xs
xsm
sm
md
lg

โทรโข่ง ปธ.สภา อ้างไม่ได้รื้อ รธน.ทั้งฉบับ แก้เพียง 2 มาตรา เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัฒนา เซ่งไพเราะ (แฟ้มภาพ)
โฆษกประธานสภา ยัน “ขุนค้อน” ไม่ใช้สิทธิคัดค้านตุลาการศาล รธน. แม้ระเบียบศาลเปิดช่อง พร้อมอ้างไม่ได้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับตามที่ถูกร้อง แก้เพียง 2 มาตรา เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.รื้อ รธน.ใหม่ โยนฝ่ายค้านก็ร่วมแก้ไขด้วย

นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายเปลี่ยนการปกครอง ตามมาตรา 68 หรือไม่ เปิดเผยว่า แนวทางการต่อสู้ในคดีดังกล่าวนายสมศักดิ์ ได้ให้หลักการว่าจะไม่ยื่นคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแม้ว่าในระเบียบของศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้คัดค้านตุลาการศาลที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกร้อง โดยในส่วนของประธานรัฐสภาจะชี้แจงในการดำเนินการที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามหน้าที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะการบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภาที่ต้องทำภายใน 15 วันภายหลังมีผู้เสนอร่างแก้ไขเข้ามา เพราะหากไม่ดำเนินการอาจถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 ได้

นายวัฒนากล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาของผู้ร้องที่มีการระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะที่ผ่านมารัฐสภาได้แก้ไขเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 136 และ 291 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และที่สำคัญไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรค 2 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรค 5 ระบุชัดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐจะกระทำมิได้

“ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.ประเทศก็ยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ ดังนั้น ถ้า ส.ส.ร.ไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เท่ากับว่าจะผิดรัฐธรรมนูญและเป็นกบฎทันที”

นายวัฒนากล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในข้อห่วงใยว่าการใช้ดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ตามร่างแก้ไขมาตรา 291/13 ที่อาจไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.ร.ได้ยกร่างเสร็จแล้วจะเข้าข่ายเปลี่ยนแปลงปกครองหรือไม่นั้น ตรงนี้นายสมศักดิ์ยืนยันในคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าจะไม่ใช้ดุลพินิจโดยลำพัง แต่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูประกอบ เช่น คณบดีคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศที่มีความสมัครใจ และข้าราชการประจำฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เป็นต้น

“ไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่ายค้านถึงได้มายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้ร่วมลงเรือลำเดียวกันมาตลอดตั้งแต่วาระที่ 1-2 รวมถึงการร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมตั้งแต่แรกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 95 ที่ต้องมี กมธ.จากทุกพรรคก็ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังได้ร่วมเสนอคำแปรญัตติ เท่ากับว่ากระบวนการจึงชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้นแล้ว” นายวัฒนากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น