xs
xsm
sm
md
lg

คอ.นธ.ไม่เอา“สสร.”แก้รธน. “อุกฤษ-ทักษิณ”สอดคล้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสียงค้านดังกว่าเสียงตอบรับอย่างเห็นได้ชัด กับสมุดปกสีชมพู เรื่อง “การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองว่าด้วยความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ” ที่เป็นข้อเสนอและจุดยืนของ “คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ” หรือคอ.นธ.

ที่มี ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภาเป็นประธาน อันเป็นกรรมการที่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการด้วยมติคณะรัฐมนตรี และการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรองรับการเกิดขึ้นและมีอยู่ของ “คอ.นธ.” จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“คอ.นธ.”จึงไม่ใช่กรรมการเถื่อน

ข้อเสนอ"การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองว่าด้วยความสามัคคีและความสมานฉันฑ์ของคนในชาติ" ทุกคนที่ได้อ่านอย่างละเอียด คงจะเห็นตรงกันว่า มันคือการตีกินของ คอ.นธ. ที่ชุดความคิดต่างๆ ที่นำเสนอล้วนสอดรับกับการแสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาของทักษิณ ชินวัตร และพวกเสื้อแดง เกือบทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมรับต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือการมีอยู่ขององค์กรอิสระต่างๆในเวลานี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วยการอ้างว่า ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงควรต้องลาออกไป

หรือแนวคิดเรื่องการสร้างความยุติธรรม นิติธรรมในประเทศ ก็จะพบว่าล้วนอยู่ในชุดความคิดเดียวกับ ทักษิณ หรือแม้แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จึงแสดงให้เห็นว่า ที่คนพูดกันว่า “อุกฤษ” คือที่ปรึกษากฎหมายที่คนในตระกูลชินวัตร นับถือและขอคำแนะนำเป็นการส่วนตัวไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ จึงมิผิดไปจากที่ร่ำลือกัน

แม้แต่กับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อุกฤษ และ คอ.นธ. ก็ย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญรัฐบาลไม่ทำไม่ได้ ต้องรีบทำทันที แต่ต้องทำประชามติ

แต่สิ่งที่ คอ.นธ.เห็นแตกต่างไปจากแกนนำพรรคเพื่อไทย และส.ส.เพื่อไทย ส่วนใหญ่คือ คอ.นธ. มีจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มีส.ส.ร. 99 คน แต่ให้ใช้วิธีการออกมติครม. แต่งตั้ง “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” แทน

แนวคิดไม่เอา”ส.ส.ร.” ของ คอ.นธ. จะพบว่าก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร พูดกับส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เดินทางไปหาที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยทักษิณ บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะทำให้เสร็จโดยเร็ว ด้วยการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตราที่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องตั้งส.ส.ร.

สอดรับและสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่าง “ทักษิณ-อุกฤษ”

ถือเป็นแนวคิดและข้อเสนอที่ไล่ตามกระแสสังคมไม่ทันเสียแล้ว เพราะเวลานี้ กระแสสังคมส่วนหนึ่งบอกว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ขัดข้อง ขอให้อธิบายให้สังคมเข้าใจเหตุผล และความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าประชาชนได้อะไร แก้เพื่อคนๆเดียวคือ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน 2 กระบวนการ

คือ หนึ่งให้เลือกส.ส.ร.จังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และ สอง ต้องมีการทำประชามติ

แต่ อุกฤษ-คอ.นธ. กลับ จะหักดิบ ไม่เอาส.ส.ร. แต่ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นจำนวน 30-35 คน โดยกำหนดสเปกว่า ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านรัฐธรรมนูญ เป็นนักรัฐธรรมนูญ โดยต้องไม่เลือกจากเฉพาะบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องไม่เป็นผู้มีแนวความคิดทางเดียวกัน ให้เวลายกร่าง 60 วัน

โดย คอ.นธ. อ้างว่าการตั้ง ส.ส.ร. 99 คน ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญก็เหมือนบ้าน เมื่อจะสร้างบ้าน ก็ต้องใช้สถาปนิก และวิศวกร เป็นผู้เขียนแบบ ดีกว่าจะใช้วิธีเลือกส.ส.ร.ที่ขาดความรู้และประสบการณ์ ที่จะถูกครองงำได้ง่าย อีกทั้งยุ่งยาก และเสียเวลา

บทสรุปดังกล่าว ตามขั้นตอน หลังจากที่ คอ.นธ. นำเสนอแนวทางต่อสังคมแล้ว ก็ยังต้องส่งข้อเสนอนี้ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการด้วยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่คลอด คอ.นธ. ออกมา ที่บอกให้คอ.นธ. ต้องทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบเป็นระยะ

