xs
xsm
sm
md
lg

หน.การ์ดแดงติงรบ.เยียวยา8ล.น้อยไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-โฆษกพันธมิตรฯ อัดรัฐบาลจ่ายเยียวยา"เสื้อแดง" แต่เอาพันธมิตรฯบังหน้า เพราะกลัวถูกหาว่าเลือกปฏิบัติ เมินกรณีฆ่าตัดตอน-มัสยิดกรือเซะ ด้านหน.การ์ดแดง บอกได้เกือบ 8 ล้าน น้อยไปควรได้ 10 ล้าน "ยุทธศักดิ์" เล็งขอปรับเงินชดเชยให้ทหารที่เสียสละเพื่อชาติในพื้นที่ภาคใต้เพิ่ม

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2553 ว่า ประการแรก กรณีที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเยียวยาในอัตราที่สูงนั้น เราไม่ให้ความสำคัญเรื่องเงินเท่าไร แต่เราสนใจเรื่องหลักการสำคัญว่า รัฐบาลทำไมถึงเยียวยาเฉพาะคนสองกลุ่มนี้ เพราะเกรงว่าหากใช้หลักการนี้ อาจจะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 49-54 เท่านั้น ปัญหาคือถ้าจะยึดหลักกรณีที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ ก็ต้องไม่ลืมว่า ในทางปฏิบัติยังมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการรุนแรงหลายเหตุการณ์ อาทิ พฤษภาทมิฬ, 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, การฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด ตลอดจนเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับเงินชดเชยเยียวยาครั้งนี้ ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง แม้จะมีกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยก็ตาม แต่คิดว่านี่คือข้อแอบอ้างทางการเมือง ที่แท้จริงแล้วน่าจะมีเหตุผลในการช่วยเหลือคนเสื้อแดงเป็นหลัก เพราะถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจจริงๆ ก็ต้องไปเยียวยาผู้บริสุทธิ์อื่นๆ ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ประการที่สอง กรณีนี้แม้รัฐบาลจะเสนอ แต่ก็ต้องดูผู้ที่ได้รับประโยชน์ด้วย ว่าคนเหล่านี้พร้อมได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ เพราะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องพันธมิตรฯ ที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ก็มีผู้ที่บริจาคโดยตรง ซึ่งคนเหล่านี้เคยสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา แต่ในทางตรงกันข้าม ในลักษณะเดียวกันนี้ ในปี 51 ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เคยมีการจัดสรรเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ปรากฏว่า มีประชาชนที่เป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หลายคนปฏิเสธที่จะรับการเยียวยาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะถือว่ารัฐเป็นคู่กรณีโดยตรง ซึ่งก็มีบางส่วนที่จะไปรับในลักษณะของการเยียวยา แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความพึงพอใจของผู้ได้รับผลกระทบด้วย โดยพันธมิตรฯจะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการตัดสินใจผู้ชุมนุมเลย และครั้งนี้ก็น่าจะเป็นภายใต้หลักการเดียวกันกับปี 51 เพราะทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีผู้บริจาคช่วยเหลืออยู่แล้ว

“เหตุการณ์ มัสยิดกรือเซะ และฆ่าตัดตอนยาเสพติด เกิดขึ้นในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่เคยมีใครคิดจะเยียวยาในลักษณะเงินชดเชยให้ทัดเทียมกัน เพื่อเป็นมาตรฐานเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า รัฐบาลจงใจที่จะช่วยเหลือผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งหลักการนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องตอบคำถามให้ชัดเจน" นายปานเทพ กล่าว

** 8 ล้านน้อยไป ขอ 10 ล้าน

นายอารีย์ ไกรนรา เลขานุการ รมว.มหาดไทย และอดีตหัวหน้าการ์ด กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) กล่าวถึงจำนวนเงินเยียวยา ที่ครม.อนุมัติให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต รายละ 4.5 ล้านบาท พร้อมเงินเยียวยาความรู้สึกของครอบครัว 3 ล้านบาท และเงินค่าทำศพอีก 2.5 แสนบาท ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากนั้น ตนเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศไว้ว่าจะได้รับการชดเชยรายละ 10 ล้านบาท แต่ก็ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ ได้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จากการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว

