xs
xsm
sm
md
lg

เผยตัวเลขเยียวยาไฟใต้ ตร.-ทหารดับ ชดเชยไม่เกินรายละ 2 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกวัน ส่งผลให้มีผู้ัเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
เผยตัวเลขเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารได้ชดเชยรวมรายละ 1.57-2.07 ล้าน ตำรวจได้เฉลี่ยรายละ 1.18 ล้าน ครูได้รวมรายละ 6 แสนเศษ ส่วนประชาชนผู้ช่วยเหลืองานราชการ-ผู้นำศาสนาได้เฉลี่ยรายละ 3.76 แสน แกนนำครู-เมียทหารประสานเสียง “รัฐอย่าสองมาตรฐาน”

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา (ISRANEWS) รายงานว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 ที่อนุมัติงบประมาณถึง 2,000 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี ครอบคลุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเบ็ดเสร็จรายละ 7.75 ล้านบาท และยังชดเชยรวมไปถึงผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังด้วยนั้น ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเท่าเทียมกันกับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดความรุนแรงมานานกว่า 8 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 5,243 ราย บาดเจ็บอีก 8,941 ราย (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2554)

จากการตรวจสอบของ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” พบว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีรายละเอียดแยกตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้

กรณีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต

- ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว กำนัน/สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสารักษาดินแดน (อส.) แพทย์ประจำตำบล และนักการเมืองท้องถิ่น

- ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ของรัฐบาล เบิกจ่ายโดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักงานจังหวัด รายละ 500,000 บาท

- ค่าจัดการศพจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท สมาชิกครอบครัวรายละ 25,000 บาท

- เงินช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายละ 20,000 บาท

รวมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตจะได้รับเงินในส่วนนี้เฉลี่ยรายละ 570,000 บาท

เงินเพิ่มพิเศษของข้าราชการพลีชีพ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้าราชการและเจ้าหหน้าที่รัฐยังได้รับเงินช่วยเหลือจากต้นสังกัดในอัตราที่แตกต่างกันไป แล้วแต่หลักเกณฑ์ที่ต้นสังกัดกำหนด สรุปได้ดังนี้

- ทหาร ได้รับเงินตามโครงการประกันชีวิตของกระทรวงกลาโหมสำหรับทหารทุกนาย ทุกชั้นยศ รายละ 500,000 บาท เฉพาะกองทัพบกมีเงินประกันชีวิตแยกต่างหากอีก แยกเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรรายละ 1,000,000 บาท นายทหารชั้นประทวน (นายสิบ) รายละ 800,000 บาท พลทหารและอาสาสมัครทหารพราน รายละ 500,000 บาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินกองทุนฯของรัฐบาล ทหารที่เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นเฉลี่ยรายละประมาณ 1,570,000 บาท ถึง 2,070,000 บาท โดยไม่รวมเงินบำเหน็จบำนาญ (คิดตามอายุราชการและตามชั้นยศ) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินเพิ่มเพื่อการสู้รบ (พ.ส.ร.)

- ตำรวจ ได้รับเงินเพิ่มพิเศษจากกองทุนสวัสดิการตำรวจรายละ 200,000 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ (กรณีเป็นสมาชิก) รายละ 350,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพกรณีกระทำหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร รายละ 7,000 บาท เงินช่วยเหลือจากสมาคมแม่บ้านตำรวจ รายละ 10,000 บาท เงินสงเคราะห์ศพจากกองบัญชาการในพื้นที่ (ปัจจุบันคือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.) รายละ 60,000 บาท และเงินจากมูลนิธิสายใจไทย รายละ 30,000 บาท (ทั้งสิ้น 7 รายการนับรวมเงินช่วยเหลือหัวหน้าครอบครัวจาก ปภ.)

