xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว”สั่งรับมือคำตัดสินศาล รธน.ศุกร์นี้ ไม่ถูกใจเคลื่อนพลหลัง 12 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ยื่นคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291

13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาแก้ รธน. หลายฝ่ายชี้ “ยกคำร้อง” ส่งผลกระทบการเมืองน้อยสุด ขณะที่ “ยุบพรรค” เป็นชนวนมวลชนเสื้อแดงต้านแน่ ชี้ครั้งนี้หาก “นายใหญ่” คุมความรุนแรงไม่อยู่เท่ากับเปิดช่องทหารปฏิวัติ เผยเพื่อไทยเตรียมสู้ 3 ระดับคือ “50-70-100” วัดความรุนแรงจากความเป็นธรรม ขณะที่ “ทักษิณ” อยากรอให้เลยวันที่ 12 สิงหาไปก่อน หวั่นระดมมวลชนช่วงนี้ก็ยิ่งเข้าข่ายล้มเบื้องสูง ขณะที่ฝ่ายมวลชนรักสถาบันเตรียมสู้ไม่ถอย หากรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ

นาทีนี้แวดวงการเมืองคงไม่มีใครไม่เฝ้ารอติดตามดูการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ว่าด้วยการห้ามกิจกรรมใดๆ ที่มีผลในการคุกคามและล้มล้างระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ โดยผู้ร้องคือพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ถูกร้องคือรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องคดีแก้รัฐธรรมนูญก็เข้ายื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วในวันที่ 11 กรกฎาคม 2555

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือการตัดสินชี้ชะตาการเมืองไทยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองแน่นอน เพียงแต่ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร และจะเกิดแรงกระเพื่อมจากฝ่ายที่ตกเป็นฝ่ายแพ้ที่รุนแรงเพียงใด เพราะอย่าลืมว่าข้อหานี้เป็นข้อหาหนัก เกี่ยวข้องเกี่ยวพันไปถึงการล้มล้างระบอบการปกครอง

หลายฝ่ายต่างวิเคราะห์กันแล้วว่า แนวทางการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาแค่ 3 แบบเท่านั้น คือ 1. พรรคเพื่อไทยผิดและจะต้องมีการยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี 2. ให้แก้รัฐธรรมนูญต่อไปได้ แต่แก้ได้เฉพาะบางส่วน และ 3. ศาลตัดสินยกคำร้อง

การตัดสินแต่ละแบบย่อมมีข้อดีข้อเสียต่างกัน และอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนับแต่วินาทีของการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 นี้?

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีต ส.ส.ร.ปี 2550 กล่าวว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่จะมีผลต่อเนื่องกับการเมืองไทยแน่นอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีหน้าที่ตัดสินตามกฎหมาย

ดังนั้น หากมีการตัดสินให้มีการยกคำร้อง ก็มองว่าจะไม่มีผลทางการเมืองมากนัก เพราะทุกฝ่ายที่ประกาศว่ายอมรับคำตัดสินของศาล ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการเดินหน้าต่อไป และความขัดแย้งจะไปปะทุในขั้นตอนของการรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีทั้งฝ่ายรับ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ดี เนื่องจากสังคมมีการตั้งข้อสงสัยอยู่แล้วว่า ส.ส.ร.ที่จะมีการตั้งขึ้นเป็น ส.ส.ร.ในรูปแบบการยึดอำนาจเผด็จการรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งในช่วงนั้นจะเกิดปัญหาความขัดแย้งได้

ทั้งนี้ สถานการณ์จะไม่หนักเท่ากับตัดสินให้มีการยุบพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าจะมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายมวลชนที่ไม่พอใจแน่นอน เพราะทุกวันนี้ฝ่ายนี้ยังมีท่าทีข่มขู่ศาลตลอดเวลาอยู่แล้ว

“การยกคำร้องเพราะข้อกฎหมายเป็นสิ่งที่รับได้ แต่ศาลต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น แต่ถ้ายกคำร้องโดยมองการเมืองเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็จะเป็นการย้อนกลับไปทำลายข้อกฎหมายเอง”
 