วงเงินดังกล่าว ถือว่า ไม่มาก เมื่อเทียบกับชีวิตของคนหนึ่งคน ที่บางคนอาจเป็นหัวหน้าครอบครัว อีกทั้งเกณฑ์เยียวยาดังกล่าว อาจเป็นบรรทัดฐาน หากรัฐบาลในอนาคตใช้อาวุธออกมาทำร้ายประชาชนเสียชีวิต จะได้เงินจำนวนนี้เช่นกัน

**'มาร์ค' ติงกรอบเยียวยาแคบไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงงบเยียวยาผูเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองที่ตั้งไว้ 2 พันล้านบาท ว่า เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ตนเข้าใจถึงหลักคิดที่ว่า บุคคลเหล่านี้เป็นเหยื่อของสถานการณ์ และเกิดความสูญเสีย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการมองอีก 2 ประเด็น กล่าวคือ

1. ประชาชนที่สูญเสีย และเป็นเหยื่อจากอีกหลายเหตุการณ์ อาจจะไม่ใช่เรื่องการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง แล้วกลุ่มเหล่านี้จะได้การพิจารณาด้วยหรือไม่ การสูญเสียที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริง ๆ แล้ว ถ้าถามว่าตรงนั้น เป็นการต่อสู้ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า ก็อาจจะใช่ แต่เหตุใด มาเจาะจงเฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมในส่วนนี้
2. มีการขีดเส้นเหตุการณ์อยู่ที่ปี 2548 - 2553 ดังนั้น หลายคนที่มีความสูญเสียในช่วงปี 2535 ปี 2516 ปี 2519 ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ ก็เคยร้องเรียนมาโดยตลอดเช่นกัน จึงเกิดคำถามว่า ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ด้วยหรือไม่ และในหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และอาจได้รับการเยียวยา คงต้องดูข้อเท็จจริงด้วยว่า คนเหล่านี้มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์ แล้วตกเป็นเหยื่อ ก็คงไม่ติดใจ แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น ทำผิดในเรื่องอื่นๆ เช่น วางเพลิง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ อาวุธสงคราม ก็ต้องถามว่า เราควรจะต้องใช้หลักเกณฑ์กับคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่

"ผมคิดว่า ตรงนี้ยังมีคำถามที่รอคำตอบอีกเยอะ แล้วก็ในที่สุด กลไกที่จะนำไปปฏิบัติในที่จะเยียวยาตามหลักเกณฑ์นี้ คงต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ มิเช่นนั้นก็จะมีกระบวนการปัญหาของการเรียกร้องที่ตามมาอย่างไม่จบไม่สิ้นเหมือนกัน หรือการที่จะแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ทำผิดกม.ไม่ควรได้เยียวยา

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.โฆษกครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ครม.เงายังไม่เห็นด้วยกับมติครม. ในการอนุมัติเงินเยียวยาให้ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย เช่นในกรณีของคนเจ็บ หรือทุพพลภาพ ซึ่งศาลมีคำสั่งภายหลังว่า เป็นผู้กระทำความผิด หากเป็นไปตามมติครม. กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาด้วย ทั้งที่ไม่สมควรจะได้รับ ตัวอย่างเช่น กรณีการประกอบระเบิดที่ สมานเมตตาแมนชั่น แล้วเกิดระเบิด ก็ไม่สมควรได้ เพราะมีส่วนร่วมในการประกอบระเบิด หรือกรณีการจะยิงวัดพระแก้ว แล้วพลาดไปโดนกระทรวงกลาโหม แต่ถ้าในเกณฑ์ของมติครม. คนเหล่านี้ก็จะได้รับการเยียวยาด้วย

