xs
xsm
sm
md
lg

รับลูกตั้ง34อรหันต์ไม่เอาส.ส.ร. "ปู"เร่งปิดเกมรธน. ลั่นเป็นนโยบายรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"ยิ่งลักษณ์"เด้งรับข้อเสนอ คอ.นธ. ตั้ง 34 อรหันต์ แก้ รธน.โดยไม่ต้องมี ส.ส.ร. รอชงอย่างเป็นทางการ ย้ำต้องแก้ รธน.เพราะอยู่ในแผนรัฐบาล แต่ยังอุบไต๋แก้มาตราไหน "มาร์ค" แนะ"อุกฤษ" ถอนข้อเสนอตั้ง กก.ร่าง รธน. เหตุขัดนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภา แนะ "ปูนิ่ม" หยุดมั่ว ส่งสัญญาณให้ชัดทั้งพูดและทำ เตือนเล่นการเมือง 2 หน้าปรองดองไม่เกิด "สุขุม" ส่งซิกรัฐบาลอย่าเป็นเจ้าภาพ เพราะเสี่ยงต่อความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้น

วานนี้ (8 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมนิธิธรรมแห่งชาติ ( คอ.นธ. ) เสนอให้คณะรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา 34 คน โดยไม่ต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ขณะนี้ข้อเสนอที่เป็นทางการและส่งมา ทางรัฐบาลยังไม่ได้รับ แต่เท่าที่ทราบจากข่าว ถ้าดูรายละเอียดจากที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเสนอมานั้น ที่จริงแล้วแนวคิดหากเรามองก็เหมือนกับคนสร้างบ้าน ซึ่งต้องดูจุดหลักของรัฐธรรมนูญ คือ แบบแปลน ที่เป็นที่อยู่ของทุกคน นั่นคือ เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคน ดังนั้นการจะร่างรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนกับผู้สร้างบ้าน ต้องเป็นผู้มีความรู้ เป็นสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง นั่นจึงเป็นที่มาของคณะกรรมการอิสระชุดของ นายอุกฤษ มงคลนาวิน เสนอมา คือ อยากให้คนที่มีความเที่ยงตรง เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

" ถ้าถามไอเดียส่วนนี้เป็นการส่วนตัว มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องขออนุญาตรับความคิดเห็นนี้ เมื่อส่งมาเป็นทางการถึงรัฐบาล เพื่อนำไปศึกษาในรายละเอียดก่อน สำหรับจุดยืนของรัฐบาล สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นสิ่งที่เราได้มีส่วนร่วม มีแนวคิดร่วมกัน อย่างกระบวนการส.ส.ร. ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีในกระบวนการหนึ่ง ซึ่งดิฉันเห็นว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ที่มาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งมาจากเสียงประชาชน ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญโดยตรง จะขอรับข้อเสนอนี้ และนำไปหารือ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐบาลวันนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมา จะนำไปประกอบการพิจารณาในอนาคตอีกครั้ง จะขอรับเมื่อมีรายละเอียดส่งมาอย่างเป็นทางการ

** "ปู"ยังโบ้ยให้เป็นเรื่องของสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทย จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสภาต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แล้วแต่กลไกลทางพรรค ที่จะมีมติ ซึ่งทางพรรค จะอาศัยมติที่ประชุมพรรคในการตัดสินใจยื่น แต่ทุกอย่างต้องเข้าไปอยู่ที่กลไกลของรัฐสภา ส่วนรัฐบาลขอพิจารณาก่อน เพราะวันนี้มีหลายภารกิจที่ต้องทำ ทั้งเรื่องการเยียวยาอะไรต่างๆ จึงอยากเร่งทำตรงนี้ก่อน

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระดังกล่าว จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องใช้วิธีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และสิ่งที่เราควรทำคือ นำสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับมา เพราะรัฐธรรมนูญสุดท้ายแล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนทุกคน ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่ากระบวนการต่างๆ จะต้องเป็นที่ยอมรับ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย ควรจะคุยกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะเห็นตรงกันว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ติดที่เงื่อนเวลา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในหลักการเชื่อว่าทุกคนเห็นไม่ต่างกันมาก คือการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ และประชาชน ส่วนรายละเอียด เชื่อว่า เมื่อกระบวนการต่างๆ เข้าไปถึง ก็จะมีกระบวนการคุยกัน ซึ่งแล้วแต่ส่วนของพรรค แต่สุดท้ายต้องไปหารือ และตกผลึกกันในสภา ซึ่งเราต้องถือว่าเป็นกระบวนการ และกลไกลของฝ่ายนิติบัญญัติ

ต่อข้อถามที่ว่า คิดว่ามาตราใดควรแก้ไข เพราะลูกพรรคก็เห็นไม่ตรงกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนยังไม่อยากเข้าไปในรายละเอียด แต่อยากเข้าไปตั้งหลักก่อนว่า กระบวนการที่จะไปแก้ คืออะไร และให้ตัวแทนเข้าไปถกรายละเอียด ว่าจะแก้เรื่องอะไร ถ้าวันนี้เรามาคุยกัน คนนั้นจะแก้มาตรานี้ อย่างนี้ มาตรานั้น อย่างนั้น มันจะถกเถียงกันไม่จบ เราต้องให้ผู้เป็นตัวแทนอย่างแท้จริงไปพิจาราณาทั้งข้อดี ข้อเสีย นี่คือหลักการของรัฐบาล เราถึงไม่พูดว่า จะแก้มาตราอะไร แต่สิ่งสำคัญคือ เราอยากได้การมีส่วนร่วม และการยอมรับของประชาชน

