xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ชี้มติ “ครม.ปู” ปล้นภาษีจ่ายม็อบแดงผิด กม.ชัด-แนะฟ้องศาลปกครองยับยั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” ชี้มติชดเชยม็อบแดงเหยียบย่ำหลักนิติรัฐ ศาลยังไม่ตัดสิน จนท.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ “ครม.ปู” ไม่มีสิทธิออกมติจ่ายเงินให้พวกเดียวกันเอง ต่างจากกรณีชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่แล้ว แนะประชาชนผู้เสียหายฐานโดนปล้นภาษีไปให้พวกเผาเมือง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองยับยั้งมติ ครม.บัดซบ ด้าน “ส.ว.สมชาย” เผยเสื้อแดงเตรียมเคลื่อนไหวรอบใหม่หลายพื้นที่ หากถูกขัดขวางให้เผาได้เลย โดยยกมติเยียวยา 7.75 ล้าน เป็นสัญญาจ้างล่วงหน้า



วันที่ 12 ม.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายประพันธ์กล่าวว่า จากการศึกษามติ ครม.ที่ให้จ่ายค่าเยียวยาแก่ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมนั้น มีการอ้างผลการศึกษาของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) เพื่อที่จะมีการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชน โดยมติ ครม.ดังกล่าวพยายามจะให้ครอบคลุมการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กัยายนมาจนถึงการชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดง ทำให้คนทั่วไปแยกแยะไม่ค่อยออกว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ มีเหตุผลที่ต่างจากคนเสื้อแดงอย่างไร

ประเด็นสำคัญคือ มติ ครม.ดังกล่าวให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตาย 4.5 ล้านบาทต่อราย ค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท มีเงินชดเชยกรณีทุพลภาพสูญเสียอวัยวะเกือบเท่าเสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาล มีการเยียวยากรณีถูกจับกุมคุมขัง มีการชดเชยเยียวยาทางจิตใจอีก เป็นต้น แต่ทั้งหมดไม่รวมกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นทำนองเดียวกันเช่นกรือเซะ ตากใบ

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ประเด็นหลักที่อยากจะพูดคือ นี่เป็นการเหยียบย่ำหลักนิติธรรม-นิติรัฐ กระทืบเหยียบย่ำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักขื่อแปของบ้านเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่เคยมีรัฐบาลบัดซบที่ไหนกล้าออกมติ ครม.เช่นนี้ เพราะเมื่อพิจารณาหลักการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมด เป็นการเอามาจากหลักการชดเชยตามประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด มาตรา 420 มีค่าชดเชยการเสียชีวิต ค่าปลงศพ ชดเชยรายได้ให้ถึง 30 ปี ก็เป็นไปตามมาตรานี้ แต่กรณีการชุมนุมคนเสื้อแดง ต้องมีความชัดเจนก่อนว่ารัฐเป็นผู้กระทำละเมิดต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย การที่รัฐสั่งเจ้าหน้าที่ออกมาปราบปรามการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและเผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลได้ทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่มีการวินิจฉัยหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่ารัฐได้กระทำความผิดฐานละเมิดต่อประชาชนหรือไม่ ยังไม่มีการชี้ขาดว่าคนที่เจ็บตายเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุและผิดกฎหมายหรือไม่

นายประพันธ์กล่าวอีกว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีสิทธิที่จะวินิจฉัยกรณีนี้ เพราะเป็นรัฐบาลที่มีส่วนได้เสียกับคนเผาบ้านเผาเมือง เป็นรัฐบาลของพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้วมาตัดสินเอง เอาเงินภาษีงบประมาณมาจ่ายให้พวกเดียวกันเอง มันผิดหลักการบริหารบ้านเมือง การจะจ่ายเงินชดเชย ต้องมีความชัดเจนก่อนว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตัดสินออกมา และมีประเด็นต้องพิจารณาต่อว่า มติ ครม.ที่ให้จ่ายเงินชดเชยครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากผิดกฎหมาย ประชาชนผู้เสียภาษีมีสิทธิที่จะยื่นร้องต่อศาลปกครองให้ระงับจ่ายเงิยชดเชยได้ เนื่องจากเป็นผู้เสียหายจากการที่รัฐบาลปล้นเอาเงินภาษีไปจ่ายให้พวกเดียวกันเองที่เผาบ้านเผาเมือง ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากมติครม.ที่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงสามารถฟ้องร้องได้

