xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตุลาการแผลงฤทธิ์ หยุด“ระบอบทักษิณ” ปกป้อง “สถาบัน”-พิทักษ์ “รธน.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ระบอบทักษิณโมโหโกรธากันถึงขีดสุดทีเดียวสำหรับการที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นำโดย “นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” รับตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีผลทำให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สภาผู้แทนราษฎรชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ตามกำหนดจะต้องพิจารณาในวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ออกไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

เพราะนั่นหมายความว่า แผนการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2550 และนำรัฐธรรมนูญแห่งรัฐไทยใหม่ที่ต้องการรวบอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดใน 3 เสาหลักของประชาธิปไตยไทยคือ “อำนาจตุลาการ” ให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีอันต้องล้มไปอย่างไม่เป็นท่า

เพราะนั่นหมายความว่า แผนการทำลายฝ่ายตุลาการที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาหรือเป็นศัตรูตัวฉกาจของประมุขรัฐไทยใหม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ระบบพวกมากลากไปมีอันต้องสะดุดหยุดลงอย่างไม่คาดฝันมาก่อน

ยิ่งตัว “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ที่หมายมั่นปั้นมือและวาดหวังกับการรื้อรัฐธรรมนูญครั้งนี้ค่อนข้างสูงด้วยแล้ว ถึงกับอดรนทนไม่ไหวต้องโฟนอินอย่างกราดเกรี้ยวในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงปั่นหัวคนเสื้อแดงว่า ขบวนการโค่นอำนาจประชาชนได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ต้องการโค่นอำนาจประชาชนอย่างที่ นช.ทักษิณกล่าวอ้างจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ถ้อยคำบิดเบือนเพื่อหลอกล่อไพร่แดงให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเองต่อไปเหมือนเช่นทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะในความเป็นจริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญทรงสิทธิและทรงอำนาจดังกล่าวทุกประการ ไม่เช่นนั้นแล้วคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์คงไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 1อย่างแน่นอน

หรือสรุปสั้นๆ ก็คือ ถ้าไม่มีอำนาจทางกฎหมายจริง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าให้ตัวเองต้องเฉียดคุกเฉียดตะราง เพราะตัวอย่างการประพฤติมิชอบกรณี “3 หนา 5 ห่วง” ก็มีให้เห็นแล้ว

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้ นช.ทักษิณและระบอบทักษิณต้องเผชิญกับการลงทัณฑ์จากฝ่ายตุลาการอันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ การยุบพรรคไทยรักไทย ตามต่อด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งส่งผลทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 ถูกตัดสิทธิมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่ตัว นช.ทักษิณเองก็ต้องเจอกับคำพิพากษาที่เผยธาตุแท้ของเขาออกมาอย่างน้อยก็ 2 ครั้งใหญ่เช่นกันนั่นคือ คำพิพากษาจำคุกคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาเป็นเวลา 2ปี ซึ่งส่งผลทำให้เขาต้องสะบัดก้นหนีออกไปเป็นสัมภเวสีเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ และคำพิพากษายึดทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบจากการบริหารราชการแผ่นดิน 4.6หมื่นล้านบาทจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น ฝ่ายตุลาการคือสิ่งที่ นช.ทักษิณต้องการเปลี่ยนแปลงให้เหมือนกับที่ประสบความสำเร็จกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะบ่อนทำลายและลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นศาลสถิตยุติธรรมตามปกติ ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ทว่า วิธีการที่จะจัดการกับฝ่ายตุลาการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็มีวิธีการเดียวก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนดังที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” สว.สรรหาให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “การรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ”

ด้วยเหตุดังกล่าวจงอย่าแปลกใจที่ นช.ทักษิณจะโมโหเป็นฟืนเป็นไฟที่ไม่สามารถ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ได้ดั่งใจปรารถนา พร้อมสั่งการให้ไพร่แดงเคลื่อนทัพออกมาประจันหน้าอย่างมิเกรงกลัว

