xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” หนุน 34 อรหันต์ คอ.นธ.แต่เอา ส.ส.ร.ด้วย โยน พท.ชงสภายื่นแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ ควง “ยงยุทธ-ปรีชา” ลงนครฯ เยี่ยมน้ำท่วม เปรียบคนร่างรัฐธรรมนูญเสมือนสถาปนิกสร้างบ้าน พร้อมรับข้อเสนอ คอ.นธ.ชง 34 อรหันต์ร่าง แต่ต้องมี ส.ส.ร.จากเสียงประชาชนด้วย ยันต้องแก้เศรษฐกิจก่อนถ้าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยพิจารณา โยนมติเพื่อไทยยื่น ยังไม่พูดแก้มาตราไหนบ้าง โบ้ย ปคอป.ดูจ่าย 6 ล้านเหยื่อม็อบ


วันนี้ (8 ม.ค.) ที่ บน.6 เมื่อเวลา 11.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมผู้ประสบสาธารณภัย ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านปากลง หมู่ที่ 6 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ ก่อนเดินทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอให้คณะรัฐมนตรีตั้ง 34 คนขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า วันนี้ข้อเสนอที่เป็นทางการและส่งมาทางรัฐบาลยังไม่ได้รับ แต่เท่าที่ทราบจากข่าวถ้าดูรายละเอียดจากที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเสนอมานั้น ที่จริงแล้วแนวคิดหากเรามองก็เหมือนกับคนสร้างบ้านซึ่งต้องดูจุดหลักของรัฐธรรมนูญ คือ แบบแปลน ที่เป็นที่อยู่ของทุกคน นั่นคือเป็นรัฐธรรมนูญของทุกคน ดังนั้นการจะร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับผู้สร้างบ้านต้องเป็นผู้มีความรู้ เป็นสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง นั่นจึงเป็นที่มาของคณะกรรมการอิสระชุดของนายอุกฤษ มงคลนาวิน เสนอมา คืออยากให้คนที่มีความเที่ยงตรงเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ

“ถ้าถามไอเดียส่วนนี้เป็นการส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องขออนุญาตรับความคิดเห็นนี้ เมื่อส่งมาเป็นทางการถึงรัฐบาล เพื่อนำไปศึกษาในรายละเอียดก่อน สำหรับจุดยืนของรัฐบาล สิ่งที่เราอยากเห็นคือการแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นสิ่งที่เราได้มีส่วนร่วม มีแนวคิดร่วมกัน อย่างกระบวนการ สสร. ถือเป็นสิ่งที่ดีในกระบวนการหนึ่ง ซึ่งดิฉันเห็นว่าต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ที่มาร่างต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งมาจากเสียงประชาชน ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญโดยตรง จะขอรับข้อเสนอนี้และนำไปหารือ” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐบาลวันนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมา จะนำไปประกอบการพิจารณาในอนาคตอีกครั้ง จะขอรับเมื่อมีรายละเอียดส่งมาอย่างเป็นทางการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า แล้วแต่กลไกทางพรรค ที่จะมีมติซึ่งทางพรรค จะอาศัยมติที่ประชุมพรรคในการตัดสินใจยื่น แต่ทุกอย่างต้องเข้าไปอยู่ที่กลไกของรัฐสภา ส่วนรัฐบาลขอพิจารณาก่อน เพราะวันนี้มีหลายภาระกิจที่ต้องทำ ทั้งเรื่องการเยียวยาอะไรต่างๆ จึงอยากเร่งทำตรงนี้ก่อน

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ออกมาคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องใช้วิธีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและสิ่งที่เราควรทำ คือ นำสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับมา เพราะรัฐธรรมนูญสุดท้ายแล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการนำกระบวนการต่างๆ จะต้องเป็นที่ยอมรับ

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยควรจะคุยกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะเห็นตรงกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ติดที่เงื่อนเวลา น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในหลักการเชื่อว่าทุกคนเห็นไม่ต่างกันมาก คือการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศและประชาชน ส่วนรายละเอียด เชื่อว่าเมื่อกระบวนการต่างๆ เข้าไปถึง ก็จะมีกระบวนการคุยกัน ซึ่งแล้วแต่ส่วนของพรรค แต่สุดท้ายต้องไปหารือและตกผลึกกันในสภา ซึ่งเราต้องถือว่าเป็นกระบวนการและกลไกลของฝ่ายนิติบัญญัติ

ต่อข้อถามที่ว่า คิดว่ามาตราใดควรแก้เพราะลูกพรรคก็เห็นไม่ตรงกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตนยังไม่อยากเข้าไปในรายละเอียด แต่อยากเข้าไปตั้งหลักก่อนว่า กระบวนการที่จะไปแก้คืออะไร และให้ตัวแทนเข้าไปถกรายละเอียดว่าจะแก้เรื่องอะไร ถ้าวันนี้เรามาคุยกัน คนนั้นจะแก้มาตรานี้อย่างนี้ มาตรานั้นอย่างนั้น มันจะถกเถียงกันไม่จบ เราต้องให้ผู้เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง ไปพิจารณาทั้งข้อดีข้อเสีย นี่คือหลักการของรัฐบาล เราถึงไม่พูดว่าจะแก้มาตราอะไร แต่สิ่งสำคัญคือเราอยากได้การมีส่วนร่วมและการยอมรับของประชาชน

เมื่อถามว่าวันนี้นายกฯ เห็นด้วยใช่หรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวยืนยันว่าเห็นด้วยเพราะอยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เราต้องเรียงตามความเร่งด่วน

เมื่อถามว่า นายอุกฤษระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเดินหน้าเลย ไม่ต้องรอ 7-8 เดือน คิดว่าทำได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าต้องเข้าเป็นลำดับ แต่วันนี้เราดูความเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ขณะเดียวกัน กลไกอื่นที่มีความพร้อมก็สามารถไปก่อนได้ และรัฐบาลเองก็ต้องดูว่าถ้ารัฐบาลพร้อมเมื่อไหร่ก็จะพิจารณา คือไม่ใช่หัวข้อที่เราต้องมานั่งพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะวันนี้ภาระของฝ่ายบริหารคือการแก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ ซึ่งภาคใต้มีผลกระทบมาก ตลอดเวลาตนได้ติดตามและสั่งการ ซึ่งวันนี้จบภาระกิจเรื่องงบประมาณ จึงลงภาคใต้ เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาประชาชน

ส่วนกรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมรายละ 6 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ม.ค.นี้นั้น นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระตวรจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคงต้องรอเนื้อหาที่จะเข้า ครม.อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น