xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยกคำปรารภ 8 ประการ รธน.ปี 50 ห้ามลบล้าง ชี้พวกแก้ ม.291 อ้างไม่แตะหมวดสถาบันทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ว.สรรหาชูหลักการ 8 ประการในคำปรารภ รธน.ปี 50 ชี้พวกศรีธนญชัยแก้ทั้งฉบับอ้างไม่แตะหมวดกษัตริย์ทำไม่ได้ เน้นย้ำมาตรา 68 มีคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” คือล้มล้างการปกครองตามที่ รธน.กำหนดไว้ อีกทั้งอำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย และศาล รธน.จะตรวจสอบการแก้ไขและพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลง

วันนี้ (4 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความและภาพลงในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ซึ่งได้อธิบายโดยสรุปว่า ความผิดฐานล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 ฝ่ายผู้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครอง โดยอ้างว่าห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และเขียนบังคับไว้ว่าห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่แค่นั้น เพราะหากอ่านข้อความในมาตรา 68 ที่ระบุว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” มีความหมายเฉพาะเจาะจง คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งการแก้ไขมาตรา 291 หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ทั้งสิ้น ซึ่งตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยศาลฯ ก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

โดยหลักการทั้ง 8 ประการ ประกอบด้วย ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ, ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร, ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ, ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ, ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน, ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม, ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา และประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม เสมือนหลักการที่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญวางไว้ ห้ามลบล้าง

นอกจากนี้ อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย ดังที่ตอนสำคัญในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าที่ 4 ว่า “ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน” ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไป ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป เช่น หากมีการแก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 หรือแก้ไขให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 8 และอาจจะประการที่ 3 ด้วย สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะเป็นองค์กรในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

สำหรับข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” มีดังต่อไปนี้

• • •

ความผิดฐาน “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 ฝ่ายผู้เสนอแก้ไขในลักษณะที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วโอนอำนาจจากรัฐสภาไปให้ส.ส.ร.มักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และร่างฯแก้ไขมาตรา 291 ก็ยอมแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเรียกร้องโดยเขียนบังคับไว้ว่าห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น!

ข้อความในมาตรา 68 วรรคนี้ต้องอ่านเต็มๆ ว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงประโยคท้ายที่ว่า “...ตามรัฐธรรมนูญนี้” !

การปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมมีได้หลายรูปแบบทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเราเองที่แม้จะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 68 จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจง คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้

หลักการทั้ง 8 ประการนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่ใน “คำปรารภ” ของรัฐธรรมนูญ 2550

หนังสือตัวบทรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับล่าสุดที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาพิมพ์ล่าสุด ได้ตีพิมพ์ไว้ชัดเจนสวยงามบนปกหลัง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขมาตรา 291 ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งหน้า หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการที่ว่านี้ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ทั้งสิ้น ซึ่งผมค่อนข้างเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยศาลฯ ก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

หลักการทั้ง 8 ประการที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายปกหลังหนังสือ เพื่อความชัดเจนขอถ่ายทอดมาอีกครั้ง...

ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร

ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ

ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ

ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา

ประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

หลักการทั้ง 8 ประการนี้เป็นเสมือนหลักการที่ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (หรือ “อำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญและจัดให้มีองค์การทางการเมือง” หรือ “อำนาจตั้งแผ่นดิน” หรือ “Pouvoir Constituant”) วางไว้ ห้ามลบล้าง

อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย ดังที่ตอนสำคัญในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าที่ 4 ว่า...

“...ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไป ศาลฯ จะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป

เป็นต้นว่า แก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 หรือแก้ไขให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 8 และอาจจะประการที่ 3 ด้วย

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ!

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ!!

หลักการ 8 ประการ ตามที่ปรากฎในคำปรารถของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น