ถ้า ครม.เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอ.นธ. หลังจากล่าสุดฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ชาติไทยพัฒนา” ก็ดูจะเอาด้วยกับแนวทางนี้ เท่ากับว่า การแก้ไขรัฐธรรมมนูญ จะถูกรวบรัดตัดตอนทันที ปิดช่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกส.ส.ร. แม้จะมีการยึดโยงเอาไว้ให้อยู่ทางอ้อมคือ เมื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามโมเดลของ คอ.นธ. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ ”รัฐสภา” พิจารณา 3 วาระ

ซึ่งส.ส.และส.ว. สามารถที่จะโหวตไม่เห็นชอบ หรือเห็นชอบในวาระแรกได้ โดยดูจากเนื้อหาทั้งหมดที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญตามโมเดล คอ.นธ. ยกร่างมา รวมถึงฟังกระแสสังคมว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ หากสังคมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ยากที่รัฐสภาจะโหวตเห็นชอบ

หรือหากผ่านวาระแรกไปแล้ว ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่ตั้งขึ้นมาหลังรัฐสภาผ่านวาระแรก

ถ้าสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ว. -ส.ส. รัฐบาล และฝ่ายค้าน เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างมา มีความไม่สมบูรณ์ มีการหมกเม็ดอำพรางช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง หรือยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาไม่เป็นประชาธิปไตย แทนที่จะทำให้ประเทศพัฒนาขึ้น กลับถอยหลังลงคลอง เป็นรัฐธรรมนูญที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งให้มากขึ้น ก็สามารถไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำ หรือตัดออก-เพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการได้

อีกทั้งเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา วาระ 2 และ 3 ทาง ส.ส.-ส.ว. ก็ยังสามารถต่อสู้กันได้อีกในการจะใช้มติเสียงข้างมากในที่ประชุม เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ-บทบัญญัติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาจากชั้นกรรมาธิการฯ จนไปสิ้นสุดในการต่อสู้กันในวาระ 3 ในชั้นโหวตให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

จริงอยู่ว่า กว่ารัฐสภาจะโหวตให้ความเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ย่อมมีทั้งฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ในกลุ่มส.ส.-ส.ว.

ไหนจะกระแสสังคมนอกรัฐสภา ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชี้ว่า รัฐสภาจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่ต้องยอมรับความจริงว่า หากครม.ยิ่งลักษณ์ จะใช้โมเดลของ คอ.นธ. ที่จะไม่ให้มี ส.ส.ร. แล้วแต่งตั้ง-คัดเลือกกรรมการร่างรธน. ตามข้อเสนอ คอ.นธ. คนก็ย่อมมองว่าแค่ขั้นตอนแรกของการชำเรารัฐธรรมนูญ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว

ถือเป็นเรื่องเสี่ยงอย่างมากของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีนี้

ที่หลายคนบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเมืองในปี 2555 จะร้อนแรง มีชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นอีกรอบ จนอาจทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศไปด้วยความยากลำบาก ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง

ยิ่งเมื่อดูรายชื่อ 34 อรหันต์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ คอ.นธ.โยนชื่อออกมาเป็นตุ๊กตา ก็เห็นเจตนาได้ชัดว่า มุ่งเอาเรื่องการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งประโยชน์สูงสุดที่สังคมจะได้รับในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้จะประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่าย แต่ไม่มีตัวแทนจากซีกประชาธิปัตย์ หรือองค์กรอิสระ ร่วมอยู่เลย อีกทั้งใน 34 คนดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่า เป็นสาย "เพื่อไทย-ทักษิณ-นปช." มากที่สุด จึงย่อมมีผลต่อการออกมติเสียงส่วนใหญ่และทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน หากมีการตั้งกรรมการชุดนี้จริง

อีกทั้งชื่อที่ คอ.นธ. ตั้งเป็นตุ๊กตา หลายคนก็ไม่เห็นว่าจะมีความเป็นนักรัฐธรรมนูญอย่างที่ คอ.นธ. เอ่ยอ้างยกย่องสรรพคุณแต่อย่างใด

จึงทำให้คนที่มีชื่อใน 34 คนดังกล่าว ต่างออกมาปฏิเสธโดยพร้อมเพียงกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่เอาด้วยกับการจะไปร่วมสังฆกรรมกับ คอ.นธ. และรัฐบาลชุดนี้

เพราะแค่ดูเจตนาก็เห็นได้ชัดว่า แค่คิดจะเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่บริสุทธิ์ใจเสียแล้ว

ถ้าให้เดา ก็เชื่อว่า ยิ่งลักษณ์ น่าจะปัดข้อเสนอ คอ.นธ. ทิ้งแน่นอน เพราะคงประเมินแล้วว่า ถ้าเอาด้วยกับแนวทาง คอ.นธ. จะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

อุกฤษ อาจได้เสียคนตอนแก่ ก็รอบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น