 

มือกม.เพื่อไทยเชื่อ
“ศาลต้องยกคำร้อง”
 

ในฝ่ายผู้ถูกร้อง นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล หนึ่งในมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นในการวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็นคือ 1. เรื่องของอำนาจฟ้อง 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ 4. จะมีการยุบพรรคหรือไม่

โดยส่วนตัวแล้ว นายวิชิต มองว่า ประเด็นสำคัญมีเพียงประเด็นเดียวคือเรื่องอำนาจฟ้อง หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นอื่นๆ ก็ไม่ต้องมีการพิจารณาอีก แต่ถ้าบอกว่ามีอำนาจฟ้อง คำตอบที่อยากได้คือมีเหตุผลอะไรถึงตัดสินขัดกับคดี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่เป็นเรื่องลักษณะเดียวกัน แต่มีการตัดสินให้มีการฟ้องผ่านอัยการ ดังนั้นคงจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่าความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญทำไมถึงขัดแย้งกับความเห็นของอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้

“ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเจอปัญหาใหญ่คือ ถ้ามีการวินิจฉัยลับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจฟ้อง ต่อไปประชาชนจะไปร้องกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมื่นๆ คดี แล้วศาลจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงเห็นว่าหากตัดสินโดยยกคำร้องจะดีที่สุด”

หากไม่ยกคำร้อง แล้วมาพิจารณาประเด็นที่ 2 คือ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือบางมาตรา ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวข้องไปถึงประเด็นที่ 3 และ 4 ทันที คือต้องพิจารณาว่าถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ และจะยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งคำตอบมีได้ 2 มุม คือ ถ้าตัดสินว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลก็ต้องมีคำตอบว่าจะต้องห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป และอีกคำตอบหากตัดสินว่าไม่ล้มล้างการปกครอง ก็ต้องยกคำร้อง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 68 ทันที

ซ้ำยังยืนยันว่า การที่ผู้ร้องมีการโยงความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทย กับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นกระบวนการล้มล้างระบอบการปกครองนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากมองว่ากระบวนการของภาคประชาชนนั้น มีสิทธิเสรีที่จะสนับสนุนอุดมการณ์ของพรรคการเมืองที่ตรงกับอุดมการณ์ตัวเองได้ 
 
  

ย้ำไม่มี “พรรคทักษิณ”
 

โดย นายวิชิต มั่นใจว่า โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคเพื่อไทยนั้นมีน้อยมากจนวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าหากมีคำตัดสินให้ยุบพรรคจริง การมีพรรคสำรองก็เป็นเรื่องปกติ แต่ยืนยันว่าไม่มีการเตรียมการที่จะตั้งพรรคที่ชื่อ พรรคทักษิณ อย่างที่มีกระแส

เช่นเดียวกับ นายสถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา ที่มองว่า การรับคำร้องก็ควรจะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด เพราะจะมีเหตุมีผล และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนก็จะไม่เป็นจำเลยสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนในขณะนี้

ดังนั้น เชื่อว่าการตัดสินยกคำร้องจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนเอง เพราะมองว่าการตัดสินยุบพรรคแม้จะมีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่กระทบกับการทำงานของรัฐบาล เพราะตัวนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค แต่มวลชนคนเสื้อแดงจะถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นศัตรู

“แม้จะยุบพรรคเพื่อไทยได้ในทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็ได้รับการเลือกตั้ง ตรงนี้เป็นประเด็นมากว่า ถึงแม้จะยุบพรรคเพื่อไทยทิ้งไป แต่เขาก็กลับมาได้ด้วยการชนะเลือกตั้ง การตัดสินยุบพรรคครั้งนี้จึงไม่มีประโยชน์ มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศัตรูกับคนเสื้อแดงไปเท่านั้น”
 
 

