xs
xsm
sm
md
lg

“สยามประชาภิวัฒน์”เปิดตัว ป้องสถาบัน-ค้านแก้ ม.112

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “สยามประชาภิวัฒน์” เปิดตัวขอพิทักษ์สถาบัน ต้านทุนเผด็จการ ค้านแก้ ม.112 “มทภ.1” ฮึ่มคง ม.112 “ประพันธ์” ซัด “นิติราษฎร์” ล่าชื่อ นัยยะวัน 100ปี กบฏ รศ.130 หนุนประชาชนฟ้อง ครม.ปู “เยียวยาเสื้อแดง” ผิด รธน. เหยียบย่ำหลักนิติรัฐ เหตุศาลยังไม่ตัดสิน

วานนี้ (13 ม.ค.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มคณาจารย์จาก 8 สถาบันรวม 23 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวการก่อตั้ง “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” โดยมีสมาชิกที่มาจากอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น นิด้า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยารังสิต ฯลฯ นำโดย รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ นิด้า รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.ทวีศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศอุดมการณ์ของกลุ่ม ระบุว่า สังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ทำให้เกิดกลุ่มการเมืองเข้ามาผูกขาดอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งและการใช้นโยบายประชานิยม จนทำให้เกิดวิกฤตการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการชี้นำความคิดความเชื่อของประชาชนไปในทิศทางที่ต้องการ โดยทางกลุ่มมีอุดมการณ์ที่สำคัญ คือ เพื่อการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการสู่สังคม โดยยึดมั่นการคุ้มครองประชาชนตามหลักนิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ภายใต้หลักภราดรภาพและความมั่นคงของสังคม รวมทั้งส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่เปิดช่องให้เกิดการผูกขาดอำนาจในสังคมไทย

“ทางกลุ่มได้แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันไว้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย จะสนับสนุนการปฏิรูประบอบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย เพื่อขจัดเรื่องเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตย เช่น อิทธิพลของเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน วิกฤติเสรีภาพที่นำไปสู่สังคมแบบอนาธิปไตย และวิกฤติในด้านศีลธรรมและจริยธรรม ที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เป็นต้น” รศ.ทวีศักดิ์ ระบุ

รศ.ดร.บรรเจิด ได้ตอบข้อถามสื่อมวลชนต่อวัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อคานอำนาจทางความคิดของคณะนิติราษฎร์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแต่ที่ต้องตัดสินใจออกมา เพราะเห็นว่าต้องการให้ความรู้ประชาชนอย่างครบถ้วนและถูกต้องสมบูรณ์ ไม่เป็นการเสนอแนวคิดเพียงด้านเดียว ทั้งนี้แนวคิดของคณะนิติราษฎร์เป็นการมองพื้นฐานการเมืองของไทยในปัจจุบันผิดไป เพราะตอนนี้มันไม่ใช่ต้องไปกลัวอำนาจเผด็จการทหาร แต่มันกลายเป็นเผด็จการทางการเมืองมากกว่า เราจึงต้องออกมาชี้นำสังคมและให้ข้อคิดเห็นที่ถูกต้องและครบถ้วน ไม่ใช่เสนอข้อมูลด้านเดียว

“ยืนยันว่าเราไม่ได้ดูเรื่องเวลา แต่เราเห็นว่าสังคมตอนนี้ เกิดความขัดแย้งมากแล้ว เหมือนประชาชนถูกชี้นำจึงต้องออกมา พวกเรามีมุมมองว่า เผด็จการทหารเป็นปัญหาสังคมไทยในอดีตนานมาแล้ว แต่ปัจจุบัน กลายเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ซึ่งมีเสื้อคลุมประชาธิปไตยปิดบังอยู่มีปัญหามากกว่า จึงต้องออกมาชี้นำให้คนในสังคมไทยได้เห็น” รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวและว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชน แต่ไปสร้างปัญหาให้นักการเมืองมากกว่า ซึ่งคาดว่าฝ่ายรัฐบาลจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผูกขาดอำนาจมากขึ้นและจะไปแทรกแซงครอบงำการปฏิบัติงานของข้าราชการและกระบวนการยุติธรรม” รศ.ดร.บรรเจิด กล่าว

นายคมสัน โพธิ์คง กล่าวถึงจุดยืนในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของทางกลุ่มว่า มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ถือเป็นบทบัญญัติสำคัญในการคุ้มครองสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปลอดจากการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายจากคนอื่นๆ ซึ่งแม้แต่บุคคลธรรมดาก็ยังบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้มีการหมิ่นประมาท เป็นบทบัญญัติที่มีความเหมาะสมในเชิงหลักการมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2500 โดยประมวลกฎหมายอาญา นอกจากจะคุ้มครองประมุขของชาติแล้ว ก็คุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี รัชทายาท หรือประมุขของรัฐอื่นๆอีกด้วย