**ยันแก้แน่เพราะเป็นนโยบาย

เมื่อถามว่าวันนี้นายกฯ เห็นด้วยใช่ หรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวยืนยันว่า เห็นด้วย เพราะอยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เราต้องเรียงตามความเร่งด่วน

เมื่อถามว่า นายอุกฤษ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเดินหน้าเลยไม่ต้องรอ 7-8 เดือน คิดว่าทำได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าต้องเข้าเป็นลำดับ แต่วันนี้เราดูความเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง ขณะเดียวกันกลไกอื่นที่มีความพร้อม ก็สามารถไปก่อนได้ และรัฐาลเองก็ต้องดูว่า ถ้ารัฐบาลพร้อมเมื่อไร ก็จะพิจารณา คือไม่ใช่หัวข้อที่เราต้องมานั่งพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะวันนี้ภาระของฝ่ายบริหาร คือการแก้ปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจ

**พท.เตรียมหารือข้อเสนอ คอ.นธ.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าในวันอังคารที่ 10 ม.ค.นี้ ทางพรรคเพื่อไทย จะมีการประชุมส.ส.ของพรรค ซึ่งที่ประชุมจะมีการหารือถึงกรณีที่ คอ.นธ. ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. แต่ใช้วิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแทนนั้น ตนเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจริง แต่ก็ทำให้ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม โดยคาดว่าน่า จะเอาเรื่องนี้เอาสู่ที่ประชุมด้วย เพื่อจะหาข้อยุติ

นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 9 ม.ค. ซึ่งมีการประชุมของวิปรัฐบาล ก็จะหารือถึงประเด็นนี้เช่นกัน

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ออกมาในขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ภาคประชาชนเริ่มขับเคลื่อน และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ที่ประชุมของพรรค ก็จะหารือถึงนโยบายต่างๆ ที่ทางพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเอาไว้ในตอนหาเสียง เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากสมาชิกของพรรคคิดว่า น่าจะเริ่มทำโครงการต่าง ๆได้แล้ว

** "จาตุรนต์"ยังหนุนแนวทางส.ส.ร.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า มาถึงขั้นนี้ แล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแก้ไขรธน.แน่ ไม่แก้ไม่ได้ เพราะรธน.ฉบับนี้ มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม คือ มาจากการรัฐประหาร และยังมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่มีเสถียรภาพ และยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงมาจนทุกวันนี้ หากยังคงใช้รธน.ฉบับนี้ต่อไป ก็จะเกิดวิกฤตหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

" ที่บอกว่าถึงอย่างไร การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นนั้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ขณะนี้ประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว การเคลื่อนไหวนี้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากส.ส.เพื่อไทยด้วย"

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเสนอร่างแก้ไขรธน. ของตนเองด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพรรคเพื่อไทย ได้กำหนดเป็นนโยบายของพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาไว้อย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องทำใน 1 ปี รัฐบาลจึงมีพันธะทั้งต่อประชาชน และรัฐสภา ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้

"สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น ผมคิดว่า แม้ขณะนี้จะช้าไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สายไป ในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ น่าจะแก้ มาตรา 291 ให้แล้วเสร็จได้ หากปล่อยช้าออกไป ก็จะเจอกับช่วงปิดสมัยประชุม 3 เดือน กว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง ก็คงไม่ทันระยะเวลา 1 ปี ตามที่แถลงไว้" นายจาตุรนต์ กล่าว

สำหรับการที่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่ากระแสหลักในขณะนี้คือ การแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ขึ้น เมื่อส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว ก็ให้มีการลงประชามติ โดยประชาชนทั้งประเทศ

" ต่อกรณีข้อเสนอของ คอ.นธ.นั้น ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่สังคมไทยน่ารับฟังโดยเฉพาะเรื่องเหตุผลว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น คอ.นธ.เสนอได้ชัดเจนมาก ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง" นายจาตุรนต์ กล่าว

ส่วนข้อเสนอที่ให้ครม. ตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายที่ขัดแย้งแตกต่างกัน มาร่วมร่างเสียเลยนั้น ก็น่าสนใจ แม้ยังไม่สามารถทำได้ในขั้นตอนนี้ หากรัฐสภา หรือส.ส.ร.จะนำไปประกอบการพิจารณา เมื่อถึงขั้นตอนที่จะตั้งคณะกรรมการยกร่าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

**แนวทาง คอ.นธ.ไม่เผด็จการ

ต่อข้อถามว่า หากในรายชื่อของคณะกรรมการที่เสนอนั้นมีชื่อนายจาตุรนต์ อยู่ด้วย จะรับหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในขั้นนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นต้องตอบ แต่ก็ต้องขอขอบคุณ คอ.นธ. ที่ให้เกียรติตน