แฉ“ทักษิณ”สั่งเคลื่อน
หลัง 12 สิงหา
 

ในด้านมวลชน นายอวยชัย วะทา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า เกมการเมืองขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะประเมินได้แล้วว่า หากทำอะไรรุนแรงจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเสียเอง เนื่องจากประเมินผิดพลาดไปแล้วครั้งหนึ่งตอนที่ดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ….เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และถูกต่อต้านอย่างหนักจากมวลชนที่รับไม่ได้กับการช่วยคนเพียงคนเดียว กับการที่ต้องทำลายระบบยุติธรรมของไทยอย่างมีพลัง เพราะฉะนั้นการจะนำมวลชนออกมาสู้ศึกกับการตัดสินคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ กระแสความเคลื่อนไหวของแกนนำมวลชนคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสานในขณะนี้ทราบมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีคำสั่งไม่ให้เคลื่อนไหวมวลชน เพราะถ้าเคลื่อนไหวในเวลานี้จะเพลี่ยงพล้ำมากกว่าได้เปรียบ เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาใกล้ถึงวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสำคัญ และจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกมองว่าเป็นผู้ต้องการล้มล้างสถาบัน ซึ่งเป็นข้อเสียมากกว่า

กระนั้นมองว่าแม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะยังไม่ได้มีคำสั่งให้มีการเคลื่อนไหวมวลชน เหมือนครั้งที่ระดมพลเพื่อหนุนร่างปรองดอง ป้องกันการทำปฏิวัติรัฐประหารที่มีการเกณฑ์คนในจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 5,000-10,000 คนไปชุมนุมที่เขาใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าแกนนำเสื้อแดงโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ก็จะมีการนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวก่อนคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่องทางที่ควรเคลื่อนไหว ซึ่งสายนี้แม้ประกาศว่าจะมีการระดมพลให้ได้ประมาณ 3-4 แสนคน แต่เอาเข้าจริงน่าจะมีการระดมพลได้ไม่เกิน 5 หมื่นคน ซึ่งอาจจะมีการสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นมาได้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถคุมอยู่ได้ ครั้งนี้ก็จะเกิดความเสียหายสะท้อนกลับไปที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ

“พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้ถอยเพื่อรอเคลื่อนไหวหลังวันที่ 12 สิงหาคม เพราะถ้าเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ จะยิ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างสถาบัน ดังนั้นถ้าเสื้อแดงออกมาในเวลานี้ถือว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณมากกว่า”
 


จับตาสหายเก่า
หนุน“ดาว์พงษ์”ปฏิวัติ


ทั้งนี้ ถ้ามีการสร้างความรุนแรงเกิดขึ้น อย่าลืมว่า แรงเมื่อไร ทหารก็จะมีวิธีการควบคุมสถานการณ์ โดยคนที่ต้องจับตามองที่สุดคือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตเสนาธิการทหารบก ซึ่งเคยเป็นข่าวถูกพาดพิงมาแล้วครั้งหนึ่งจากฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดง คือ ขวัญชัย ไพรพนา ว่าจะมีการทำการปฏิวัติ

ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ในเวลานี้ ถือว่าเป็นมันสมองที่สำคัญของกองทัพ มีข้อมูลทุกด้าน โดยเฉพาะเป็นคนที่เข้าใจพื้นที่ในภาคอีสาน รู้สภาพนักการเมืองท้องที่ รู้สภาพมวลชน และเป็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ที่เก่ง คอยหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในกองทัพมาก เนื่องจากได้พิสูจน์ตัวเองจากการทำงานให้ ศอฉ.ในช่วงที่ผ่านมา

“ในส่วนกลางมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีพลัง แต่ในภาคอีสาน ต้องจับตาดูกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเพื่อประชาชนซึ่งเป็นสหายเก่า และนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งคน 2 กลุ่มนี้สนับสนุน พล.อ.ดาว์พงษ์ แสดงเจตนาเคลื่อนไหวคุ้มครองสถาบัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยฯ และนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญมากที่ พ.ต.ท.ทักษิณอย่ามองข้าม”