กล่าวสำหรับกรณีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นผลมาจากการที่บุคคลและคณะบุคคล 5 คณะอันประกอบด้วย หนึ่ง-พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,สอง-นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, สาม-นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, สี่-นายวรินทร์ เทียมจรัส และห้า-นายบวร ยสินทร และคณะ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 5 คำร้อง เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา , นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ ใน 5 คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น มี 4 คำร้องที่มีการยื่นเข้ามาเมื่อวันพุธที่ 30 พ.ค. ส่วนอีก 1 คำร้องเข้ามาในวันที่ 31 พ.ค. ทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนจึงได้สั่งให้มีการนัดประชุมวาระพิเศษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด แม้โดยปกติการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นั้นองค์คณะที่พิจารณามีเพียงตุลาการฯ 3 คนก็สามารถทำได้แล้ว แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็ยังขาดนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เพียงคนเดียวที่ขอลาประชุม ทำให้องค์คณะในการรับคำร้องครั้งนี้มีทั้งสิ้น 8 คน โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีการร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้จากบุคคลที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าว ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยคือนายชัช ชลวร เห็นว่า รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ทำให้ระบอบทักษิณระดมนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญออกมาตอบโต้อย่างขนานใหญ่ โดยประเด็นทางกฎหมายที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากระบอบทักษิณมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ

หนึ่ง-บุคคลและคณะบุคคลทั้ง 5 คณะมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องเพราะระบอบทักษิณ ทั้งคณะนิติราษฎร์ โฆษกเสด็จพี่ ฯลฯ อ้างเอาไว้เป็นทิศทางเดียวกันว่า มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญที่จะยื่นและรับคำร้องที่ประชาชนยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ผู้ร้องจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง

สอง-ศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้รัฐสภาประชุมพิจารณารัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำถ้อยแถลงของศาลรัฐธรรมนูญออกมาพิเคราะห์ทีละข้อก็จะพบคำตอบที่ชัดเจนว่า สามารถทำได้

กล่าวสำหรับอำนาจในการรับคำวินิจฉัยตามมาตรา 68 นั้น นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า มาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 1. เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะยื่นคำร้องว่าหมายถึง “ผู้ที่ทราบการกระทำ” ดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย แต่การยื่นตามมาตรา 212 ผู้ที่จะยื่นต้องเป็น “ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ”ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และต้องยื่นผ่านองค์กรอิสระ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นลักษณะให้อำนาจศาลในเชิงป้องกัน ไม่ใช่การแก้ไข เพราะถ้าแก้ไขการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากมีการดำเนินการไปแล้วและจะให้ศาลฯ มาแก้ไขมันก็ไม่ทัน ดังนั้นการพิจารณาของศาลฯ จึงจะดูว่าการยกร่างต่อไปในอนาคต สิ่งที่จะยกร่างเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังดำเนินการไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ แล้วมีการดำเนินการยกร่างต่อไปเป็นรายมาตรา ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าถึงเวลานั้น มีผู้เห็นว่าเนื้อหารายมาตรามีลักษณะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอีกไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นคนละกระบวนการกัน และทั้ง 5 คำร้อง แม้จะร้องถึงการกระทำของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะให้ศาลฯ วินิจฉัยยุบพรรค”

ขณะที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้อง กรณีขอให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 นั้น ไม่ใช่เพราะมีเจตนาที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริง หากไม่จริง ศาลก็ยกคำร้อง ทั้งนี้ การรับพิจารณาคำร้อง ไม่ถือว่าศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ จึงควรมองในทางบวกว่า เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงได้อย่างไรก็ตาม

