xs
xsm
sm
md
lg

7.5 ล้าน สร้างบรรทัดฐาน ‘ค่าความตาย’ แรงจูงใจสู่ปมปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"มาตรการเยียวยาอย่างนี้ กลับจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยลำบากขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่อำนาจรัฐจะต้องทำนั้นไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของการให้ความยุติธรรมทางกฎหมาย"
.......................

กว่าจะสิ้นเสียงอึกทึกในเหตุชุมนุมทางการเมือง หลายต่อหลายครั้งก็จะพบว่าต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากเทียบเคียงหลักสากลก็จะพบว่าหลังทะเลเลือดสงบลงผู้ได้รับผลกระทบเองไม่ว่าจะเป็นร่างกาย หรือทรัพย์สิน ล้วนแล้วแต่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐกันตามสมควร แต่สิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษก็คือรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการทุบสถิติงบเยียวยาเหยื่อทางการเมืองกว่า 2,000 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับชดเชยในอัตราสูงสุดคือกรณีที่เสียชีวิต ได้ถึงรายละ 7.75 ล้านบาท โดยแยกเป็นค่าชดเชยการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท ค่าทำศพ 2.5 แสนบาท และค่าเยียวยาจิตใจสำหรับญาติผู้เสียชีวิตอีก 3 ล้านบาท

แน่นอนข้อเสนอเรื่องงบเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงการเมืองจำนวนมหาศาล ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. อย่างไม่มีข้อแม้ เพราะคาดว่าจะความสมานฉันท์ปรองดองแก่คนในชาติให้ยิ่งขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2555

โดยไล่เบี้ยเยียวยากันตั้งแต่ช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ที่ปลุกเร้ามวลชนเสื้อแดงสู่ภาวะกระหายเลือดสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนไม่น้อย

ในขณะเดียวกัน หนึ่งในแกนนำตัวพ่อ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่เคยประกาศก้องว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะให้ศพละ 10 ล้านบาท ท้ายที่สุดแม้มติ ครม. จะกำหนดให้เพียง4.5 ล้านบาท/ศพ แต่นั้นก็ถือว่าเป็นค่าเยียวยาเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมืองที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ดี

นอกเหนือจากนี้ยังกำหนดอัตราเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมืองได้ลดหลั่นกันตามลำดับ ดังนี้ 1. เงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท 2. เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท/ราย 3. เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4.5 ล้านบาท/ราย) 4.เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ 1.8 - 3.6 ล้านบาท 5. เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ 225,000 - 1,125,000 บาท/ราย 6.เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล 10,000 - 200,000 บาท/ราย 7.เงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 150,177 บาท/ปี 8.เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ 500,000 บาท - 3 ล้านบาท/ราย

ก็เกิดคำถามตามมาว่าตัวเลขจำนวนมหาศาลเหล่านี้ จะยั่วยุให้การชุมชุมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจ้องจะเข้าสู่สถานการณ์รุนแรงเพียงเพียงเพราะปรารถนาเงินหรือไม่ ซึ่งหากวิเคราะห์กันจริงๆ สังคมก็คงมีคำถามตามมาอย่างไม่จบสิ้น ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่รู้ว่าเยียวยาที่เน้นจำนวนเงินจะสร้างความปรองดองดั่งที่ คอป. มุ่งหวังไว้ได้หรือไม่?

อัตราและมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา
ถือว่ามีไม่บ่อยหนักที่รัฐบาลไทยจะยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหายต่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แม้กรณีนั้นจะเป็นที่พิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า เป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของรัฐบาล พูดง่ายๆ คืออาจจะมีบ้างแต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย

ซึ่งกรณีที่เห็นชัดที่สุด ก็คือเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ซึ่งอาจจะเรียกว่า ตายรายวันกันเลยทีเดียว โดยเงินชดเชยนั้นก็จะอยู่ในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากันอีกต่างหาก อย่างประชาชนก็จะแบ่ง 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ช่วยเหลืองานราชการ หากเสียชีวิตก็จะได้เงินมากหน่อยคือ 376,000 บาท แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วๆ ไปจะได้น้อยกว่า 100,000 บาท คือ 276,000 บาท ขณะที่คนเป็นข้าราชการ ก็จะได้เงินตามสัดส่วนของอาชีพ เช่น ทหารได้เงิน 1,570,000 บาท ถึง 2,070,000 บาท โดยไม่รวมเงินบำเหน็จบำนาญ ส่วนตำรวจตระเวนชายแดน ได้ 1,182,000 บาท และข้าราชการครูได้รับเพียงรายละ 620,000 บาทเท่านั้น

