xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ชี้พฤติกรรมล้มตุลาการ เข้าข่ายเจตนาล้างการปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
"อภิสิทธิ์" พร้อมเป็นพยานคดีแก้ รธน.ล้มล้างการปกครองหรือไม่ ชี้ ม.68 ไม่ได้บอกว่าการแก้ไข ขัด รธน.หรือไม่ แต่อยู่ที่มีขบวนการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ระบุถ้าบุคคลที่เกี่ยวข้องมีพฤติกรรมล้มล้างฝ่ายตุลาการยิ่งเป็นการยืนยันเจตนาว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

วันนี้(22 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการเป็นพยานกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ จึงไม่มีปัญหาหากนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ ซึ่งเป็นทนายของประธานรัฐสภาในกรณีนี้จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลโดยพร้อมให้ความจริงต่อศาล ซึ่งตนไม่ได้เป็นคู่กรณีในเรื่องนี้ ส่วนที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมยื่นคำร้องด้วยนั้นไม่ได้กระทำในนามพรรคแต่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยยังมีอีกสี่คำร้องจากสี่คณะที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาด้วย

"ผมอยากให้ดูบทความของนายแก้วสรร อติโพธิ เคยเขียนไว้ว่า กรณี มาตรา 68 ไม่ใช่บอกว่าตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรมนูญหรือไม่ แต่เป็นกรณีว่ามีขบวนการล้มล้างการปกครองหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีขบวนการล้มล้างการปคกรองหรือไม่ ก็ต้องดูที่พฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่ามีเป้าหมายแสดงเจตนาอย่างไร ผมจึงอยากเตือนผู้ที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการปลุกระดมในลักษณะล้มล้างฝ่ายตุลาการหรือศาล ยิ่งเป็นการยืนยันว่าเหมือนมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ขบวนการล้มล้างการปกครองไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูพฤติกรรมภาพรวมว่ามีกระบวนการล้มล้างหรือไม่ การเคลื่อนไหวนอกสภาที่มีการโจมตีตุลาการก็คงต้องประกอบกันว่าไปถึงจุดนั้นหรือไม่ ตนไม่ได้บอกว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่อธิบายว่า มาตรา 68 เป็นเรื่องการกระทำ ไม่ได้เจาะจงที่ตัวร่างแกไขรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากการยื่นตีความกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ตนไม่บังอาจที่จะไปเสนอว่าศาลควรทำอะไร เพราะเชื่อว่าศาลมีความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มกระบวนการไต่สวนนั้น ก็ไม่อยากให้มีการใช้มวลชนกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐบาลมั่นใจว่าไม่มีปัญหาก็ให้ผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจง ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเดินสายเปิดเวทีและมีการกล่าวโจมตีศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า ไม่ควรจะมีกระบวนการอย่างนี้และรัฐบาลมีหน้าที่ดูแล ไม่ให้กลุ่มคนไปข่มขู่คุกคามตุลาการ และตนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
กำลังโหลดความคิดเห็น