** มทภ.1 ฮึ่มคงม.112 คุ้มครองสถาบัน

พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์จะล่ารายชื่อ เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาม.112 ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ว่า สถาบันจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ดูแล สิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นความจำเป็นเพราะ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง และท่านทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติ สร้างความมั่นคงให้ประเทศมาตั้งแต่อดีตกาล มาตราที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคง คือ สนับสนุนเรื่องความมั่นคงด้วย

อีกทั้งตนเห็นว่า ส่วนนี้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนแต่เป็นกฎหมายที่เสริมสร้าง และคุ้มครอง สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ เพราะต้องยอมรับว่า สถาบันไม่สามารถโต้ตอบหรือชี้แจง

อะไรได้ เพราะท่านอยู่เหนือสิ่งต่างๆเหล่านี้ ดังนั้นสถาบันย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครอง กฎหมายนี้จึงเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่เห็นว่า ม.112 ที่มีอยู่เหมาะสมจะต้องมีต่อไป

**ประพันธ์ซัดแดงล่าชื่อวัน100ปีกบฏ

วันเดียวกัน นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายสมชาย กล่าวว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวร่วมกัน แยกกันเดินร่วมกันตี ก็มีส่วนหนึ่งมองเรื่องมาตรา 112 แม้ ร.ต.อ.เฉลิมออกมาไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายของนิติราษฎร์สายอาจารย์ทั้งหลายแหล่ ก็คิดเรื่องนี้ โดยพวกเขาจะเคลื่อนไหวหลัง 15 ม.ค.นี้ ความพยายามตรงนี้ไม่ได้หมดไป คิดว่าพวกเขาต้องการเขย่าสถาบัน ไม่ว่าจะพยายามเสนอลดโทษ หรือตอนนี้พยายามไปชักจูงกองทัพ และราชนิกุลให้เป็นผู้เสนอซะเอง แต่ตอนนี้ตนทราบว่าการชักจูงนั้นไม่น่าจะสำเร็จ เพราะหลายท่านก็ทราบแล้วว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร เพราะมีการอ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำนองว่าพระองค์ก็ไม่ปรารถนาให้ลงโทษคนที่วิจารณ์กษัตริย์ ซึ่งพวกตนก็เดินหน้ายืนยันว่ากฎหมายไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องแก้ไข

นายประพันธ์ กล่าวว่า ตนอยากจะบอกพวกนักวิชาการ และราชนิกุลที่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ว่าอันนี้ไม่ใช่เป้าหมายของพวกนั้น แต่เป็นวิธีการนำไปสู่การล้มล้างสถาบันฯ อ่านดูเจตนารมณ์พวกนั้น วันที่ 15 ม.ค.จะเริ่มรณรงค์แก้มาตรา 112 และใช้โอกาสนี้จัดงานครบรอบ 100 ปี กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งกบฏ ร.ศ. 130 ก็คือกบฏล้มล้างสถาบันฯ เมื่อปี 2455 แต่ทำไม่สำเร็จ นิติราษฎร์เลยหวังสืบทอดเจตนารมณ์กลับมาทำให้สำเร็จ ด้วยการเคลื่อนไหวบ่อนเซาะสถาบันฯ ไปเรื่อยๆ เพื่อไปสู่วันข้างหน้าเมื่อเป้าหมายใหญ่มาถึง

พวกนี้รณรงค์เพื่อล้มเจ้าแต่พูดตรงๆ ไม่ได้ เลยอ้างต้องแก้มาตรานี้ นี่คือขบวนการหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณชุบเลี้ยงเอาไว้ ตนจึงอยากเตือนนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อแก้มาตรา 112 ว่าจะไปเป็นแนวร่วมเขาโดยไม่รู้ตัว ทางที่ถูกไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย นิติราษฎร์มันเป็นกลุ่มการเมือง ไม่ใช่นักกฎหมาย

**หนุนฟ้อง ครม.ยิ่งลักษณ์ผิดกม.

โดยคืนก่อนหน้านั้น นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่า จากการศึกษามติ ครม.ที่ให้จ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมนั้น มีการอ้างผลการศึกษาของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ถือเป็นการเหยียบย่ำหลักนิติธรรม-นิติรัฐ กระทืบเหยียบย่ำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเมื่อพิจารณาหลักการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมด เป็นการเอามาจากหลักการชดเชยตามประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด มาตรา 420 มีค่าชดเชยการเสียชีวิต ค่าปลงศพ ชดเชยรายได้ให้ถึง 30 ปี ก็เป็นไปตามมาตรานี้