นายจาตุรนต์ ยังได้กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ข้อเสนอของคอ.นธ. เป็นเผด็จการว่า เป็นการวิจารณ์ที่เกินเลยไปมาก เพราะข้อเสนอของ คอ.นธ.เป็นเพียงตุ๊กตา แนวคิดสำคัญของเขาคือ การให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันร่าง และเขาก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากๆ และยังเสนอให้มีการลงประชามติในขั้นตอนสุดท้ายด้วย จะว่าเป็นเผด็จการได้อย่างไร

** "คอ.นธ.โมเดล" ขัดนโยบายรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายอุกฤษ มวคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. เสนอให้มีการแต่งตั้งกรรมการ 34 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญแทน ส.ส.ร.ว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และบุคคลที่ถูกอ้างถึงหลายคนก็ออกมาปฏิเสธแล้ว คอ.นธ. จึงควรถอนข้อเสนอนี้กลับไป เพราะรัฐบาลก็บอกกับรัฐสภาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำโดย ส.ส.ร. และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งในขณะนี้การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนแต่เป็นคนในเครือข่ายของรัฐบาลทั้งสิ้น ซึ่งตนเห็นว่าเป็นสิทธิ์ เนื่องจากรัฐบาลได้หาเสียงและกำหนดเป็นนโยบาย โดยในที่ประชุมหัวหน้าพรรคการเมือง ก็พูดชัดเจนว่าถ้าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบบดีขึ้น สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดูรายละเอียดว่าจะทำรูปแบบไหน อย่างไร เป้าหมาย คืออะไร

ทั้งนี้ นายกฯควรพูดและทำให้ชัดเจน เพื่อหยุดความสับสนของสังคม แต่ปัญหาคือ รัฐบาลพยายามพูดถึงความปรองดอง และสร้างกลไกทำเรื่องนี้ แต่คนเป็นหัวหน้ารัฐบาลไม่ส่งสัญญาณอย่างจริงจัง ที่จะทำให้เกิดความปรองดองในประเทศ เช่น กรณีกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่พูดชัด แต่นายกฯยังไม่เคยพูดให้ชัด และไม่เคยไปพูดกับกลุ่มที่สนับสนุนตัวเองให้หยุดการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ รวมถึงการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงด้วย เพราะเป็นการตอกย้ำความแตกแยก

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดองจริง ต้องเลิกทำการเมืองสองหน้า ผู้นำรัฐบาลต้องส่งสัญญาณกับผู้สนับสนุนให้ชัด ไม่อย่างนั้นความปรองดองก็เกิดขึ้นยาก

**"สุขุม"ส่งซิกรัฐบาลอย่าเป็นเจ้าภาพ

รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ที่ คอ.นธ. เสนอเป็นหนึ่งในรายชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากคอ.นธ. และเห็นว่าแนวคิดการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้ คือการแก้ไข มาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร. หากเป็นแนวทางนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการได้ภายในสมัยประชุมสภาสามัญนิติบัญญัตินี้ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ยื่นญัตติในนามรัฐบาล เพราะความคิดยังแตกต่างกัน และเสี่ยงต่อความรับผิดชอบทางการเมือง หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวถึงกรณี คอ.นธ. เสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จนถึงขณะยังไม่ได้รับการติดต่อจากฝ่ายใด ทราบจากข่าวเท่านั้น แต่เราควรให้เวลากับข้อเสนอของคอ.นธ. เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดว่ารูปแบบของคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง

นอกจากนี้ควรเปิดให้คนอื่นฝ่ายอื่นร่วมแสดงความคิดเห็น เราควรรับฟังให้รอบด้าน เพื่อความรอบคอบ และให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ไม่มีความขัดแย้ง การแก้รัฐธรรมนูญจะประสบความสำเร็จ ถ้าเราสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ ถ้าสร้างไม่ได้ ก็ไปไม่ไกล

ส่วนข้อเสนอของ คอ.นธ. กับ ส.ส.รัฐบาล ที่จะเสนอแก้มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง ยังขัดแย้งกันอยู่นั้น นายเสรี กล่าวว่า ต้องเทียบผลดี ผลเสีย ระหว่าง 2 แนวทาง ผลดีของการตั้งส.ส.ร.คือ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเมื่อยกร่างมาแล้วสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ มีอำนาจแค่ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เท่านั้น แต่ข้อเสียคือ อาจจะช้าหน่อย

ส่วนรูปแบบคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ข้อดีคือ ทำได้รวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ เมื่อเสนอเข้าสู่สภาแล้วอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระไปจากร่างที่ยกมา โดยสมาชิกรัฐสภา ในวาระ 2-3 ดังนั้น คอ.นธ. ต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ว่า หากจะทำในรูปแบบนี้ฝ่ายรัฐบาลจะเอาอย่างไร ยกร่างมาแล้วจะยืนตามความเห็นของคณะกรรมการหรือไม่ ไม่ใช่ยกมาอย่าง แต่พอผ่านสภาฯ หน้าตาออกมาอีกอย่าง.
กำลังโหลดความคิดเห็น