ขณะที่กรณีใหญ่ๆ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่เกิดการชุมนุมและมีผู้เสียชีวิตถึง 85 ศพ ระหว่างขนย้ายไปยังสถานีตำรวจนั้น รัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสียแค่ 200,000 บาท บวกกับค่าใช้จ่ายในการศึกษาบุตรจนถึงจบปริญญาตรีเท่านั้น แต่ถ้าใครอยากได้เพิ่มก็ต้องไปฟ้องร้องเอาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะได้เพิ่มแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่อสู้ในมัสยิดกรือแซะนั้นได้เงินน้อยกว่า คือรายละ 30,000 บาท เพราะรัฐถือว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ต้องหา

ส่วนในกรณีของการชุมนุมทางการเมืองนั้น เท่าที่บันทึกมาประเทศไทยนั้นมีการชุมนุมใหญ่ๆ ที่ทำเป็นเหตุให้เกิดผู้เสียชีวิตมากๆ นั้นมี 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ 24 พฤษภาคม 2535 นั้น เท่าที่ผ่านมาใน 2 กรณีแรกนั้นยังไม่เคยปรากฏข่าวว่ามีการชดเชยแต่อย่างใด แต่มีการสร้างอนุสรณ์สถานเอาไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลเป็นคนบริจาคให้ ส่วนในกรณีหลังนั้นเคยมีการจ่ายเงินชดเชยไปให้บ้างแล้ว เมื่อปี 2548 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21,821,220 บาท โดยผู้เสียชีวิตและสูญหายจะได้รับค่าตอบแทนรายละ 206,300 บาท ส่วนผู้พิการทุพพลภาพได้รับค่าตอบแทนรายละ 633,420 บาท โดยสาเหตุที่ผู้ได้รับบาดเจ็บได้เงินมากกว่าผู้เสียชีวิต เพราะผู้เสียชีวิตได้เงินค่าปลงศพ 20,000 บาท ส่วนผู้พิการได้รับเงินสงเคราะห์ครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเดือนข้าราชการระดับ 3 จำนวน 447,120 บาท

เยียวยาสองมาตรฐาน สู่ปมขัดแย้ง
“จะว่าไปแล้ว ฐานอำนาจของระบบการเยียวยาบนพื้นฐานของการเมืองกัน นั้นแบ่งได้เป็น 2 แบบด้วยกัน หนึ่ง-คือการเมืองที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล (กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้, กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด 2,500 ศพ) สอง-กรณีที่จากการกระทำของบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาล (สิบสี่ตุลาฯ, หกตุลาฯ, พฤษภาทมิฬ, กรณีนปช.) ซึ่งรัฐบาลก็ควรจะแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการเยียวยาที่เป็นกลาง เสมอภาค และเท่าเทียม”

รศ. ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพร้อมแสดงทัศนะว่าคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐบาลนั้น จำนวนมหาศาล ทั้งนโยบายปราบปรามยาเสพติดฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ, นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่ารัฐบาลทำไมไม่เยียวยา? ซึ่งตรงนี้เองจะกลายเป็นปัญหาต่อกลุ่มที่ไม่ได้การเยียวยา ที่จะมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

“การที่นำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายในลักษณะแบบนี้ มันต้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นการทำในลักษณะทั่วถึงและเสมอกัน คำถามที่จะถามรัฐบาลกลับไปก็คือว่า สิ่งที่รัฐบาลทำมันเสมอภาคทั่วกันหรือไม่? มันต้องใช้มาตรฐานเดียวกันหมดเลย ในทุกๆ เรื่อง ในทุกๆ คดี เช่น การวิสามัญฆาตกรรมที่ผิดพลาด หรือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของรัฐบาล รัฐบาลต้องตอบ ถ้าไม่ตอบมันก็จะเกิดความแตกต่าง แล้วมันก็จะเกิดปัญหา”

ด้วยความรู้สึกเหลื่อมล้ำที่ประชาชนได้รับ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่บนความไม่เท่าเทียมในการจัดการของรัฐบาล รศ.ตระกูล กล่าวถึงแนวทางในการเยียวยาว่าควรอิงอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลทำเกินกว่าเหตุก็ควรมีการเยียวยา

“คือรัฐบาลมีอำนาจในการจัดการผู้ชุมนุมประท้วงที่กระทำการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้รัฐบาลมีอำนาจ กระทำตามกระบวนการและขั้นตอน ไม่ต้องเยียวยา แต่ถ้าคนที่กระทำนั้นไม่ได้กระทำในการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองแล้วได้รับผลกระทบ รัฐต้องเยียวยา และที่สำคัญต้องสร้างบรรทัดฐานการเยียวยาที่ชัดเจนและเสมอภาค