** เล็งปรับเงินชดเชยให้ทหาร

พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ครม. อนุมัติจ่ายเงินชดเชย ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548- 2553 ว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง และถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสียบุคลากร และบุคคลภายในครอบครัว อย่างน้อยจะได้ช่วยจรรโลงให้ครอบครัวสามารถต่อสู้ชีวิตได้

ทั้งนี้ มีบางครอบครัวได้เดินทางมาร้องเรียนกับกระทรวงกลาโหม และตนได้บอกไปว่า ขณะนี้ได้รับการเยียวยาแล้ว ส่วนจะพอใจแค่ไหน ก็ยังสามารถช่วยบรรเทาได้ดียิ่งขึ้นต่อไป เมื่อถามว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เพราะเป็นผู้นำประชาชนมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่นำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายเพียงอย่างเดียว พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้วในการเยียวยาประชาชน ซึ่งหลังจากนั้น จะเกิดความรักใคร่ปรองดอง อะไรที่เป็นปัญหาอยู่ ก็จะแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอนไป

เมื่อถามว่า การเยียวยาครั้งนี้ จะทำให้เกิดความปรองดองได้หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนขั้นหนึ่งในการดูแลครอบครัวของผู้ ที่มีความทุกข์โศก ขาดที่พึ่ง

เมื่อถามว่า การเยียวยาครั้งนี้ จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องคดี 91 ศพ ยุติลงหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าหากบางคนพอใจ ก็จะทำให้ปัญหาลดลงไปมากกว่าปล่อยทิ้งคาไว้แบบนี้ เมื่อถามว่า มีทหารเสียชีวิตเพื่อชาติ โดยเฉพาะทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังได้เงินชดเชยน้อยกว่าคนที่เสียชีวิตเพื่อนักการเมือง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดู แต่ข้าราชการทหารที่เสียชีวิต มีระเบียบกฎเกณฑ์ของการเสียชีวิตอยู่แล้ว รวมถึงการดูแลบุตร ทั้งเรื่องด้านการศึกษา ที่กองทัพมีระเบียบในเรื่องนี้ดูแลอยู่ แต่ทุกอย่างต้องได้รับการเยียวยาทุกคน ส่วนจะได้มากน้อย มันมีขั้นตอนอยู่ ทุกครอบครัวหากมีปัญหา กองทัพก็ยังดูแลอยู่ รวมถึงองค์การทหารผ่านศึกก็ยังดูแลอยู่ เช่นกัน ส่วนในอนาคต อาจจะมีการปรับเพิ่มให้ทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะต้องมีการปรับตลอดเวลา

**ย้ำทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

เมื่อถามว่า แนวทางการหารือเรื่องการปรองดองที่มี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เมื่อวันที่10 ม.ค.55 ระบุว่า ทหารมีส่วนกระตุ้นในการสร้างความขัดแย้ง ในสังคม พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบในเรื่องนี้ ส่วนที่จะมีการเชิญ ผบ.เหล่าทัพ ไปร่วมด้วยนั้น คงไม่มีปัญหา เพราะ ผบ.เหล่าทัพ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว กองทัพให้ความร่วมมือในการดำเนินการสร้างความปรองดอง ผบ.เหล่าทัพ พร้อมให้ความร่วมมือ และแนวความคิดในการดำเนินการต่อไปด้วย

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ระบุว่า กองทัพไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.ยุทธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ถูกต้อง สิ่งที่ผบ.ทบ.พูด คือ ตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และกำลังพลก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมือง แต่ที่คณะกรรมการปรองดองฯ เชิญไป เพื่อต้องการรับฟังความคิดเห็น แนวทางและความร่วมมือ ซึ่งทางทหารก็มีความพร้อมให้การสนับสนุนทุกเรื่อง ถ้าสิ่งที่กองทัพสามารถดำเนินการได้ตามที่คณะกรรมการปรองดองฯ ต้องการ ทางกองทัพก็พร้อมที่จะทำ กองทัพอยากเห็นความสงบสุขของประชาชน และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ มากกว่าที่จะมาทะเลาะกัน