“แม้ขณะนี้ยังไม่มีการยกร่างกันเป็นรายมาตรา และถ้าจะอ้างว่าผู้ที่ยกร่างก็เป็น ส.ส.ร.ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือพรรคการเมือง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่าง จึงถือได้ว่าเป็นอำนาจสุดท้ายในการดำเนินการ หาก ส.ส.ร.ทำผิดหลักการขึ้นมาจะทำกันอย่างไร ดังนั้น ศาลจึงอยากที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้มีความคิดในเรื่องรูปแบบของการปกครองอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าจะไม่แตะสถาบัน แต่ทำไมถึงไม่ยกเว้นในหมวด 1 หมวด 2 ไว้ อย่างนี้มันต้องชัดเจนและต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนและผู้ที่ร้องมา เชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากจะรับรู้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่จะมาชี้แจงในชั้นไต่สวนก็เหมือนกับการให้สัญญาประชาคมกับสังคมและผู้ร้องว่า ถ้าหาก ส.ส.ร.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงในชั้นไต่สวน คนเหล่านี้ก็จะไม่ยกมือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเขาแถลงอย่างหนึ่ง แต่พอถึงเวลากลับทำอีกอย่างหนึ่ง ประชาชนก็จะได้รู้ว่าใครโกหก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เลยเถิด เราต้องตรวจสอบตรงนี้ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการถ่วงดุล”ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผล

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่ความคิดจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่นักกฎหมายชั้นครูหลายต่อหลายท่านก็มีความเห็นไปในทำนองเดียงกัน เหมือนดังเช่นที่ปรมาจารย์ทางกฎหมายอย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้ไขข้อข้องใจเอาไว้ในเว็บไซต์ส่วนตัว http://www.meechaithailand.com ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรคห้า”

แปลความชัดๆ ก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตีความความขัดแย้งอันเกิดจากรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะนี่คือระบบนิติธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยตามบทบัญบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นต่อกรณีปัญหาดังกล่าวโดยยกเหตุการณ์จริงขึ้นมาเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจว่า ระบอบการปกครองที่ประชาชนไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสูงเช่นฝรั่งเศสนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจน้อย กล่าวคือแต่เดิมมามีอำนาจเฉพาะการตรวจสอบว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่านั้น หากประกาศเป็นกฎหมายไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบอีกต่อไป ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2553 จึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ โดยรับรองให้บุคคลที่มีข้อพิพาทในศาล และเห็นว่าหากกฎหมายใดที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้นเสียก่อนได้

แต่ในระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมืองมากนัก อย่างเช่นในเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของการมีศาลรัฐธรรมนูญนั้น เคยเผชิญชะตากรรมที่ฮิตเลอร์เคยใช้สภาลงมติเสียงข้างมาก และลงประชามติ สถาปนาอำนาจให้ฮิตเลอร์ รวบอำนาจอธิปไตยมาเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายนิติบัญญัติและประธานฝ่ายตุลาการมาแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นจึงจัดให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมีอำนาจกว้างขวาง คือพิจารณาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะผ่านสภามาแล้วหรือไม่ แถมยังมีอำนาจปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญทั้งปวงอีกด้วย

“ธรรมเนียม ในบางประเทศ ศาลก็ค่อย ๆ ดึงอำนาจมาไว้ในมือมากขึ้นเรื่อย เช่นในสหรัฐอเมริกานั้น เดิมศาลจะแยกเรื่องการเมืองกับเรื่องกฎหมายออกจากกัน และในเรื่องการเมืองศาลจะพิพากษามาตลอดว่าเป็นอำนาจเฉพาะของฝ่ายการเมือง เช่นรัฐบาลหรือสภา ศาลจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัย แต่ครั้นฝ่ายการเมืองมีแนวโน้มจะลุแก่อำนาจมากขึ้น ศาลก็จะออกมาวางกรอบเป็นคราว ๆ ไปโดย เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยประธานาธิบดีบุชซึ่งพยายามจะรวบอำนาจการจัดการกับผู้ ก่อการร้ายไว้ในมือของฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ถึงขนาดให้รัฐสภาออกกฎหมายจำกัดอำนาจศาลในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้ก่อการ ร้าย ศาลสูงของอเมริกันก็ต้องออกมาวางกรอบเสียใหม่ โดยชี้ขาดว่า กฎหมายเช่นนั้นก้าวก่ายอำนาจตุลาการ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยชี้ให้เห็นว่าฝ่ายบริหารแม้จะมีอำนาจในเรื่องการเมืองก็จริง แต่อำนาจการเมืองนั้นก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และผู้ที่ชี้ขาดว่ากฎหมายมีว่าอย่างไรคือตุลาการเท่านั้น หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือฝ่ายการเมืองมีอำนาจแค่ไหน ย่อมเป็นไปตามกฎหมายซึ่งศาลเป็นผู้ชี้ขาดนั่นเอง”

