xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นิติเรด” เหิม ห้ามในหลวงมีพระราชดำรัส และอาการเสียสติของ “คอป.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปิยบุตร แสงกนกกุล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่ต้องรอคำทำนายของเด็กชายปลาบู่ ก็รู้ว่าการเมืองปีงูใหญ่จะร้อนแรงขนาดไหน เพราะขนาดยังไม่ทันสิ้นปีกระต่าย เหล่าบรรดา “อนาคอนด้าหางแดง” ทั้งหลายก็ออกมาสำแดงกายพ่นพิษไฟแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเสียแล้ว

ดูได้จากในช่วงเวลาที่ชาวบ้านชาวเมืองเขากำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขบวนการหางแดงทั้งหลายก็ยังไม่หยุดแผนร้ายที่หวังทำลายและสั่นคลอน “สถาบัน” อันเป็นที่รักและเคารพของคนไทยทั้งประเทศให้อ่อนแอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา

โดยเฉพาะที่เหิมเกริมหนักก็เห็นจะเป็นกรณีของ "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่แสดงความเห็นในวงเสนาวิชาการแห่งหนึ่ง ถึงขั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์พระประมุข โดยเสนอห้ามกษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายปิยบุตรอธิบายภาพรวมของอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย โดยชี้ว่า สถานะของสถาบันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้งและฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความคิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย

เพื่อที่จะสร้างและรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ นายปิยบุตรชี้ว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น

นี่คือการเคลื่อนไหวของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่แสดงความคิดเห็นที่เหิมเกริมหนักข้อขึ้นทุกวัน เรียกได้ว่าเป็นนักวิชาการกลุ่ม “นิติเรด” ที่ไม่เคยวิจารณ์ความเลวทรามของระบอบทักษิณ และตัวทักษิณที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างหนัก และวันนี้พวกเขาได้ออกมาสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม ปลุกคนให้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากัน ด้วยมาตรา 112

ซ้ำร้าย ล่าสุด ที่ดูเหมือนจะเพื่อให้กระบวนการแก้ไขมาตรา 112 มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่นำโดย “นายคณิต ณ นคร” ก็เสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมายคุ้มครองสถาบันเช่นเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลเสียยืดยาว แต่ที่น่าสังเกตก็คือข้อเสนอดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์

คำถามที่หลายคนคาใจก็คือ คอป. ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความปรองดอง และหวังยุติปัญหาความขัดแย้งใช่หรือไม่ แต่ทำไมวันนี้กลับมาเสนอแนวทางที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม !?

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังเกตดูหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยและตั้งคำถามว่า งานนี้มีการเขียนบทไว้ล่วงหน้าหรือไม่ เพราะดูเหมือนทุกอย่างมันช่างสอดคล้องกันพอดี เหมือนมีใครจัดฉาก วางแผนงานไว้ทั้งหมด

จนกระทั่ง “หลงจู๊” นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่เคยเป็นนายกฯ เคยนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณมาแล้ว ได้ออกมาเตือนสติว่า “อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอนายกรัฐมนตรีปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนนั้น ห้ามแตะ แตะไม่ได้ คนที่พูดสติดีหรือเปล่าก็ไม่รู้”

หรืออย่างที่ นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ให้ความเห็นกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวว่า ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะแก้มาตรา 112 เพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายหลักของคนกลุ่มนี้คือ เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลิดรอนอำนาจมากกว่า ตนอยากบอกว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็จริง แต่จากการแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ จะพูดถึงแต่คำว่าทำเพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เคยเอ่ยคำว่าระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นก็คือการแสดงออกชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ทุกวันนี้ต้องการล้มล้างกษัตริย์ แต่ไม่กล้าเปิดตัวพูดออกมาตรงๆ

“นายปิยบุตรพูดแบบนี้เหมือนเด็กเมื่อวานซืนที่ไม่รู้จักสังคมไทยหรือเปล่า เพราะแม้ประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พระองค์ท่านก็ไม่เคยประพฤติอะไรที่นายปิยบุตร กล่าวมา แล้วที่ชี้นำในหัวข้อว่าไม่ควรอนุญาตให้กษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะนั้น ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของกษัตริย์ให้ยิ่งกว่านักโทษซะอีก เรียกว่านิติราษฎร์เผด็จการแล้ว ถ้ามีคนออกมาบอกให้นิติราษฎร์หุบปากมั่งล่ะ นายปิยบุตรพูดอย่างนี้พูดจาล่องลอยไม่มีกฎหมายรับรอง กล่าวเท็จ”

