“คมสัน” ชี้แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยเผด็จการรัฐสภาที่ไร้เหตุผล ระบุเข้าข่ายขัดมาตรา 68 แต่ติดตรงที่อัยการสูงสุดคงไม่กล้าทำหน้าที่ฟ้อง ด้าน “พิภพ” เผยพันธมิตรฯ รอดูความเข้าใจประเด็นปัญหาของมวลชนก่อนว่าพร้อมเคลื่อนไหวเมื่อไหร่ พร้อมเตือนอย่ามัวเพ่งมาแต่ที่ประเด็นนี้ เพราะอีกด้านนายทุนนักการเมืองกำลังกินรวบประเทศอย่างไม่หยุดหย่อน
วันที่ 24 ก.พ. เมื่อเวลา 20.30 น. นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
โดย นายคมสันกล่าวว่า ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอะไรบ้าง ในเชิงองค์ประกอบของการปฏิรูปประเทศ สำคัญ คือ 1. ความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญและการจัดโครงสร้างของรัฐ 2. ประชาชนต้องเห็นพ้องยอมรับ มีส่วนร่วมในการปฏิรูป ทีนี้ถ้าถามว่ากระบวนการ ส.ส.ร.ที่กำลังวางอยู่ ไม่ตอบสนองทั้ง 2 อย่าง ตอบแต่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่มีเป็นช่วงๆ เพราะตอนนี้ประชาชนไม่มีการล่วงรู้ถึงประเด็นเลย ส่วนที่ให้มีนักวิชาการ 22 คน ร่วมใน ส.ส.ร. แต่ก็ผ่านการเลือกเข้ามา จะเชี่ยวชาญจริงหรือ เพราะเลือกกันเอง นักวิชาการที่ได้มาอาจไม่ได้เชี่ยวชาญ ตนกลัวจะไม่ได้ใครเลยที่เชี่ยวชาญ
ในส่วนของ ส.ส.ร. 77 คน มาจาก 77 จังหวัด มาจากการเลือกตั้ง พูดได้เลยว่าผู้เชี่ยวชาญไม่มีเลย ฉะนั้นการจัดโครงสร้างการปฏิรูปเพื่อประโยชน์สูงสุดมันไม่เกิดแน่นอน
นายคมสันกล่าวอีกว่า เราไม่เห็นเหตุผลในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีแต่การอ้างว่ามาจากรัฐประหาร และอ้าง 15 ล้านเสียง และอีกความคิดของนายอุกฤษ ที่บอกว่าประชาชนถูกบังคับให้ไปลงประชามติ ไม่น่าเชื่อจะเป็นวาทกรรมของผู้หลักผู้หใญ่ เพราะใครจะมีปัญญาไปบังคับคน 14 ล้านเสียงได้ ถ้าทำได้เขาก็สามารถบังคับ 15 ล้านเสียง ไม่ให้เลือกพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน
รัฐธรรมนูญ 50 เป็นอุปสรรคต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มทุนด้วย ทำให้ไม่สามารถขยายตัวหากินได้อย่างอิสระ นั่นคือมาตรา 190 ต้องยอมรับปัจจุบันทุนท้องถิ่น ทุนชาติ และทุนข้ามชาติ ร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์ สุดท้ายทรัพยากรถูกขนออกนอกประเทศหมด ตรงนี้ถูกสกัดด้วยมาตรา 190 เพราะหลักการไม่ใช่ห้ามทำ แต่การนำสนธิสัญญาเข้าสู่สภา ประชาชนจะได้รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง
อีกเรื่องคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ห้ามแปรรูปโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตรงนี้ทำให้ทุนหากินไม่สะดวก รัฐบาลต้องการปลดล็อก 2-3 เรื่องนี้ก่อน
สิ่งที่ตามมาคือเอื้อ พ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งที่เป็นปัญหาปัจจุบัน คือ มาตรา 102 (7) ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร ส.ส. ถึงแม้จะนิรโทษก็ยังติดมาตรานี้ และติดตัวไปตลอดชีวิต ต้องรอดูว่าจะหายไปหรือไม่ในอนาคต หรือถ้าไม่หายแต่อาจเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมา
นายคมสันยังกล่าวอีกว่า ถ้ามองโดยหลักการประชาธิปไตย การใช้เสียงข้างมากต้องอุดมไปด้วยเหตุผล ฉะนั้นประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ต้องฟังคนอื่นก่อน ไม่ใช่ใช้กำลังไปบังคับใคร อันนี้เขาเรียกว่าใช้อำนาจเถื่อนโดยเสียงข้างมาก
การทำรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ใช้เสียงข้างมากโดยหาเหตุผลไม่ได้ ถือเป็นเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมือง ซึ่งทั่วโลกไม่มีใครยอมรับ เพราะบทเรียนเคยมีมาแล้วสมัยฮิตเลอร์ ซึ่งประเทศไทยก็กำลังจะนำไปสู่ระบอบนั้น ถ้าเดินแบบนี้เห็นได้ชัด มันคือการล้มล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยกระบวนการเผด็จการที่ไม่มีเหตุผล กรณีนี้สามารถไปสู่การวินิจฉัยได้ แต่ก็ไม่มั่นใจอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยมาตรา 68 ว่าจะกล้าทำหรือเปล่า
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิด ตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว)
ด้าน นายพิภพ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯว่า ปัจจัยแรกต้องฟังเสียงแกนนำต่างจังหวัด และความพร้อมทางความคิดของคนในสังคมว่าคนในสังคมเห็นประเด็นปัญหามากขนาดไหน เพราะประเด็นมันไม่ชัดเท่าการสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และขบวนการล้มเจ้า แต่อันนี้มันซ่อนการล้มเจ้า และช่วยทักษิณเอาไว้ คนอาจขอรอดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก่อน
เราต้องดูความเข้าใจในเนื้อหาสาระของการต่อสู้ว่าอยู่ในระดับไหน พร้อมที่จะรวมตัวกันจัดการรัฐบาลสามานย์ได้หรือยัง วันนี้จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูล ใช้การต่อสู้ทางความคิด แต่ตนไม่ได้ปิดกั้นวันที่ 10 มี.ค. สำหรับพันธมิตรฯที่จะนำความคิดอะไรมาแลกเปลี่ยนในที่ประชุมใหญ่
นายพิภพกล่าวด้วยว่า ตอนนี้พวกเรากำลังวุ่นวายกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังคงทำธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญก็ต่อสู้ไป แต่อย่าลืมว่ากลุ่มทุนนักการเมือง กำลังทำงานกินรวบประเทศไทย