ที่ผ่านมา จากการที่ คณะกรรมการปรองดองฯ ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองไปพูดคุยกัน ก็เป็นภาพที่น่าชื่นใจ เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในอนาคตประเทศไทยคงจะร่วมมือกันได้มากกว่าที่จะเป็นอยู่ และอย่าไปคิดว่าเขาสร้างภาพ ทั้งนี้กองทัพไม่ได้ยุ่งอยู่แล้ว พยายามเก็บเนื้อเก็บตัว จะไม่พยายามไปยุ่งกับการเมืองในช่วงนี้ ก้มหน้าก้มตาทำงานกันไป

***จวกรัฐ2มาตรฐาน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในกรอบ และหลักการเยียวยาผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2553 เป็นเงินรายละ 3 - 4 ล้าน ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งได้เสียชีวิตเพื่อปฏิบัติหน้าที่และรักษาบ้านเกิด แต่รัฐยังคงเยียวยาเพียงแค่รายละ 200,000-500,000 บาท เท่านั้น ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน

ผช.ศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า เมื่อตนเองรับรู้ข่าวก็รู้สึกตกใจ เพราะว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นพูดคุยกันในเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะหนาหูพอสมควร ว่ารัฐบาลพยายามที่จะบอกว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบระบบนิติรัฐ นิติธรรม

คำว่า นิติ คือ การใช้ระบบกฎหมายต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อสงสัยของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ครู พระสงฆ์ โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งในส่วนอื่นๆ

แต่ในขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังเลือกปฏิบัติสำหรับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรัฐบาลบอกว่าเยียวยา แต่สร้างมาตรฐานที่มีความแตกต่างกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคำถามของพี่น้องประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ว่า ชีวิตของคนทำไมไม่เท่าเทียมกัน

โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี มาแล้ว ที่จะต้องทนทุกข์ทรมาน จะต้องเสี่ยงเป็นและ เสี่ยงตาย แต่ผลที่ประชาชนได้รับจากการปฏิบัติของรัฐบาล มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างคนที่อยู่ในส่วนกลางที่ใกล้กับศูนย์กลางของอำนาจรัฐ กับคนที่อยู่ห่างออกมาจากอำนาจรัฐ หรือ เป็นเพราะว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่คนไทย ฉะนั้นการปฏิบัติตรงนี้มันจึงแตกต่างกับคนที่อยู่ในส่วนกลาง

ประการที่สอง พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ วันนี้ค่อนข้างที่จะสิ้นหวัง กับการดำเนินการของรัฐบาลพอสมควร ในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงที่มาจากฝ่ายการเมืองที่จะดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีแนวนโยบายที่ชัดเจน ปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการตามนโยบายเอกเทศโดยลำพัง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่เห็นทิศทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และความรู้สึกเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ไปสะท้อนกลับ เช่น กรณีตากใบ กรณีกรือเซะ มีความสูญเสียชัดเจน ได้รับความสูญเสียจากอำนาจรัฐ ที่กระทำต่อเขาใช่หรือไม่

ตรงนี้เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า เป็นการสูญเสียจากการกระทำจากอำนาจรัฐ ซึ่งตนเองอยากถามว่าคนเหล่านี้ที่สูญเสีย กับคนที่สูญเสียกรณีการเมืองในส่วนกลาง ทำไมชีวิตของคน ถึงมีค่าที่แตกต่างกันเหลือเกิน

และในวันนี้มีหญิงหม้ายจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 คันรถบัส กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเทพฯ เพื่อไปร้องถามรัฐบาล และยังมีอีกหลายภาคส่วน และภาคประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่ ที่เห็นถึงความไม่เป็นธรรม เห็นการเลือกปฏิบัติในสองมาตรฐาน ที่ผ่านมาทางรัฐบาลพยายามบอกกับประชาชนว่า จะสร้างเป็นมาตรฐานเดียว แต่วันนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังคิดอยู่ และ กำลังปฏิบัติอยู่นั้น เป็นภาพที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า เป็นสองมาตรฐานอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น