อาจารย์ 8 มหาวิทยาลัย รวมตัวตั้งกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ประกาศจุดยืนเชิดชูคุณค่าสถาบันกษัตริย์ ขจัดเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ลบล้างความเชื่อสูตรสำเร็จ “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง”
วันนี้ (13 ม.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มคณาจารย์จาก 8 สถาบันรวม 23 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวการก่อตั้ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” โดยมีสมาชิกที่มาจากอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น นิด้า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยารังสิต ฯลฯ นำโดย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ นิด้า รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.ทวีศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศอุดมการณ์ของกลุ่ม ระบุว่า สังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ทำให้เกิดกลุ่มการเมืองเข้ามาผูกขาดอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งและการใช้นโยบายประชานิยม จนทำให้เกิดวิกฤตการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการชี้นำความคิดความเชื่อของประชาชนไปในทิศทางที่ต้องการ โดยทางกลุ่มมีอุดมการณ์ที่สำคัญ คือ เพื่อการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการสู่สังคม โดยยึดมั่นการคุ้มครองประชาชนตามหลักนิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ภายใต้หลักภราดรภาพและความมั่นคงของสังคม รวมทั้งส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่เปิดช่องให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสังคมไทย
“ทางกลุ่มได้แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันไว้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย จะสนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย เพื่อขจัดเรื่องเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตย เช่น อิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน วิกฤติเสรีภาพที่นำไปสู่สังคมแบบอนาธิปไตย และวิกฤติในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เป็นต้น” รศ.ทวีศักดิ์ ระบุ
จากนั้น รศ.ดร.บรรเจิด ได้ตอบข้อถามสื่อมวลชนต่อวัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อคานอำนาจทางความคิดของคณะนิติราษฎร์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแต่ที่ต้องตัดสินใจออกมา เพราะเห็นว่าต้องการให้ความรู้ประชาชนอย่างครบถ้วนและถูกต้องสมบูรณ์ ไม่เป็นการเสนอแนวคิดเพียงด้านเดียว ทั้งนี้แนวคิดของคณะนิติราษฎร์เป็นการมองพื้นฐานการเมืองของไทยในปัจจุบันผิดไป เพราะตอนนี้มันไม่ใช่ต้องไปกลัวอำนาจเผด็จการทหาร แต่มันกลายเป็นเผด็จการทางการเมืองมากกว่า เราจึงต้องออกมาชี้นำสังคมและให้ข้อคิดเห็นที่ถูกต้องและครบถ้วน ไม่ใช่เสนอข้อมูลด้านเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดต้องออกมาเปิดตัวกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ในช่วงเวลานี้เป็นการออกมาขัดขวางหรือมาช่วยในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆหรือไม่ รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ทางกลุ่มได้เฝ้ามองสถาการณ์ทางการเมืองของประเทศด้วยความอึดอัดมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ หลังจากนี้ทางกลุ่มมีกิจกรรมที่จะเสนอความคิดเห็นและขับเคลื่อนในทางวิชาการ โดยจัดเสวนาไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะจัดครั้งแรกที่นิด้า ซึ่งทางกลุ่มจะเสนอแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการเกาปัญหาให้ถูกที่คัน ของสังคมการเมืองไทย โดยทางกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ขอยืนยันว่าการออกมาในช่วงจังหวะเวลานี้ถือเป็นความบังเอิญในเรื่องเวลาและสถานการณ์เท่านั้น
“ยืนยันว่าเราไม่ได้ดูเรื่องเวลา แต่เราเห็นว่าสังคมตอนนี้ เกิดความขัดแย้งมากแล้ว เหมือนประชาชนถูกชี้นำจึงต้องออกมา พวกเรามีมุมมองว่า เผด็จการทหารเป็นปัญหาสังคมไทยในอดีตนานมาแล้ว แต่ปัจจุบัน กลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ซึ่งมีเสื้อคลุมประชาธิปไตยปิดบังอยู่มีปัญหามากกว่า จึงต้องออกมาชี้นำให้คนในสังคมไทยได้เห็น” รศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายๆฝ่ายพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขกันอยู่นั้น รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทางกลุ่มมีความเห็นว่าไม่ได้มีข้อโต้แย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น บรรยากาศในทางการเมืองควรที่จะอยู่ในสภาวะปกติ เพราะในปัจจุบัน สังคมไทยยังมีความแตกแยกทางความคิดสูงมาก ทำให้ฝ่ายไหนที่มีอำนาจ ก็เข้ามาแก้ไขเพื่อเอาชนะทางการเมือง ทำให้ความขัดแย้งก็ยังไม่จบ
“ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชน แต่ไปสร้างปัญหาให้นักการเมืองมากกว่า ซึ่งคาดว่าฝ่ายรัฐบาลจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผูกขาดอำนาจมากขึ้นและจะไปแทรกแซงครอบงำการปฏิบัติงานของข้าราชการและกระบวนการยุติธรรม” รศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
ขณะที่ นายคมสัน กล่าวถึงจุดยืนในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของทางกลุ่มว่า มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ถือเป็นบทบัญญัติสำคัญในการคุ้มครองสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปลอดจากการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายจากคนอื่นๆ ซึ่งแม้แต่บุคคลธรรมดาก็ยังบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้มีการหมิ่นประมาท เป็นบทบัญญัติที่มีความเหมาะสมในเชิงหลักการมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2500 โดยประมวลกฎหมายอาญา นอกจากจะคุ้มครองประมุขของชาติแล้ว ก็คุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี รัชทายาท หรือประมุขของรัฐอื่นๆอีกด้วย
“ทางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าก่อนการเกิดรัฐประหารในปี 2549 การกระทำผิดในมาตรา112 มีไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นกลับมีกลุ่มบุคคลที่พยายามใช้มาตราดังกล่าวในการดำเนินทางการเมืองที่ผิดกฎหมายที่จะนำไปสู่การตั้งรัฐไทยใหม่ ดังนั้นข้อเสนอของทางกลุ่มนิติราษฎร์นั้นถือเป็นการลดพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน จึงขอให้ประชาชนและผู้อำนาจในทางการเมือง ต้องปกป้องดูแลสถาบันให้อยู่คู่กับสังคมการเมืองของไทยต่อไป” นายคมสัน กล่าว