ทั้งนี้ นายอวยชัยเปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวระดมพลในพื้นที่ของคนเสื้อแดงยังไม่มีในลักษณะคำสั่งมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีเพียงการเคลื่อนไหวของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ ส.ส.เก่า ที่เดินสายเปิดเวทีเคลื่อนไหว โดยอาศัยการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงนี้ ในการเปิดเวทีอภิปราย และรอคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ หลังวันที่ 12 สิงหาคมไปแล้วเท่านั้น
 

“50-70-100”
เพื่อไทยเตรียมเคลื่อนไหว 3 ระดับ



ส่วน นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้ยุบพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญยังมีอุดมการณ์ในการทำภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้ไว้ คือให้ความเป็นธรรมต่อข้อขัดแย้งทางการเมือง

“ถ้าศาลตัดสินยุบพรรคก็เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะถ้าให้ความเป็นธรรมจะต้องมีช่องทางการวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์ของชาติบ้านเมืองที่ต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เพื่อร่วมแรงฟันฝ่าปัญหาทางเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยเจ็บช้ำมาพอควร ผมมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ซึมซับกับสถานการณ์พวกนี้มาอย่างเข้าถึง ส่วนการชุมนุมของพี่น้องคนเสื้อแดงผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเขาก็ทำเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งมีขอบเขตในการเคลื่อนไหวกันอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้แก้รัฐธรรมนูญแค่บางมาตรา ตนเชื่อว่าพี่น้องเสื้อแดงจะต้องเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมือง เพราะคนเสื้อแดงมีอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันต่อกระแสความไม่เป็นธรรมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้มีพัฒนาการในการทำความเข้าใจว่าหากแก้ทั้งหมดไม่ได้ ก็ยังพอมีร่องรอยความเป็นธรรมอยู่บ้าง

“การให้แก้บางเรื่องบางประเด็น ไม่แก้ทั้งฉบับก็ดี หรือการให้รักษาหมวดใดมาตราใดไว้ ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องให้เหตุการณ์พัฒนาไป เพราะจะแก้แค่ไหนอย่างไร เราก็ไม่มีอำนาจไปทำ คนไปทำคือ ส.ส.ร. ซึ่งการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงในวันที่ศาลวินิจฉัยคดี เชื่อว่าฝ่ายวิชาการหรือฝ่ายสมองได้เตรียมการไว้แล้วว่า ถ้าคำตัดสินออกมาเป็นธรรม 100% จะเคลื่อนไหวอย่างไร เป็นธรรม 50% จะเคลื่อนไหวอย่างไร เป็นธรรม 70% จะทำอย่างไรต่อไป” นายไพจิตกล่าว

 
ปชป.ชี้มวลชนต้านยกคำร้อง
รับไม่ได้ล้มการปกครอง


ขณะที่ฝ่ายผู้ร้อง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มองว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบไหนก็คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนของมวลชนที่มีความคิดเห็นต่าง และไม่คิดว่าผลการตัดสินจะออกมาเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง แม้จะมีองค์คณะตุลาการฯ เหลือเพียง 8 คนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อเกิดการพิจารณาร่วมกัน ก็จะต้องหาทางสรุปให้ออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ตามข้อเท็จจริง และข้อกำหนดตามกฎหมายที่สามารถอธิบายได้
กรณีที่เห็นว่ามีความผิดจริง ส่งผลให้เกิดการยุบพรรคเพื่อไทย ก็อาจทำให้คนเสื้อแดงจะออกมาขับเคลื่อนจำนวนกว่า 4 แสนคน ตามกระแสที่ออกมา ทั้งนี้ ความรุนแรงจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แกนนำจะมีส่วนในการปลุกให้เกิดความรุนแรงได้

ส่วนกรณีคำสั่งยกคำร้อง ประชาชนบางส่วนที่เห็นว่าเป็นการละเมิด และมีทิศทางไปในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะเกิดการเคลื่อนตัว พลังเงียบในประเทศที่มีจำนวนมหาศาล จะทวีความรุนแรงยิ่งกว่า



กำลังโหลดความคิดเห็น