ขณะที่ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แสดงความคิดเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบไว้พิจารณา แต่คนเสื้อแดงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้ผ่านอัยการสูงสุดนั้น ศาลรัฐธรรมนูญคงพิจารณาแล้วว่า ที่อัยการสูงสุดยังมีคำร้องอีกมากที่ยังไม่ได้มีการพิจารณา และมีแต่เรื่องร้องเรียนดองอยู่ มองได้อย่างชัดเจนว่า อัยการสูงสุดไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งหากให้อัยการสูงสุดดำเนินการก็จะล่าช้าได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจ

กระนั้นก็ดี เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงดูเหมือนจะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เนื่องเพราะพวกเขามีธงอยู่ในใจแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าวสังคมจึงได้เห็นคำสั่งให้กองกำลังเสื้อแดงออกปฏิบัติการ และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ที่สุดแล้ว “ขุนค้อนปลอม-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” คงจะหักดิบเอาตามคำยุของนายจาตุรต์ ฉายแสง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์แห่งคณะนิติราษฎร์ รวมทั้งนักกฎหมายของระบอบทักษิณด้วยการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 อย่างแน่นอน

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าขุนค้อนปลอมยังคงดึงดัน ถ้าพรรคเพื่อไทยยังคงดึงดัน และถ้ารัฐบาลยังคงดึงดัน การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทลงโทษตามกฎหมายหรือไม่

คำตอบก็คือ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งก็ต้องผูกพันองค์กร และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม ระบุว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการเนื่องจากเห็นว่า มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางล้มล้างได้

ถึงตรงนี้ คำถามที่ผู้คนในระบอบทักษิณจะต้องอธิบายมีอยู่ว่า...

ถ้า นช.ทักษิณไม่มีวาระซ่อนเร้นจริง

ถ้า นช.ทักษิณบริสุทธิ์ใจจริง และไม่ต้องการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจริง

ทำไมถึงจะต้องกลัวกับอีแค่การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร บางทีอาจจะ วินิจฉัยเข้าทาง นช.ทักษิณก็ได้

ที่สำคัญคือการชะลอการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร ยกเว้นแต่จะ นช.ทักษิณจะมีธงเอาไว้ในใจล่วงหน้า นั่นก็คือ การฉวยโอกาสเข้าไปแทรกแซงอำนาจของฝ่ายตุลาการ

“จรัส สุวรรณมาลา” อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิ้งท้ายความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า....

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในหลายมาตรา ไม่แน่ใจว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบตามมาตรา 68 หรือไม่ แต่ที่เห็นได้ชัดเป็นมาตรา 291 ที่เป็นการกระทำที่ผิดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดเจน เพราะมาตราดังกล่าวเปิดให้มีการแก้ไข แต่กลับเป็นการยกร่างฉบับใหม่ ซึ่งถือว่าผิดเจตนารมณ์ชัดเจน”

“การที่นายจตุพรหรือคนเสื้อแดงระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการภิวัฒน์นั้น มองว่าทุกครั้งที่ศาลมีคำตัดสินไม่ตรงใจ หรือไม่เป็นไปตามที่คนเสื้อแดงต้องการ ก็มักจะมีถ้อยคำเหล่านี้ออกมาโจมตีศาลเสมอ ไมว่าจะเป็นสองมาตรฐานหรือตุลาการภิวัฒน์ ทั้งๆ ที่การตีความกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยตรงอยู่แล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น