ทั้งนี้ นายคมสันกล่าวว่า เรื่องมาตรา 112 ประเด็นปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่ไปละเมิดก็ไม่ผิด ซึ่งประมุขของรัฐสมควรที่จะมีกฎหมายไว้สำหรับคุ้มครอง ถ้าพูดว่ามีคนเป็นเหยื่อในมาตรานี้เยอะ ตนขอบอกว่าคนเป็นเหยื่อคดีอาญาทั่วไปเยอะกว่ามาก จะมีพวกที่ทำผิดในมาตรา 112 สักกี่คน ถ้าแก้ก็ควรแก้ทุกมาตรา ให้มีความเป็นธรรม มาตรา 112 นั้นไม่เกี่ยวเลย

ถามว่า หากไม่ใช่คณะนิติราษฎร์เป็นผู้เสนอการแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือทางสังคมจะสามารถลดแรงเสียดทานได้หรือไม่ อดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า หากเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ที่ดี อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาเสนอก็เห็นควรว่าแก้ได้ แต่ควรแก้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง ไม่ควรเกี่ยวกับบทลดโทษหรือเพิ่มโทษ แต่ถ้าแก้ก็ควรเพิ่มโทษซะด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้มีความคิดไปไกล และเกินกว่าขอบเขตที่มีความพยายามจะแก้มาตรา 112 แล้ว เนื่องจากในเนื้อหามีการกล่าวอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เพิ่งจะถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบัน ช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คล้ายจะเป็นการดิสเครดิตของสถาบัน แต่เชื่อว่ากลุ่มนี้มีความคิดไปไกลกว่านั้น

“ที่จริงแล้วระบบสถาบันมีความผูกพันกับรากฐานความเป็นประเทศไทยมาอย่างช้านาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้สะสมความดีและสร้างอะไรให้กับประเทศไทยมาเกินกว่าจะอธิบาย แล้วสำหรับนายปิยบุตรคนนี้เขาคือใคร เคยทำอะไรให้ประเทศชาติหรือไม่” แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีกล่าว

ทางด้าน พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ให้ความเห็นว่า มาตรา 112 เป็นเรื่องของจิตใจคนไทย อย่าเพิ่งไปยุ่ง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ขอให้ยึดมั่นก็มีแต่ประโยชน์

ในขณะที่ นายบวร ยสินทร แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน บอกว่า อยากจะให้ทางกองทัพหันกลับมาดูสถานการณ์ในสังคม และอย่าปล่อยให้กลุ่มมวลชนมาเผชิญหน้ากันเอง แต่กองทัพควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยใช้อำนาจตามหลักกฎหมายเข้าไปต่อสู้ เช่น การจัดการกับกลุ่มหมู่บ้านเสื้อแดง ที่มีการให้ข้อมูลที่ผิดๆ หรือกลุ่มอาจารย์ที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ใช่รอเวลาให้เรื่องสุกงอม ก่อนใช้กำลังเข้าไปทำปฏิวัติ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าไปตรวจสอบกลุ่มคณาจารย์ที่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 เหล่านี้อีกครั้ง เนื่องจากมีความคิดที่ไปไกลเกินกว่าที่จะรับได้

และแม้กระทั่ง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยกล่าวว่า ในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อยู่ในมาตรา 130-135 ที่บัญญัติในลักษณะเป็นการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ว่าใครจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมิได้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ ดังนั้นถ้ายกเลิก ป.วิ อาญามาตรา 112 ถามว่าเราจะคุ้มครองแต่ประมุขรัฐต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ จะไม่คุ้มครองประมุขรัฐไทยใช่หรือไม่

"ผมเห็นเหมือนกับนักกฎหมายหลายคนที่แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ว่า คนที่คิดจะเลิกมาตรา 112 เขาต้องการที่จะหมิ่นสถาบันโดยไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ ซึ่งกฎหมายอยู่ดีๆ ถ้าเขาไม่ไปหมิ่นก็ไม่มีใครเดือดร้อน"

ทั้งนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 มันก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ด้วย และถ้าเราทำจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกที่ยกย่องประมุขต่างประเทศยิ่งกว่าประมุขของเราเอง แล้วก็จะได้ลงบันทึกในกินเนสส์บุ๊ก

