xs
xsm
sm
md
lg

“สยามประชาภิวัฒน์” เย้ย “นิติเรด” สุมหัวรับเงินคิดหักดิบล้มเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ (แฟ้มภาพ)
นักวิชาการรุมยำ “นิติราษฎร์” จุดชนวนสังคมแตกแยก ชี้พฤติกรรมหวังล้มเจ้าชัดเจน เย้ยรับเงินใครเคลื่อนไหว สืบทอดแนวคิดสุดโต่งจาก “ปรีดี” หวังลดสถานะ “กษัตริย์” เหมือนฝรั่งเศส เผยคนรักเจ้าสุดทนเตรียมฟ้องเอาผิดทั้ง รธน.-อาญา

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ต่อประเด็นองค์กร กระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพว่า สำหรับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ได้เสนอให้พระมหากษัตรย์ คือ ประมุขของรัฐ และต้องสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่งนั้นถือว่าต้องการเชื่อมโยงเข้ากับสถาบันทางการเมือง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการปกครองในระบอบประธานาธิบดี ที่ต้องให้ผู้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเข้าพิธีสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดยประเด็นนี้ตนมองว่าคณะนิติราษฎร์ พยายามเชื่อมโยงกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องหมิ่นสถาบัน หลังจากที่ทราบว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ที่ระบุว่าผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา และฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ จึงพยายามหาช่องทางเพื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าว

“ข้อเสนอนี้ มีลักษณะที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องการลดสถานะของพระมหากษัตริย์ เหมือนเช่นคณะปฏิวัติ เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้ดำเนินการมา ซึ่งกระบวนการของคณะนิติราษฎร์นี้เหมือนจะต่อยอดจากการกระทำเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยใช้หลักวิชาการมาครอบงำวิธีคิดของคนสังคม และนำมวลชนมากดดัน ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่มีภาควิชาการนำหน้า ประเด็นนี้ผมมองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปมปัญหาของสังคม แต่ปัญหาเกิดจากกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง” นายคมสัน กล่าว

นายคมสันกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่มาของ ส.ว.ที่อยากให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ตั้งธงไว้ว่าการเลือกตั้งเป็นสูตรสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาได้มีบทพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ และที่ผ่านมาการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทำให้พรรคเป็นเผด็จการทางการเมือง ตนมองว่านายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ ที่จบกฎหมายจากประเทศเยอรมนี น่าจะเข้าในระบอบดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี ว่าการเลือกตั้งที่ยกตัวอย่างจะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาและไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบการทำงานได้ ส่วนที่ระบุให้มีสภาเดียวนั้น ส่วนตัวตนเห็นด้วย แต่ยังไม่เห็นรูปแบบ

“บทเรียนที่ผ่านมา เรายังไม่ได้แก้ปัญหา ที่พรรคการเมืองไม่ใช่ฐานของประชาชน แต่กลับเป็นฐานของกลุ่มธุรกิจ ที่ต้องการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งผมยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาตรงนี้ การให้สังกัดพรรคก็เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นเผด็จการพรรคการเมือง และจะส่งผลเสียในอนาคตได้” นายคมสันกล่าว

นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิรูปศาล ที่เสนอให้ผู้พิพากษาศาลสูง และตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบนั้น ขัดต่อหลักการของการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย กรณีที่ให้ฝ่ายการเมือง มีอำนาจแต่งตั้งฝ่ายตุลาการนั้น อาจจะส่งผลให้การเมืองครอบงำศาลได้ หากไม่สามารถแก้ไขระบอบเผด็จการพรรคการเมือง หรือทำให้พรรคปลอดกลุ่มธุรกิจได้อย่างแท้จริง สำหรับการตั้งผู้ตรวจการกองทัพที่ถูกแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทางคณะนิติราษฎร์ ได้ใช้โมเดลของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้ โดยคอมมิวนิสต์เรียกว่าเป็นผู้ชี้นำทางการเมือง

“ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ สังคมต้องคุยกันให้เยอะ เพราะคิดว่าคงเป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น แต่ผมมองว่าหากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะเป็นการหักดิบระบอบการปกครอง แบบ 360 องศา เมื่อพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบันแล้วข้อเสนอนี้อาจเกิดเป็นข้อถกเถียงของทั้งฝ่ายศาล ทหาร และกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายอาจทำไปสู่ความแตกแยกได้” นายคมสันกล่าว

นายคมสันกล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดและความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ชี้แจงต่อสังคมให้ชัดว่า นำเงินที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมาจากไหน เพราะการจัดเสวนาที่ต่อเนื่องเป็นประจำ รวมถึงทำเอกสารแจก ต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากได้มาจากการบริจาค เปิดเผยผู้ให้บริจาคได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้สังคมเห็นว่าการเคลื่อนไหวนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง

ขณะที่ นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวในการลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าข่ายชัดเจนว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่บุคคลใดใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในมาตรา 2 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

“การกระทำของกลุ่มนิติราษฎร์ จึงมีความผิดตามมาตรา 68 วรรค 2 คือเปิดประชาชนทั่วไป มีสิทธิเสนอให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว และ ยังเปิดให้ประชาชนสามารถดำเนินคดีอาญาในหมวดความมั่นคงของรัฐได้ด้วย ขณะนี้รับทราบว่ามีหลายกลุ่มที่เริ่มทนไม่ไหว เพราะข้ามเส้นความรู้สึกกระทบต่อจิตใจของคนไทย โดยพวกเขาจะใช้ช่องกฎหมายดังกล่าวนี้ดำเนินการกลับกลุ่มนิติราษฎร์” นายศาสตราระบุ

นายศาสตรากล่าวอีกว่า คณะนิติราษฎร์ติดหล่มรัฐประหาร และต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนสุดโต่ง ที่ไม่ดูบริบทจารีตประเพณี และวิถีของสังคมไทย โดยพยายามลดสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เหมือนกับประเทศฝรั่งเศส ที่มีคำว่า “กษัตริย์” ที่เป็นชนชั้นพวกหนึ่งเท่านั้น พร้อมตัดคำว่า “พระมหา” ซึ่งแปลว่า “ทรงธรรม” ออกไป เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก ที่คณะราษฎร เขียนไว้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475

“ผมเคยคุยกับกลุ่มนิติราษฎร์ ก็พอทราบเจตนารมณ์ของพวกเขา คือ ต้องการทำให้สังคมไทยเป็นเหมือนต่างประเทศ โดยไม่ดูจารีตประเพณีของไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในต่างประเทศก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป เช่นกัน อย่างเช่นหากใครไปทำท่าสัญลักษณ์พรรคนาซีฮิตเลอร์ ก็ผิดกฎหมายในประเทศเยอรมัน เป็นต้น” แกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ระบุ

ด้าน นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานว่าจะปฏิบัติตามและพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า ประเทศไทยมีระบบที่แตกต่างจากต่างประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยเปรียบเหมือนเจ้าของแผ่นดิน และทำคุณประโยชน์กับประเทศชาติมานาน จึงไม่ต้องทำการสาบาน แตกต่างจากระบอบที่มีการเลือกตั้งประมุขของรัฐเข้ามาจะต้องทำการสาบานเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยทำประโยชน์แก่ชาติ และมาจากการเลือกตั้ง อย่างเช่นระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวเป็นการลดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เทียบเท่ากับประชาชนคนธรรมดา

เช่นเดียวกับนายเสรี สุวรรณภานนท์ แกนนำพรรคประชาสันติ ในฐานะอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เพราะเป็นข้อเสนอที่สร้างความขัดแย้งในสังคม และข้อเสนอดังกล่าวนั้นมีความคล้ายกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ที่เสนอโมเดลกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในรูปของคณะบุคคล ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เป็นข้อเสนอที่เกิดจากความเชื่อของนักวิชาการกลุ่มนี้ เขาไม่ได้ดูความจริง เป็นสิ่งที่เขียนจากอุดมการณ์ และความเชื่อส่วนตัว ข้อเสนอนี้เชื่อว่าจะไม่ใช่ข้อยุติหรือข้อสรุปสุดท้าย ควรให้มีการรับฟังความเห็นกันอย่างกว้างขวาง” นายเสรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น