xs
xsm
sm
md
lg

คำวินิจฉัยศาลฯ สารัตถะสำคัญที่สุดมีมาแล้ว 1 เดือนเต็ม !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

หลายคนคงจะรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยใจระทึก

ผมเองก็รอเช่นกัน

แต่อาจจะไม่ถึงกับระทึกเท่าไรนัก

เพราะเมื่อคิดดูดี ๆ สองสามตลบ ประกอบกับการอ่านข่าวย้อนหลังคำแถลงของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ครั้ง และคำแถลงของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในวันแรก ผมว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยประเด็นสำคัญที่สุดของคดีประวัติศาสตร์ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ก่อให้เกิดผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วร่างใหม่โดยองค์กรนอกรัฐธรรมนูญแล้วไม่กลับมาพิจารณาในรัฐสภาอีกว่าเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อมีคำสั่งรับคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสองจากประชาชนโดยตรงด้วยมติ 7 : 1 แล้วมีคำสั่งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าวันนั้นจะยังไม่ถึงขั้นเป็นคำวินิจฉัยก็ตาม แต่ก็ไม่มีทางจะพลิกเป็นอื่นเพราะเป็นมติเบื้องต้นไปแล้ว รออยู่แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการเท่านั้น

เพราะนั่นเป็นการวินิจฉัยเรื่องยากที่สุด และมีความหมายมากที่สุดด้วยเข่นกัน !

เพราะเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันในอำนาจตามรัฐธรรมนูญของท่านที่จะเข้ามาตรวจสอบกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยช่องทางตามมาตรา 68 วรรคสอง

ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีปัจจุบันอย่างไร บวกหรือลบกับฝ่ายไหน อย่างไร ก็ไม่ได้ตัดสิทธิที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อ ๆ ไป หรือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยส.ส.ร.หรือองค์กรใดที่อาจจะเกิดมีขึ้นในอนาคต หากมีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงตามมาตรา 68 วรรคสองว่ารัฐสภา ส.ส.ร. หรือองค์กรใดที่อาจจะเกิดมีขึ้นในอนาคตนั้น กระทำการขัดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง คือ...

"ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้"

ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงความว่า...

"...ตามรัฐธรรมนูญนี้"

ความดังกล่าวนี้ทางพรรคเพื่อไทยมักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับ 2550 ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และร่างฯแก้ไขมาตรา 291 นี้ก็ยังยอมแก้ไขเพิ่มติมโดยเขียนบังคับไว้ว่าห้ามแก้ไขหมวด 2 พระมหากษัตริย์

มันไม่น่าจะใช่แค่นั้น !

เพราะความในมาตรา 68 วรรคหนึ่งนี้ มีความต็ม ๆ ว่า "ล้มล้างการปกคองระบอบประชาธิปไตยันมีพระมหากษัตริย์รงเป็นประมุขตามรัฐรรมนูญนี้" ท่านเน้นตรงตอนท้ายว่า "...ตามรัฐรรมนูญนี้" จึงน่าจะต้องมีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไป ไม่เหมือนกับการแค่เขียนว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เฉย ๆ ซึ่งน่าจะมีความหมายในลักษณะทั่วไป

“การปกครองระบอบประชาธิปไตย” ย่อมมีได้หลายรูปแบบทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเราเองที่แม้จะเป็น “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามรัฐธรมนูญแต่ละฉบับ

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงน่าจะหมายความเป็นการเฉพาะเจาะจงแคบลงมา คือหมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "...ตามรัฐธรรมนูญนี้" คือตามรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2550

ซึ่งไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวด 2 พระมหากษัตริย์เท่านั้น

คือจะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการที่เป็นแก่นสารสารัตถะของรัฐธรรมนูญ 2550

หลักการทั้ง 8 ประการที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่ใน “คำปรารภ” ของรัฐธรรมนูญ 2550

หนังสือตัวบทรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับล่าสุดที่สำนักงานลขาธิการวุฒิสภาพิมพ์ล่าสุดได้ตีพิมพ์ไว้ชัดเจนสวยงามบนปกหลังแล้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขมาตรา 291 ไม่ว่าครั้งนี้ หรือคร้งหน้า หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการที่ว่านี้ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" ทั้งสิ้น ซึ่งผมค่อนข้างเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านน่าจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

หลักการทั้ง 8 ประการมีดังนี้...

ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศานาให้สถิตสถาพร

ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ

ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ

ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา

ประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม


ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8 !

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อ ๆ ไป ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป

เป็นต้นว่าหากแก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคสองว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 จึงถือว่าขัดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือถ้ามีการแก้ไขให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา และเปลี่ยนระบบศาลคู่เป็นระบบศาลเดี่ยว ก็จะมีผู้ยื่นว่าขัดหลักประการที่ 8 ศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องรับไว้วินิจฉัย ไม่ว่าผลการวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรก็ตาม

เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าคำวินิจฉัยทั้งคดีจะออกมาอย่างไร เมื่อไร แต่สารัตถะสำคัญที่สุดของคำวินิจฉัยคดีนี้ออกมาแล้วกว่า 1 เดือนเต็ม !
กำลังโหลดความคิดเห็น