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามโยงเอาการชุมนุมของพันธมิตรฯ มาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งที่การชุมนุมของพันธมิตรฯ แตกต่างจากคนเสื้อแดงโดยสิ้นเชิง กรณี 7 ตุลาฯ ที่มีคนเจ็บ-ตาย หรือกรณีประชาชนชุมนุมอยู่แล้วมีคนมาทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ ประชาชนชุมนุมอยู่โดยความสงบ ไม่ได้ทำลายทรัพย์สินราชการ ไม่ได้เผาบ้านเผาเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิที่จะไปฆ่าประชาชน เรื่องนี้กรรมการสิทธิมนุษยชน และ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการชี้มูลแล้วว่าใครมีความผิดอย่างไรบ้าง อย่างนี้ถ้าจะมีการชดเชยถือว่ามีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดง ประชาชนทั้งบ้านทั้งเมืองเห็นหมดว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย มีการซ่องสุมกำลังอาวุธยิงประชาชน ใช้ความรุนแรง มีการเผาสถานที่ราชการ ศูนย์การค้าของประชาชน ผู้ชุมนุมมาร่วมทั้งที่รู้ว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เท่ากับว่าประสงค์ที่จะรับความเสี่ยงที่จะเป็นผู้กระทำความผิดด้วยตัวเอง ซึ่งในทางกฎหมายแล้วผู้ที่กระทำความผิดละเมิดผู้อื่นไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

นายประพันธ์ย้ำว่า เมื่อดูในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มติ ครม.ครั้งนี้จึงเป็นมติ ครม.ที่ผิดกฎหมาย ชอบที่ประชาชน ส.ส. ส.ว. หรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย สามารถผ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ ครม.นี้ได้ เพราะมันไม่มีพื้นฐานทางข้อกฎหมายหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีมารองรับได้เลย ไม่เช่นนั้นแล้วต่อไป ถ้ามีการเจ็บการตายก็ต้องชดเชยกันทุกคนโดยไม่มีการแยกแยะว่าการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า น่าเสียดาย ดร.คณิต ณ นคร ซึ่งเป็นประธาน คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ไม่ยอมออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับมติ ครม.จ่ายเงินเยียวยาให้พวกเสื้อแดง ซึ่งรัฐบาลเอารายงานของ คอป.มาอ้าง การนิ่งเงียบเท่ากับท่านสมยอม และแสดงว่าเห็นด้วยกับเขาใช่หรือไม่

แม้ในรายงาน คอป.แค่เสนอว่าต้องให้ความเป็นธรรม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะเยียวยาอย่างไร บรรเทาแค่ไหนเพียงไร แต่แน่นอนเมื่อเขาเอารายงานมาอ้าง อ้างว่าท่านเสนอ ทำไมท่านไม่ยอมพูด เท่ากับเห็นด้วยกับมติ ครม.อันนี้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ถ้าท่านทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความถูกต้อง อยากให้ลาออกมา ในเมื่อถูกแวดล้อมไปด้วยคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปล่อยให้พวกเขามาจูงจมูกทำไม อันนี้เป็นการทำลายหลักการ ทำลายขื่อแปอย่างชัดเจน โดยใช้ ดร.คณิต เป็นเครื่องมือ

นายสมชายกล่าวว่า เห็นด้วยว่า ดร.คณิต ควรพูดอะไรบ้าง ท่านอาจหวังดีว่านี่คือแนวทางการปรองดอง ในคณะกรรมการนั้นมีคนหลายส่วน แต่ฝ่ายหนึ่งหยิบเอาเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์ โดยอาศัยแค่ว่าต้องมีการเยียวยา แต่เสนอตัวเลขมากกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ ดร.คณิตเป็นนักกฎหมายใหญ่ เป็นอดีตอัยการสูงสุด ควรออกมาแย้ง ฉะนั้นตรงนี้มันจะติดตัวและต้องรับผิดชอบ ไม่น่าปล่อยให้เขาใช้เป็นเครื่องมือ สิ่งที่ คอป.พยายามเดินหน้าต่อ ต้องมีหลักให้ทุกคนรู้สึกว่าท่านได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ

“ดูเหมือนมีการเตรียมการอะไรลึกๆ ที่จะเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง เช่นเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 การเตรียมออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการข่าวระบุว่ามีการประชุมกลุ่มมวลชนและแกนนำในบางพื้นที่ ว่าหากเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว แล้วมีการขัดขวาง แม้กระทั่งรัฐประหาร ให้เตรียมเผา นั่นแสดงให้เห็นว่ามันออกมาใกล้เคียงกัน เหมือนเป็นการทำสัญญาจ้างล่วงหน้าหรือไม่ ส่วนการเยียวยานั้น ตัวเลขก็ไปสอดคล้องกับตอนที่รัฐบาลได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ ประกาศตัวเลขชดเชยคนละ 10 ล้าน ก็ไม่ได้หนีไปจากสิ่งที่เป็นสัญญาณ ว่าจะนำไปสู่ความไม่ปกติ” นายสมชายระบุ

นายประพันธ์กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงของประเทศ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ตาม มักประเมินเรื่องเหล่านี้ต่ำ การที่ ครม.มีมติแบบนี้เป็นการยึดมวลชนให้เหนียวแน่น และสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่นของหัวขบวน ในการเคลื่อนไหวมวลชนเสื้อแดง เมื่อสามารถสนองความต้องการคนของพวกเขา ไม่ว่าจะเจ็บจะตาย การเรียกร้องทางการเมือง เขาจะออกมาทำหมด ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ได้ใจมวลชน มวลชนจะมีความสวามิภักดิ์ จงรักภักดี และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองถึงจุดแตกหัก ก็จะปลุกระดมคนพวกนี้ให้ลุกฮือขึ้น ซึ่งเขามีเป้าหมายที่ใหญ่ วันหนึ่งข้างหน้าเขาต้องยึดกุมอำนาจการปกครองประเทศให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับประเทศโดยไม่มีความผิด และมีอำนาจเป็นใหญ่เหมือนเดิม ทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้เงินตัวเองเลย แต่ปล้นเงินแผ่นดินไปฟาดหัวคนที่รับใช้เขา

ทุกขบวนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณชุบเลี้ยงไว้เขาปล่อยให้เดิน ถ้าอ้างว่าจงรักภักดี แต่ทำไมไม่สั่งให้พวกจาบจ้วงสถาบันฯ หยุดการกระทำ กลับหนุนหลังตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เป็นการแยกกันเดิน รวมกันตี จะเลือกใช้เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป เขาคิดการณ์ใหญ่ ถึงเวลาก็จะลุกฮือมวลชน เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครอง ล้มสถาบันอื่นๆ ให้เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจ

นายสมชายกล่าวเสริมว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวร่วมกัน แยกกันเดินร่วมกันตี ก็มีส่วนหนึ่งมองเรื่องมาตรา 112 แม้ ร.ต.อ.เฉลิมออกมาไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายของนิติราษฎร์สายอาจารย์ทั้งหลายแหล่ ก็คิดเรื่องนี้ โดยพวกเขาจะเคลื่อนไหวหลัง 15 ม.ค.นี้ ความพยายามตรงนี้ไม่ได้หมดไป คิดว่าพวกเขาต้องการเขย่าสถาบัน ไม่ว่าจะพยายามเสนอลดโทษ หรือตอนนี้พยายามไปชักจูงกองทัพ และราชนิกุลให้เป็นผู้เสนอซะเอง แต่ตอนนี้ตนทราบว่าการชักจูงนั้นไม่น่าจะสำเร็จ เพราะหลายท่านก็ทราบแล้วว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร เพราะมีการอ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทำนองว่าพระองค์ก็ไม่ปรารถนาให้ลงโทษคนที่วิจารณ์กษัตริย์ ซึ่งพวกตนก็เดินหน้ายืนยันว่ากฎหมายไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องแก้ไข

นายสมชายกล่าวต่อว่า ตนขอเล่าถึงการได้พบกับนายแฟรงค์ ลารู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพด้านการแสดงออก ที่เขียนเรื่องว่าต้องแก้มาตรา 112 และได้พูดคุยเรื่องนี้กัน สรุปนายแฟรงค์เข้าใจมากขึ้น เขาบอกว่าเขาได้ข้อมูลข้างเดียวมานาน ถึงกับพูดว่าตัวเขาเป็นเหยื่อทางการเมือง และตนหวังว่านายแฟรงค์จะเข้าใจว่ากฎหมายไม่มีความผิด ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เกิดจากคนที่อาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ

นายประพันธ์กล่าวว่า ประเด็นเห็นต่างไม่แตะมาตรา 112 เป็นการเดิน 2 แนวทางของพวกเดียวกัน เพราะฝ่ายของ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางกาเมือง ถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เขาสามารถขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าการแก้นั้นมีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอไม่ได้ มาตรา 8 ถ้าเสนอเรื่องอันมีผลกระทบสถาบันกษัตริย์ มันเสนอไม่ได้อยู่แล้ว นักการเมืองพวกนี้รู้ดี เลยบอกจะแก้รัฐธรรมนูญแต่ไม่แตะมาตรา 112 แต่ก็ปล่อยขบวนการแก้มาตรา 112 เดินต่อไป แล้วหลับตาข้างหนึ่ง แต่หนุนหลังอยู่

ตนอยากจะบอกพวกนักวิชาการ และราชนิกุลที่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ว่าอันนี้ไม่ใช่เป้าหมายของพวกนั้น แต่เป็นวิธีการนำไปสู่การล้มล้างสถาบันฯ อ่านดูเจตนารมณ์พวกนั้น วันที่ 15 ม.ค.จะเริ่มรณรงค์แก้มาตรา 112 และใช้โอกาสนี้จัดงานครบรอบ 100 ปี กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งกบฏ ร.ศ. 130 ก็คือกบฏล้มล้างสถาบันฯ เมื่อปี 2455 แต่ทำไม่สำเร็จ นิติราษฎร์เลยหวังสืบทอดเจตนารมณ์กลับมาทำให้สำเร็จ ด้วยการเคลื่อนไหวบ่อนเซาะสถาบันฯ ไปเรื่อยๆ เพื่อไปสู่วันข้างหน้าเมื่อเป้าหมายใหญ่มาถึง

พวกนี้รณรงค์เพื่อล้มเจ้าแต่พูดตรงๆ ไม่ได้ เลยอ้างต้องแก้มาตรานี้ นี่คือขบวนการหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณชุบเลี้ยงเอาไว้ ตนจึงอยากเตือนนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อแก้มาตรา 112 ว่าจะไปเป็นแนวร่วมเขาโดยไม่รู้ตัว ทางที่ถูกไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย นิติราษฎร์มันเป็นกลุ่มการเมือง ไม่ใช่นักกฎหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น