“ฉะนั้นโดยหลักการ ผมพูดถึงหลักการมันต้องเท่ากันหมด อย่างกรณีกรือเซะนี่เห็นได้ชัดเลย ที่คนตายเยอะมาก มันเกินขอบเขต แล้วเขาได้รับความเสียหายจากความผิดพลาด ในเชิงการกระทำต่อเจ้าหน้าที่ รัฐต้องเยียวยา นโยบายยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ที่เกิดจากความผิดพลาดและเยียวยาให้เขา มันมีหลายกรณีมากที่เป็นของรัฐซึ่งก็ต้องเยียวยา”

ชุมนุมครั้งหน้า เจ็บ-ตาย บนกองเงิน?
“ในทางสังคมวิทยาและทางจิตวิทยาสังคม ลำพังเพียงการเกิดฝูงชนถูกชักจูงปลุกเร้าด้วยการปราศรัยก็ดี วิธีการต่างๆ สติสัมปชัญญะมันก็ไม่เหลืออยู่แล้ว นี่ยังมามีตัวอย่างว่าไม่เป็นไร...เขาก่อแล้วรับเงินทีหลัง อันนี้สติสัมปชัญญะยิ่งหาย คือความเป็นปัจเจก วิญญูชน ความเป็นผู้สามารถใช้วิจารณญาณรับรู้ผิดชอบชั่วดี แต่พอไปถึงขั้นนั้นมันจะหายหมด เพราะมีเหตุจ่ายเงินเยียวยา มีเหตุอ้างปรองดอง การชุมนุมต่อไปในอนาคต เมื่อมันถึงจุดที่คนไม่คิดถึงเรื่องเหตุเรื่องผลแล้ว คนก็จะเตลิดได้ง่ายขึ้น กว้างขว้างขึ้น รุนแรงมากขึ้น”

รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะพร้อมทั้งวิพากษ์กรณีภาครัฐนำเงินภาษีจำนวนมหาศาลเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง แน่นอนว่าตัวเลขจำนวนไม่ใช่น้อยย่อมส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดผู้คน และอาจจูงใจสู่ปมปัญหาความรุนแรงทางการเมือง

“มันคล้ายๆ กับเป็นการการันตี ว่าคุณได้สิทธิทำสงคราม ไม่เพียงแต่ไม่ต้องรับผิดในคดี ยังอาจจะได้บำเหน็จจากการกระทำนั้นด้วยซ้ำ แต่ถึงในทางจิตวิทยามวลชนของม็อบจะบอกว่าเกิดความรู้สึกฮึกเหิมก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์รักชีวิตมากกว่าอย่างอื่น เว้นแต่ในชีวิตปกติของเขาก็ไม่ค่อยจะแฮปปี้และเต็มไปด้วยสารพัดปัญหา แต่ถ้าเป็นคนดีๆ เป็นคนปกติแม้จะรู้ว่า 4 ล้าน 8 ล้าน ก็คงไม่ถึงขนาดเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความกินดีมีสุขของครอบครัวลูกหลานในอนาคต”

รศ. พรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรการเยียวยาอย่างนี้กลับจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยลำบากขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่อำนาจรัฐจะต้องทำนั้นไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของการให้ความยุติธรรมทางกฎหมาย

“ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ประชาชนจะต้องถาม ความปรองดองซื้อได้ด้วยเงินหรือไม่ เหมือนกับประเด็นปัญหาที่ต้องถามว่า ความยุติธรรมในโลกนี้สามารถตัดสินได้ด้วยเงินไหม ถ้าหากเอาเงินให้แล้วยุติธรรมจริงอย่างนี้จะต้องใช้เงินเท่าไหร่? เงินไม่ใช่เป็นเครื่องบอกว่ายุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ในทำนองเดียวกันเงินก็ไม่ได้เป็นเครื่องบอกถึงความปรองดอง อาจจะเรียกว่าซื้อรำคาญ

“สิ่งที่อำนาจรัฐจะต้องทำนั้นไม่ใช่เรื่องเงินหรอก อาจเป็นเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ถ้าหากเราสามารถทำได้คนที่ได้รับผลกระทบแล้วไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดแต่ถูกความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต จิตใจความรู้สึก หรือทรัพย์สินธุรกิจ ถ้าหากเราอำนวยความยุติธรรมเขาได้ เขาก็จะสามารถไปฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายได้อยู่แล้ว รัฐต้องไม่ลืมว่าเรามีกฎหมายความรับผิดทางแพ่งที่หน่วยราชการต่างๆ ต้องปฎิบัติตามด้วย”

..........
ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงการเมือง (บางกลุ่ม) ด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ จะเป็นปฐมบทของปมขัดแย้งใดหรือไม่? ซึ่งทางภาครัฐเองก็คงต้องสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการเยียวยาเหยื่อการเมืองอย่างเสมอภาค หากต้องการสร้างความปรองดองตามวาทกรรมที่พร่ำบอกเสมอมา
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น