xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ 112 สับขาหลอก ก่อนติดเครื่องรื้อ รธน.เพื่อ“แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนเสื้อแดงยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กระบวนการล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ได้เริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ(ยกเว้นพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะเสนอร่างของตัวเองต่างหากในสัปดาห์ถัดไป)ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช.นำรายชื่อประชาชน 60,000 รายชื่อเสนอร่างไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อประธานรัฐสภา ในวันเดียวกัน

ทั้งสองร่างมีความเหมือนกันตรงที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็มีความต่างกันตรงที่จำนวนและที่มาของ ส.ส.ร.โดยร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ให้มี ส.ส.ร. 99 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน(จังหวัดละ 1 คน) และมาจากการสรรหาของรัฐสภาอีก 22 คน
ส่วนร่างของคนเสื้อแดงนั้น ให้มี ส.ส.ร.100 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยคิดตามสัดส่วนประชากร 650,000 คน ต่อ ส.ส.ร. 1 คน
แต่ไม่ว่าจะเป็นร่างไหน ทั้งสองร่างนี้ ล้วนมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ตลอดจน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พยายามพูดซ้ำไปซ้ำมาตลอดว่า เป็นมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะได้รับรองการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย
คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ต้องการยกเลิก มาตรา 309 ก็เพราะเป็นมาตราที่รับรองการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เอาไว้

ทั้งนี้ เพราะผลงานสำคัญของ คตส.คือการทำสำนวนคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล จนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไปแล้วหลายคดี อาทิ คดีการซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตัดสินให้มีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. และต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี คดียึดทรัพย์ที่ได้มาจากการใช้อำนาจทุจริตระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท และยังมีคดีที่รอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกเกือบ 10 คดี

ผลงานของ คตส.นี้เอง ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่กล้ากลับเข้ามาในประเทศ นับจากฝ่าฝืนคำสั่งศาลเดินทางออกนอกประเทศแล้วไม่กลับเข้ามารายงานตัว เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 และต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้
ดังนั้น การยกเลิกมาตรา 309 เพื่อให้การกระทำของ คตส.ไม่มีข้อกฎหมายรองรับอีกต่อไป จึงเป็นจุดหมายสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

การตั้ง ส.ส.ร.ตามร่างแก้ไขมาตรา 291 ไม่ว่าจะใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล หรือร่างของคนเสื้อแดง ต่างก็จะได้ ส.ส.ร.ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถกดรีโมตสั่งการให้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่เขาต้องการได้อยู่ดี เพราะต่างก็ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งสองร่าง ซึ่งเมื่อวัดจากฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา คาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ส.ส.ร.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คือคนของ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเชื่อมั่นในความสำเร็จไว้ล่วงหน้า ตามที่ปรากฏออกทางบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์โคเรีย ไทมส์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณแสดงอาการเหลิงชัยชนะ ถึงขั้นบอกว่า เขาพร้อมจะให้อภัยทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหารที่ยึดอำนาจไปจากเขาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาชุมนุมขับไล่เขา และยังเปรยๆ ว่าจะกลับเข้ามาในประเทศไทยภายในปี 2555 นี้

วาระซ่อนเร้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ใช่ว่าประชาชนทั่วไปจะมองไม่ออก เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ระหว่างวันที่ 2-7 กุมภาพันธ์ 2555 โดยศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งในประเด็นที่ว่า ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนร้อยละ 44.8 เห็นว่าเป็นประโยชน์ของนักการเมือง และมีประชาชน ร้อยละ 21.9 เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว จะเป็นร้อยละ 66.7 ขณะที่มีเพียงร้อยละ 25.3 ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

นอกจากนี้ ในประเด็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนร้อยละ 70.7 เห็นว่ายังไม่ควรเร่งแก้ไขในขณะนี้ เนื่องจากมีเรื่องอื่นที่จำเป็นเร่งด่วนกว่า

ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการ อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 อย่างนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ว.ประเภทสรรหา ชี้ชัดว่า จุดประสงค์ในการแก้ไขมาตรา 291 คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่านั่นเอง แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เปิดช่องให้ จึงเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน
ทั้งนี้ นายสุรชัย ยืนยันว่า หากพิจารณาดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าฉบับปี 2540 ด้วยซ้ำไป และแท้ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ปรังปรุงแก้ไขมาจากฉบับปี 2540 แต่นักการเมืองพยายามแก้ไขตามที่เขาต้องการ เช่น มาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรคการเมืองถ้ากรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง และมาตรา 309 ที่รับรองการทำงานของ คตส.และแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว เพื่อให้พรรคการเมืองครอบงำรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ส่วนนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ และอดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ระบุว่า เมื่อดูข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่เจอ แต่เจอคนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง ซึ่งก็คือนายทุนได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ อยากให้จับตาการแก้ไขประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การแก้ไขลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และ ส.ส. เรื่องการถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในมาตรา 102 (7) และมาตรา 174 (4) ว่าจะหายไปหรือเปล่า หรือเพิ่มเงื่อนไขให้มีเงื่อนเวลากลับมาได้ ต่อมาคือการแก้ไขบทคุ้มครองทรัพยากรของชาติ สาธารณูปโภคของรัฐ เช่น มาตรา 84 (10) เรื่องการแปรรูปโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทุนพรรคการเมืองต้องการหากินบนหลังประชาชน รวมทั้งมาตรา 190 ที่ปัจจุบันทำให้ไม่สามารถหากินกับทุนข้ามชาติได้ ทั้งนี้ โครงสร้างที่ออกมาคือโครงสร้างเผด็จการพรรคการเมืองผูกขาดแน่นอน

นั่นแสดงว่า พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดงไม่อาจปกปิดวาระซ่อนเร้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไว้ได้ แต่การต่อต้าน ก็ยังไม่ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง นั่นเพราะ รัฐบาลได้สับขาหลอก เบี่ยงเบนกระแสความสนใจไปยังเรื่องอื่น

โดยเฉพาะการหลิ่วตาให้คณะนิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งได้แสดงความฮึกเหิมถึงขั้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ โดยต้องให้พระมหากษัตริย์สาบานตนว่าจะพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนที่จะรับตำแหน่งประมุขของรัฐ
ข้อเสนอที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่เช่นนี้ ทำให้เสียงก่นด่าพุ่งไปที่คณะนิติราษฎร์ ขณะที่รัฐบาลก็พยายามลอยตัว ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และพยายามเล่นบทพระเอกด้วยการบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด
ขณะที่กลุ่มมวลชนต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอาณัติของรัฐบาล แทนที่จะมุ่งมาที่การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หันไปต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 แทน ซึ่งก็ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปลายทางอยู่ที่การฟอกผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นได้อย่างราบรื่น เพราะการสับขาหลอกอย่างแยบยลนี่เอง

นับจากนี้ คงต้องจับตากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ก่อนที่จะมีการรวบหัวรวบหางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามพิมพ์เขียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือเผด็จการทุนการเมืองต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น