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินกองทุนฯของรัฐบาล ตำรวจที่เสียชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จะได้รับเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 1,182,000 บาท ไม่รวมเงินบำเหน็จบำนาญและเงิน พ.ส.ร. แต่ถ้าเป็นพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เงินช่วยเหลือรายละ 560,000 บาท

- ข้าราชการครู ได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติมจากกองทุนเสมาห่วงใยร้อยใจสู่สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายละ 50,000 บาท เมื่อนำไปบวกกับเงินกองทุนฯของรัฐบาลและการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน 570,000 บาท รวมแล้วได้รับรายละ 620,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินช่วยเหลือที่มอบให้เป็นการส่วนตัว เช่น จากรัฐมนตรี หรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

กรณีประชาชนเสียชีวิต

ตามระเบียบของกองทุนฯ แยกเป็น

1. ประชาชนผู้ช่วยเหลืองานราชการ และผู้นำศาสนา

- ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯของรัฐบาล รายละ 200,000 บาท

- ค่าจัดการศพจาก ปภ. หัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท สมาชิกครอบครัว รายละ 25,000 บาท
- เงินช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายละ 20,000 บาท
- เงินช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รายละ 100,000 บาท
- เงินสงเคราะห์ครอบครัว รายละ 6,000 บาท

รวมได้รับเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 376,000 บาท

2. ประชาชนทั่วไปและข้าราชการบำนาญ

- ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯของรัฐบาล รายละ 100,000 บาท
- ค่าจัดการศพจาก ปภ. หัวหน้าครอบครัวรายละ 50,000 บาท สมาชิกครอบครัว รายละ 25,000 บาท
- เงินช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายละ 20,000 บาท
- เงินช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รายละ 100,000 บาท
- เงินสงเคราะห์ครอบครัว รายละ 6,000 บาท

รวมได้รับเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 276,000 บาท

กรณีได้รับบาดเจ็บ

- ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย หากพิการหรือทุพพลภาพได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 763,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 306,000 บาท บาดเจ็บทั่วไป 65,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 15,000 บาท

- ประชาชนผู้ช่วยเหลืองานราชการและผู้นำศาสนา หากพิการหรือทุพพลภาพได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 343,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 306,000 บาท บาดเจ็บทั่วไป 65,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 15,000 บาท

- ประชาชนทั่วไปและข้าราชการบำนาญ พิการหรือทุพพลภาพได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 343,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 306,000 บาท บาดเจ็บทั่วไป 65,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 15,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีเงินยังชีพรายเดือนสำหรับบุตรของผู้เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บสาหัส เป็นเงินที่เบิกจ่ายโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เฉลี่ยคนละ 1,000-2,500 บาทต่อเดือนตามระดับชั้นการศึกษา และทุนการศึกษาเป็นรายปี เบิกจ่ายโดยกระทรวงศึกษาธิการ เฉลี่ยรายละ 5,000-20,000 บาทตามระดับชั้นการศึกษาเช่นกัน

แกนนำครู-เมียทหารประสานเสียง “รัฐอย่าสองมาตรฐาน”

จ่าโทหญิงมุสลิมรายหนึ่งซึ่งได้เข้ารับราชการแทนสามีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2550 กล่าวว่า ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาในขณะนั้น 1,200,000 บาท ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่คุ้มกับความสูญเสียหัวหน้าครอบครัว ตัวเธอเองเป็นแม่บ้าน ทำอะไรไม่เป็นเลย เมื่อต้องสูญเสียสามีรู้สึกเหมือนลอยคออยู่กลางทะเล ต้องเลี้ยงลูกอีก 2 คน ตอนที่สามีเสียชีวิตนั้นลูกคนเล็กเพิ่งอายุได้ 12 วัน

“หลังจากได้ทราบข่าวรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองถึง 7.5 ล้านบาท มองว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐาน และยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่รัฐไม่ให้ความสำคัญ ดูแลเหมือนให้พ้นๆ ไป ไม่ได้จริงจังอะไร ทั้งๆ ที่สามีทำงานให้รัฐมานาน งานก็เสี่ยง ช่วยเหลือราชการทุกอย่าง แต่กลับต้องมาจบชีวิต ลง ยังดีที่ฉันได้เข้ารับราชการแทนสามี แต่ก็เป็นการช่วยเหลือของผู้บังคับบัญชาในหน่วย ไม่ใช่จากรัฐบาล”

