xs
xsm
sm
md
lg

สยามประชาภิวัฒน์ลั่นค้านแก้ รธน.ชี้นำการเมืองสู่เผด็จการพรรคนายทุนเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
สยามประชาภิวัฒน์ออกแถลงการณ์ ฉบับ 2 ลั่นค้านแก้รัฐธรรมนูญทุกวิธี ชี้นำพาเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จภายใต้สีเสื้อประชาธิปไตย จี้ปฏิรูปประเทศแทน

วันนี้ (8 ก.พ.) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง หยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบ “เผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด” ระบุว่า โดยที่รัฐบาลจะเสนอต่อประธานรัฐสภาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย โดยจะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และในขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ ที่เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการยกร่างรัฐธรรมนูญ

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ขอประกาศจุดยืนซึ่งผ่านการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับ สภาพความเป็นจริงพื้นฐานทางการเมืองและสังคมไทยว่า ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แท้จริงของประเทศไทยมีสาเหตุมาจากระบบการเมืองที่ถูกครอบงำจาก “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน” ส่งผลให้การเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กล่าวคือ การที่รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้กำหนดให้ “ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง” “พรรคการเมืองมีอำนาจขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ออกจากพรรคได้” และกำหนดให้ “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” มีผลจูงใจให้นายทุนหรือนักธุรกิจที่สะสมทุนไว้มากพอจากธุรกิจผูกขาดสัมปทานของรัฐ เข้ามาลงทุนทำ “ธุรกิจการเมือง” โดยร่วมมือกับกลุ่มข้าราชการประจำเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวอันมิชอบ

ด้วยเหตุนี้ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of power)” และ “หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance)” อันเป็น “หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย (Principles of democracy)” จึงยังไม่เกิดขึ้นและเป็นจริงในประเทศไทย การกำหนดดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆในระบบการเมืองการปกครอง ยังคงเปิดโอกาสให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถเข้าครอบงำเหนือสถาบันฯ อื่นๆ ในระบบการเมืองการปกครองได้ค่อนข้างมากด้วยข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง เข้าจัดตั้งรัฐบาลและครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การครอบงำเหนือฝ่ายนิติบัญญัติเห็นได้จากการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเพียงแค่หัวหน้าสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดเพื่อช่วยปกป้องคณะรัฐมนตรีไม่ให้ถูกอภิปราย จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น นอกจากนี้ พรรคการเมืองนายทุนผูกขาดก็ ครอบงำองค์กรอิสระผ่านกระบวนการสรรหา และเมื่อพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดสามารถรวบอำนาจไว้ได้ทั้งหมดแล้ว พรรคการเมืองนายทุนผูกขาดซึ่งเป็นรัฐบาลจึงใช้ “อำนาจเผด็จการ” ดังกล่าวภายใต้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” เข้าผูกขาดการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ ให้แก่กลุ่มทุนการเมืองของพวกตน แล้วสะสมความมั่งคั่งไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อกลับมาผูกขาดอำนาจรัฐและแสวงหาผลประโยชน์ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งยกร่างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือ ต้องการให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆของประเทศได้ แต่เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่เสริมแรงจูงใจให้ นักธุรกิจการเมืองเข้ามาลงทุนทำธุรกิจการเมืองมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญยังกำหนดมาตรการต่างๆอีกหลายประการ ที่เสริมสร้างให้รัฐบาลเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในอดีต แม้รัฐธรรมนูญจะสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลที่เข้มแข็งไว้หลายประการ แต่ก็ล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาลเข้มแข็งไม่เคารพต่อ “หลักนิติรัฐ” ประกอบกับสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์อย่างไร้เหตุผล ทำให้พรรคการเมืองนายทุนซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลใช้อำนาจรัฐเข้าครอบงำสถาบันอื่นๆ ในระบอบการเมืองและสังคมไทยได้มากยิ่งขึ้น

การที่รัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมต่างๆของรัฐบาล พยายามชี้นำสังคมไทยให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นสามารถควบคุมกองทัพที่เคยมีศักยภาพในการครอบงำระบบการเมือง เป็นการชี้นำที่เบี่ยงเบนประเด็นให้สังคมไทยเข้าใจปัญหาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้ถูกครอบงำเบ็ดเสร็จโดย “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด (ในระบบรัฐสภา)” ดังนั้น ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมต่างๆ จึงมีเจตนารมณ์อยู่ที่การรวบอำนาจเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดซึ่งยึดกุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีใดๆ ทั้งนี้เพราะมีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าจะนำไปสู่การสร้างระบอบ “เผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด” เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ขอเสนอว่าโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องคิดและตอบต่อสังคมก่อนที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ “ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวังวนของระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดได้อย่างไร” ซึ่งกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” เห็นว่าคำตอบจึงอยู่ที่ทุกฝ่ายควรร่วมกัน “ปฏิรูปประเทศไทย” ทั้งระบบ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยทุกฝ่ายต้องสละผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องภายใต้การเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นไปตามหลักการทางวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการเมืองของประเทศไทยเป็นระบบการเมืองที่มีดุลยภาพด้านอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการมี “สิทธิและเสรีภาพ” “การแบ่งแยกอำนาจ” และ “การตรวจสอบและถ่วงดุล” ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ขจัดการผูกขาดสร้างเป็นธรรมต่อชนทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น