แต่กรณีการชุมนุมคนเสื้อแดง ต้องมีความชัดเจนก่อนว่ารัฐเป็นผู้กระทำละเมิดต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย การที่รัฐสั่งเจ้าหน้าที่ออกมาปราบปรามการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและเผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลได้ทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่มีการวินิจฉัยหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่ารัฐได้กระทำความผิดฐานละเมิดต่อประชาชนหรือไม่ ยังไม่มีการชี้ขาดว่าคนที่เจ็บตายเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุและผิดกฎหมายหรือไม่

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีสิทธิที่จะวินิจฉัยกรณีนี้ เพราะเป็นรัฐบาลที่มีส่วนได้เสียกับคนเผาบ้านเผาเมือง เป็นรัฐบาลของพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้วมาตัดสินเอง ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตัดสินออกมา และมีประเด็นต้องพิจารณาต่อว่า มติ ครม.ที่ให้จ่ายเงินชดเชยครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากผิดกฎหมาย ประชาชนผู้เสียภาษีมีสิทธิที่จะยื่นร้องต่อศาลปกครองให้ระงับจ่ายเงินชดเชยได้ เนื่องจากเป็นผู้เสียหายจากการที่รัฐบาลปล้นเอาเงินภาษีไปจ่ายให้พวกเดียวกันเองที่เผาบ้านเผาเมือง ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากมติครม.ที่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงสามารถฟ้องร้องได้
นายประพันธ์ย้ำว่า เมื่อดูในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มติ ครม.ครั้งนี้จึงเป็นมติ ครม.ที่ผิดกฎหมาย ชอบที่ประชาชน ส.ส. ส.ว. หรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย สามารถผ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ ครม.นี้ได้ เพราะมันไม่มีพื้นฐานทางข้อกฎหมายหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีมารองรับได้เลย ไม่เช่นนั้นแล้วต่อไป ถ้ามีการเจ็บการตายก็ต้องชดเชยกันทุกคนโดยไม่มีการแยกแยะว่าการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

**นักกฎหมายอิสระชี้ผิด กม.ฟ้องได้

นายสิทธิชัย มานะเสถียร นักกฎหมายอิสระเพื่อประชาชน กล่าวว่า การออกมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจคณะรัฐมนตรี ที่มีมติในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้กระทำผิดที่เสียชีวิตจากสาเหตุการณ์ชุมนุมก่อความไม่สงบ เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 ที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่า หากศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่า บุคคลผู้นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในคดีอาชญากรรมจะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามที่กำหนดไว้ แต่กรณีที่รัฐบาลมีมติเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง ที่ออกมาประท้วงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้นถือเป็นการกระทำผิดและจากการกระทำนี้หากมีประชาชนคนไทยเพียง 1 คน เสนอตัวออกมาดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรียกชุดในมาตรา 157 ก็สามารถกระทำได้ทันที

**ส่อดึงเงิน 3 พันล้านรบ.มาร์คมาใช้

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก ว่า ไม่มีการคุยงบเยียวยา 2 พันล้านของชุมนุมทางการเมือง

เมื่อถามว่าจะมีการให้สำนักงบฯค้นงบเยียวยาที่เหลืออยู่ 3 พันล้านของรัฐบาลชุดที่แล้ว นำมาจัดสรรเพิ่มเติมหรือไม่ ร.ต.อ.กล่าวว่า ตนไม่ขอแสดงความเห็นหากไป พูดอาจไปกระทบใจกัน ในที่ประชุมไม่มีการพูดเรื่องนี้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าหารือ โดยคาดว่าจะหารือในเรื่องนี้

**เต้นหยันใช้เงินแค่ 1ใน 3 งบปราบแดง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ตนจึงอยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์มองเรื่องนี้ด้วยใจรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกคนทุกฝ่ายล้วนเป็นองค์ประกอบของความขัดแย้ง และการต่อสู้ของประชาชาก็มีความชัดเจนว่าเป็นเพราะบ้านเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ทางการเมืองหากมีการบาดเจ็บล้มตาย ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ที่จะต้องรับผิดชอบเยียวยาแก้ไข เท่าที่ทราบก็พบว่า จำนวนเงินเพื่อเยียวยาครั้งนี้ใช้งบประมาณโดยรวม 2,000ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียง 1ใน 3 ของเงินที่รัฐบาลใช้ปราบปรามประชาชนในปี 2553ที่ใช้ไปถึง 6,000ล้านบาท จึงอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ลองคิดดูว่า จำนวนเงิน 2,000ล้านบาท ที่จะช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้า และไม่สร้างความเสียหายให้กับใคร เราเข้าใจได้ ยกเว้นคนที่ไม่ต้องการจะเข้าใจหรือพยายามเชื่อมโยงไปประเด็นอื่น จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันต่อไป

**ตั้ง'ธงทอง'ปธ.อนุวางกรอบเยียวยา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ โฆษก ปคอป. แถลงชี้แจงมาตราการชดเชยเยียวยา ว่า การกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับการเยียวยานั้น ปคอป.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการที่มีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มาดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 18 ม.ค.นี้ เวลา 08.00 น. สำหรับวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในเรื่องดังกล่าวขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน เพราะต้องรอผลสรุปของคณะอนุกรรมการในเรื่องของยอดรวมของผู้ที่ขอรับการชดเชยเยียวยาทั้งหมด แล้วจึงจะตั้งวงเงินงบประมาณเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป

ส่วนงบประมาณ 3,000 ล้านบาทที่เหลือจากการจ่ายชดเชยเยียวยาในรัฐบาลชุดที่ ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จะดำเนินการโดยเร็ว

**บิ๊กตู่'วอนแยกแยะเงินเยียวยา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า อย่านำเรื่องเยียวยามาเกี่ยวกับทหาร ทหารเป็นเพียงระเบียบและเงินประกันชีวิต เงินช่วยเหลือ และค่าตอบแทน โดยเงินค่าตอบแทนเงินเดือน 25 เท่า แต่ถ้าจะให้ทหารที่เสียชีวิตเท่ากับ 7.75 ล้านบาท ก็ต้องไปแก้ไขระเบียบตรงนี้ ซึ่งรัฐบาลก็รับปากและทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ชี้แจงรายละเอียดแล้ว ว่าจะดูแลเรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่านำทั้ง 2 เรื่องมาปนกัน แต่ตรงนี้หากถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ในเมื่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม ก็เป็นเรื่องการอนุมมัติของรัฐบาล ที่อยากดูแลผู้สูญเสีย เสียชีวิต ก็ว่าไป ส่วนจะพอใจหรือไม่พอใจก็แล้วแต่ สำหรับคนที่ได้รับเงินจากตรงนี้” ผบ.ทบ.กล่าว

**กห. ไฟเขียวปรับเกณฑ์ทหารภาคใต้

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว. ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เรามีระเบียบที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ภาพการปฏิบัติหน้าที่ภาคใต้เราดูแลทหารของเราในระยะยาว ไม่ใช่การเยียวยาแล้วจบ เราดูถึงบุตร ที่ต้องดูแลให้เรียนจบปริญญาตรี และให้บุตรได้ทำงาน แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมหรือน้อยเกินไป ก็อาจพิจารณาเพิ่มเติมให้ได้

“แต่เรื่องของภาคใต้ ผมก็เห็นด้วย แม้แต่กรณีตากใบก็ต้องเยียวยา ต้องดูครอบครัวเขาด้วยเพราะเขาเสียชีวิตไปโดยเขาไม่ได้มีความผิดอะไร ซึ่งตอนหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเราก็มีนโยบายในการเยียวยาเพื่อสร้างความรัก ความปรองดองให้เกิดกันในชาติ จึงต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นในทางที่ดีกับประเทศ ผมคิดว่าต้องทำ และ ต้องทำไปตามลำดับขั้น ความคิดของแต่ละฝ่ายน่าจะได้นำมาพิจารณา และปรับแผนให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด อย่าเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุม กับ ทหารในภาคใต้ เพราะ ทหารเราจะดูแล หากอะไรที่ไม่เหมาะสม ” พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว

**ผู้เสียหายไฟใต้ตั้งกรอบเดียวกับเสื้อแดง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงการประชุมว่า มีการซักถามและโต้เถียงถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน โดยเฉพาะในส่วนของผู้เสียหายต้องการทราบว่า จะกำหนดกรอบการจ่ายเงินโดยให้เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างปีพ.ศ.ใด เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องมากกว่า 8 ปี จะกำหนดจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ่ายอย่างไร รวมทั้งเสนอว่าต้องการจ่ายให้ครอบคลุมไม่จำกัดวงแค่เหตุการณ์ กรือเซะ และตากใบ นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องจากญาติของข้าราชการตำรวจ ครู รวมถึงชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเรียกร้องว่าพวกเขาก็ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเช่นกัน จึงสมควรได้รับเงินเยียวยาจากรัฐเช่นเดียวกับชาวบ้าน ที่สำคัญจะต้องได้รับการชดเชยเยียวยาในกรอบวงเงินเดียวกับคนเสื้อแดง คือ 7.75 ล้านบาท

ขณะนี้กลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในภาคใต้ พยายามจะติดต่อเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการทั้ง 10 คณะที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อเข้าไปกำหนดหลักเกณฑ์ให้เอื้อประโยชน์กับกลุ่มของตัวเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น