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวสันต์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แก้อย่างไรก็ยังมีช่องน้อยๆ ให้หลีกเลี่ยง หลุดรอดไปได้ เพราะบ้านเราคนที่เลี่ยงกฎหมายเก่งถือว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่ง อย่างภาษีอากรใครที่หลีกเลี่ยงกฎหมายจนทำให้จ่ายภาษีน้อยได้ก็จะถือว่านักกฎหมายคนนั้นเป็นคนที่เก่ง ดังนั้นกฎหมายเขียนอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญถ้าคนมี

คุณธรรมปัญหาก็ไม่เกิด แก้นิสัยของคนดีกว่าแก้กฎหมาย ถ้าคนมีคุณธรรม ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ไม่ต้องแก้กฎหมายมันก็อยู่ได้

“กฎหมายเขียนว่า ผู้ใดฆ่าคนอื่นจะถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีการฆ่ากันทั้งๆ ที่ในหลักพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นบาปหนัก ดังนั้นถ้าทุกคนมีธรรมในใจ ไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้

ก็เหมือนการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ให้ดีอย่างไรก็ยังจะมีคนหลีกเลี่ยงและเอาไปเป็นเครื่องมือตนเอง คนที่เข้าข้างตัวเองก็ถือว่าถูก อย่างนักวิชาการบางกลุ่มเคยพูดเลยว่า ถ้าศาลตัดสินมาอย่างไรเขาไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ซึ่งความเห็นมันก็คือความเห็นที่อาจจะไม่ตรงกันได้ แต่มันอยู่ที่ว่าใครมีหน้าที่อะไร” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็น

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่พูดถึงการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ เตรียมรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า

"ไม่เป็นไร หากคิดได้ก็คิดกันไป ก็ลองดู ถ้าทำได้ก็ทำ ซึ่งคนที่มีความคิดเช่นนี้มีมานานแล้ว และมีหลายส่วนพัฒนามาตามลำดับ มีมาตั้งแต่เด็กๆ คนพวกนี้เขาคิดกว้าง คิดเปิด สมองเขาปลายเปิด แต่ไม่เป็นไร ก็คิดไป แต่อยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาจะว่าอย่างไร ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เขาโอเคก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ต่างชาติชื่นชมที่ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเทศไทยเราเองจะคิดอย่างไรก็คิดเอา"

ทั้งนี้ ผบ.ทบ.บอกว่า เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่าเราจะห้ามไม่ให้มีคนคิด แต่หน้าที่ของเรา เราเป็นทหารรักษาพระองค์ และมีการถวายสัตย์ปฏิญาณทุกปี ทหารมีจิตสำนึกอยู่อย่างหนึ่ง คือทหารอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ซึ่งก่อนที่เราจะมาเป็นประเทศไทย ก็เป็นทหารกันทั้งประเทศ โดยพระมหากษัตริย์รวบรวมทุกคนขึ้นมาแล้วต่อสู้ป้องกันผืนแผ่นดินนี้มา จนถึงทุกวันนี้เราสืบทอดกันมา เราต้องรักษาประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ เพราะเป็นความสง่างามของชาติ เป็นวัฒนธรรม ประเพณี ท่านจะดำเนินการก็ว่ากันไป อย่าทำให้วุ่นวาย เราเคารพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ พ.ศ.2555 แก่ปวงชนชาวไทย ความว่า

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่ร่วมกันจัดงานฉลองอายุครบ 7 รอบ ให้อย่างเหมาะสมงดงาม

“ระหว่างปีที่แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองนับว่าเป็นปรกติดี แต่พอเข้าปลายปี ก็เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ประชาชนหลายจังหวัด ต้องประสบอันตราย และความเดือดร้อนลำบาก ความเสีย

หายครั้งนี้ ดูจะร้ายแรงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจอย่างสำคัญ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาเนืองๆ

ไม่มีผู้ใดจะอยู่เป็นปรกติสุขอย่างเดียวได้ ทุกคนจึงต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อเผชิญและป้องกันแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล

ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม

“ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานทั้งนั้นจะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบแต่ความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองดำรงมั่นคง และก้าวหน้าต่อไปด้วยความผาสุกสวัสดี

“ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน"

ทั้งนี้ พระองค์ยังพระราชทาน ส.ค.ส. มีข้อความจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ความว่า

“ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลาย มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น”

หากประชาชนทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อม และนำไปประพฤติปฏิบัติโดยทั่วกัน เชื่อว่าบ้านเมืองก็จะมีแต่ความผาสุก ไม่เกิดความแตกแยกและวุ่นวาย อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
นายคณิต ณ นคร



กำลังโหลดความคิดเห็น