ต่อข้อถามที่ว่า กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์มีความคิดเห็นอย่างไรเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร มองว่าเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาทางการเมืองหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า นักวิชาการอยากให้ระบบเดินไปข้างหน้าได้ แต่หากเดินไปแล้วจะทำให้นำไปสู่รูปแบบเผด็จการนายทุนมันก็เกินไป ถ้าฝ่ายการเมืองแสดงพฤติกรรมแบบรู้เหตุรู้ผลมันก็ไม่ทำให้เกิดความอึดอัด ถ้าทำให้คนอื่นในสังคมอยู่ได้ก็ไม่มีปัญหา
ด้าน นายศาตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่มีการพยายามแก้ไขมาตรา 112 ถ้าเริ่มต้นผิดก็จะผิดทั้งหมด เหมือนกับการติดกระดุมเสื้อ ซึ่งถ้าใครคิดที่แก้ไข ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกอ่อนไหวของประชาชนด้วย เพราะในต่างประเทศ ยังระบุถึงความผิดต่อสภาพจิตใจของประชาชน ซึ่งวัฒนธรรมการเมืองของไทยก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตนจึงอยากจะย้อนถามกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ตกลงแล้วสมาชิกของกลุ่มเป็นนักกฎหมายหรือนักปฏิวัติวัฒนธรรมกันแน่
“ปัจจุบันสิทธิเสรีภาพมันคืออะไร ตอนนี้มีแต่คนหรือนักวิชาการบางกลุ่มออกมาพูดถึงแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ว่า มีแล้วสามารถกระทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ แต่กลับไม่มีใครเสนอถึงการมีขอบเขตที่ถูกต้อง สามารถทำได้แค่ไหนอย่างไร ดังนั้นกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จึงต้องรวมตัวกันออกมา” นายศาตรา กล่าวในที่สุด
สำหรับรายละเอียดคำประกาศอุดมการณ์กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” มีดังนี้
“สังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการค้าเสรีถูกนำมาใช้ภายใต้ “ระบบอุปถัมภ์” จนก่อให้เกิด “ทุนนิยมผูกขาด” ที่เข้ามาครอบงำอำนาจทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง และการใช้นโยบายประชานิยม จนส่งผลให้เกิดการ “ผูกขาดอำนาจทางการเมือง” และนำไปสู่การ “ผูกขาดอำนาจในสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ” จนเกิด “วิกฤตการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีการชี้นำความคิดความเชื่อของประชาชนไปในทิศทางที่ทุนนิยมผูกขาดต้องการ
คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาหลายสถาบัน จึงรวมตัวกัน ในนามกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” โดยมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความรู้และขับเคลื่อน “การปฏิรูปประเทศไทย : การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” โดยคำนึงถึงการออกแบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสถาบันทางสังคมที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน ชุมชน และสังคมโดยรวม
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ขอประกาศอุดมการณ์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการสู่สังคม โดยยึดมั่นการคุ้มครองปัจเจกบุคคลตามหลัก “นิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน” ภายใต้ “หลักภราดรภาพและความมั่นคงของสังคม” รวมทั้งส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่ “เปิดช่อง” ให้เกิดการ “ผูกขาดอำนาจในสังคมไทย”
เพื่อบรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้กำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
๑.สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย
๒.สนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย เพื่อขจัดอิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน
๓.ขจัดวิกฤตเสรีภาพ ที่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตจนนำไปสู่สังคมแบบอนาธิปไตย
๔.ขจัดวิกฤตความคิดและความเชื่อที่ว่าสูตรสำเร็จของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น
๕.ขจัดวิกฤตในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการการผูกขาดอำนาจ และการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง
พวกเราในนามกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงขอประกาศอุดมการณ์ต่อสังคม และพร้อมขับเคลื่อนเพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคม อันจะยังประโยชน์สุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนชาวสยามอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน”
สำหรับรายชื่ออาจารย์ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” ประกอบด้วย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
1.รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
2.รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
3.รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
4.อ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์
5.รศ.นเรศร์ เกษะประกร
6.อ.ดร.ปุ่น วิชชุไตรภพ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
1.รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ
2.ผศ.ทวี สุรฤทธิ์กุล
3.รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงสม
4.ผศ.ปรัชญ์ ปราบปรปักษ์
5.อ.คมสัน โพธิ์คง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1.รศ.ดร.วิจิตรา ฟุ้งลัดดา วิเชียรชม
2.ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์
3.ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร
4.ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ
5.รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
มหาวิทยาลัยรังสิต
1.อ.นิดาวรรณ เพราะสุนทร
2.อ.ศาสตรา โตอ่อน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1.ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา
2. ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
1.รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ
2. รศ.สุปราณี อัทธเสรี
3. ผศ.สมพร สันติประสิทธิกุล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
1.อ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
มหาวิทยาลัยบูรพา
1.อ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการอิสระ
1.อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล