xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ส.ร.แฉรัฐหมกเม็ดแก้มาตรา 291 เพื่อยกเลิก รธน.50 ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุรชัย” เผยรัฐบาลไม่บอกความจริงประชาชน แก้มาตรา 291 จะนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ เพื่อยกร่างใหม่ ด้าน “คมสัน” ชี้หากทำสำเร็จ ข้อเสนอ “วรเจตน์” อาจเป็นจริงได้ พร้อมแนะจับตาใกล้ชิด แก้มาตรา 102 (7), 174 (4) เพื่อเปิดทาง “แม้ว” คืนสู่อำนาจ และมาตรา 84 (10), 190 ที่จะทำให้นายทุนพรรคการเมืองหากินบนหลังประชาชน ครอบครองประเทศแบบถาวร

วันที่ 8 ก.พ. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 พร้อมด้วย นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ และอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดย นายสุรชัยกล่าวว่า ดูจากร่างขอแก้รัฐธรรมนูญ จริงๆแล้วไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเพิ่มบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นมาใหม่ทั้งหมวดเลย เป็นหมวดที่ 16 ว่าด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญ แปลว่ากำลังจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยการแก้มาตรา 291 ผลที่ได้คือเป็นสิ่งที่ไม่ได้บอกให้สังคมรู้ว่าต้องยกเลิกฉบับเก่า แต่บอกว่าแก้แค่ 1 มาตรา

มีความต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 เพียงแต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ โดยมาตรา 291 ระบุว่าต้องผ่านหลักเกณฑ์แก้ไขเพิ่มเติม จากการเสนอของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ภาคประชาชน โดยไม่ได้มีสสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) วันนี้เลยต้องการแก้ให้มี ส.ส.ร. และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ฟังแล้วดูดีไม่น่ามีปัญหา แต่เนื้อหาจริงๆจะรู้ว่าเป็นการสร้างหมวดใหม่ขึ้นมาหมวดหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

นายสุรชัยกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องประชาชนทุกคน อยากให้ตัดข้อรังเกียจถึงที่มาของรัฐธรรมนูญปี 50 ออกไป แล้วให้ความสำคัญที่เนื้อหามากกว่า ซึ่งฉบับปี 50 ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าปี 40 ด้วยซ้ำไป อีกทั้งแท้ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มาจากปี 40 นั่นแหละ แล้วมาปรับปรุงแก้ไขจุดด้อย ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านประชามติของประชาชน จึงอยากให้ทุกคนติดตาม และใช้วิจารณญาณตัวเองให้ดีที่สุดก่อนตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อยกร่างใหม่

นายคมสันกล่าวว่า คนจำนวนมากยังเข้าใจผิด คิดแก้แค่มาตราเดียว ทั้งนี้การแก้มีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า มาตรา 237 และ 309 อาจไม่ใช่เป้าจริงก็ได้ แต่อาจมีบางคนที่ตกอยู่ในลักษณะต้องห้าม ถูกยึดทรัพย์ให้เป็นของแผ่นดิน ที่ไม่สามารถกลับมาเป็น ส.ส. และนายกฯ จึงต้องการล้างมลทินหรือเปล่า

เท่าที่ดูข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่เจอ แต่เจอคนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนายทุนได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ ตรงนี้น่าจะคุยหาประเด็นให้เจอก่อน ค่อยมาพูดถึงวิธี เพราะบางทีถ้าแก้ไม่กี่มาตรา ไม่ต้องแก้มาตรา 291 ไม่ต้องตั้งสสร. หรือไม่ต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ก็ได้ แต่สามารถแก้ได้ภายใต้เงื่อนไขปกติ ซึ่งประชาธิปัตย์ก็เคยทำมาแล้ว

นายคมสันกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอของนายวรเจตน์ ก็เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่อันนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 291 วงเล็บ 1 วรรค 2 ระบุว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะเสนอมิได้” โดยขั้นตอน ต้องนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ถึงจะทำได้ ฉะนั้นการแก้มาตรา 291 มันสะท้อนนัยยะ

การที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร สุดท้ายหากร่างใหม่ ก็เกิดจากผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่ดี ถ้ามองในทฤษฎีผลไม้เป็นพิษ มันก็ต้องเป็นพิษหมดทั้งสาย

นายคมสันยังกล่าวต่อว่า อยากให้จับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงสิ่งที่จะแตะต่อไปในอนาคต เช่น การแก้ไขลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และส.ส. เรื่องการถูกยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน อยู่ในมาตรา 102 (7) และมาตรา 174 (4) ว่าจะหายไปหรือเปล่า หรือเพิ่มเงื่อนไขให้มีเงื่อนเวลากลับมาได้ ต่อมาคือการแก้ไขบทคุ้มครองทรัพยากรของชาติ สาธารณูปโภคของรัฐ เช่น มาตรา 84 (10) เรื่องการแปรรูป ในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทุนพรรคการเมืองต้องการหากินบนหลังประชาชน แต่รัฐธรรมนูญตรงนี้ทำให้เขาไม่สามารถทำมาหากิน และครอบครองประเทศแบบถาวรได้ ต่อมามาตรา 190 ทำให้ไม่สามารถหากินกับทุนข้ามชาติได้ อันนี้จะถูกจัดการหรือไม่ เพราะเป็นฐานคุ้มครองทรัพยากรประเทศที่สำคัญ

เชื่อว่าการร่างมาเพื่ออนาคต โครงสร้างที่ออกมาคือโครงสร้างเผด็จการพรรคการเมืองผูกขาดแน่นอน แต่อยากให้ดูบทคุ้มครองประชาชนเหล่านี้

กำลังโหลดความคิดเห็น