิกถอน นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ไม่สามารถเกิดกระบวนการเลือกตั้งใหม่ได้ เลือกตั้งซ่อมก็ไม่ได้เพราะไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์ก็จะพลิกผัน ฉะนั้นการไม่รวมสำนวนของพันธมิตรฯ จะเป็นผลกระทบต่อคดี เพราะหากมาตัดสินทีหลังก็จะตัดสินใจยากลำบากมากภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เข้มข้น หรือแม้แต่จะตัดสินว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าขาดเนื้อสำคัญที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนใจของศาลก็ได้ ทางที่ควรรวมสำนวนของพันธมิตรฯ เข้ามา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ตัดสินในวันเดียวกัน

นายคมสันกล่าวว่า ผลของการแยกรับสำนวนของพันธมิตรฯ อาจเกิดผลได้ดังนี้ หนึ่ง ศาลพิจารณา 5 สำนวนก่อน แล้วของพันธมิตรฯที่หลัง แล้วถ้าศาลสั่งยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจขยายวงไปใช้สำนวนของพันธมิตรฯเพื่อเพิกถอน 416 คนได้ แต่ถ้าชี้ว่าไม่ผิดตามมาตรา 68 จะส่งผลให้สำนวนฟ้อง 416 คนจบไปด้วย หรือสอง วินิจฉัย 5 สำนวน ในวันที่ 5-6 ก.ค. แล้วหยุด จากนั้นไต่สวนของพันธมิตรฯต่อ 416 คน สาม ชี้คดีแรกและคดีหลังด้วย แต่วินิจฉัยต่างกัน เช่น วินิจฉัยว่าการลงมติวาระที่ 1 เข้ามาตรา 68 แต่การเสนอไม่เข้ามาตรา 68 ก็อาจยกคำร้อง 5 สำนวนแรก

แต่ตนเห็นว่าแนวทางที่สองเป็นไปได้มากสุด คือไต่สวน 5 สำนวนแรกแล้วหยุดก่อน และไต่สวนสำนวนของพันธมิตรฯต่อ เพราะเป็นข้อกฎหมายเดียวกัน แล้วค่อยอ่านคำพิพากษา

ส่วนการวินิจฉัยอาจเกิดได้ดังนี้ หนึ่ง วินิจฉัยว่าเข้าข่ายมาตรา 68 สั่งยุติดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรค และตัดสิทธิการเลือกตั้ง สอง วินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ให้ยกคำร้อง แต่ทำแบบนี้จะกระทบต่อสำนวนของพันธมิตรฯ แต่ก็อาจไปรอชี้ตอนหลังว่า ลงมติวาระ 1 เข้าข่ายมาตรา 68 ก็ได้ สาม วินิจฉัยว่าเข้ามาตรา 68 แต่ไม่ยุบพรรค แต่ตนว่าอันหลังเกิดได้ยาก เพราะข้อกฎหมายมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมเกิดจากพรรคการเมือง เว้นแต่ศาลมองว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล อาจไม่ต้องยุบ ตนมองว่าผลจะออกมาในแบบที่หนึ่งหรือสองมากกว่า



กำลังโหลดความคิดเห็น