สำหรับจ่าโทหญิงรายนี้ การสูญเสียสามีกระทบกับสภาพจิตใจอย่างมาก และจะมีอาการช็อคทุกครั้งที่รู้สึกเครียดหรือพูดถึงเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีต ปัจจุบันต้องเข้ารับการรักษาสภาพจิตใจอย่างต่อเนื่องจากจิตแพทย์

นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรทำให้รู้สึกสองมาตรฐาน เพราะครูในพื้นที่ก็ทำงานเพื่อแผ่นดินเช่นกัน ข่าวที่ออกมาเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองจะเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่ต่างกันอย่างมาก ขณะที่ครูบางคนที่ได้รับบาดเจ็บล้มตายยังไม่ได้เงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว บางคนได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับได้รับถึง 7 ล้านบาท

“ถือเป็นสองมาตรฐานที่ห่างกันลิ่ว ครูในพื้นที่ก็ทำงานเพื่อแผ่นดินเหมือนกัน ให้การศึกษาแก่เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่อันตราย และต้องมาสังเวยชีวิต คิดว่ารัฐควรหันมาดูแล” นายบุญสม ระบุ

ชาวบ้านครวญถูกยิงแต่รอดตายได้ไม่ถึง 3 หมื่น

ยังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่งที่แม้รอดชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงมาได้ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ เช่น นายแวมะแซ อาเยาะแซ ชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อปี 2552 จากนั้นก็เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้เงินเยียวยาเบื้องต้น 10,000 บาท จากนั้นทางจังหวัดก็ให้อีก 17,000 บาท รวมเป็น 27,000 บาท และได้แค่นั้น ไม่ได้อะไรอีกเลย

“พอออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ได้อะไร ทั้งๆ ที่ยังมีอาการข้างเคียง ไปทำงานที่ไหนก็ไม่ได้ ต้องไปอาศัยปอเนาะอยู่ เพราะไม่มีบ้านอยู่ ทำให้คนในครอบครัวเครียด ภรรยาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแทนผม สุดท้ายภรรยาเครียดจนต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทุกวันนี้ต้องอาศัยเงินบริจาคจากชาวบ้านที่มาเยี่ยมเยียน” นายแวมะแซ กล่าว

อนึ่ง กรณีผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นประชาชน ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ว่าต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และพนักงานฝ่ายปกครอง ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบหรือไม่ หากทั้ง 3 ฝ่ายรับรอง ก็จะได้รับเงินเยียวยาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีทันที แต่หากไม่รับรองหรือรับรองไม่ครบ ก็จะได้รับเงินเพียงบางส่วนก่อน โดยรอผลการสอบสวนคดีจากพนักงานสอบสวน หากผลการสอบสวนสรุปว่าไม่ใช้เหตุการณ์ความไม่สงบ ทางราชการก็จะหยุดให้ความช่วยเหลือทันที

“กรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้” ประชุมนัดแรกวางกรอบช่วยเหลือ

ประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นแนวคิดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลช่วยเหลือครอบคลุมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติตั้งคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป. มีภารกิจด้านหนึ่งคือพิจารณากรอบและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตามข้อเสนอของ คอป. จึงเป็นที่มาของมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 ที่อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี

ส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2554 เห็นชอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 197/2554 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่นที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากในและนอกพื้นที่อีก 29 คน

วันพฤหัสบดีที่ 12 ม.ค. คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประชุมกันนัดแรกที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และกรอบการเยียวยาที่จะจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

พล.ต.อ.ประชา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ก่อนเริ่มประชุมว่า จะมีการตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายละเอียดของเหตุการณ์มาก และมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ทำสองมาตรฐาน หรือละเลยที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันว่าผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มจะได้รับความช่วยเหลือ รัฐบาลไม่ทอดทิ้งแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น