อดีต หน.ไทยรักไทย โผล่หนุน รบ.แก้ไข รธน.สุดโต่งอ้างปี 50 ฉบับรัฐประหาร ป้อง คอ.นธ.ข้อเสนอเผด็จการ ดันแก้ ม.291 ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ให้แล้วเสร็จ ชี้ รัฐบาลไม่มีทางเลี่ยงอ้างเสียง ปชช.หนุนแก้ รธน.เหตุขัดหลักนิติธรรม มาจากการรัฐประหาร ทำสังคมขัดแย้ง อุ้มเพื่อไทยเสนอร่างของตนเองไม่แปลก เพราะเป็นนโยบายของพรรค
วันนี้ (8 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มาถึงขั้นนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่แล้ว ไม่แก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม คือ มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ และยังมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ได้
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงมาจนทุกวันนี้ ซึ่งหากยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป ก็จะเกิดวิกฤตหนักหนายิ่งขึ้น วิกฤตการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำลังทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างมากในการพัฒนา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เอื้ออำนวยในทางภูมิรัฐศาสตร์และมีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่กลับต้องติดหล่มความขัดแย้งทางการเมือง และขาดความน่าเชื่อถือในระบบยุติธรรม ทำให้นานาประเทศลดความสนใจที่จะมาลงทุน หรือทำมาค้าขายด้วยไปอย่างน่าเสียดาย
ที่บอกว่า ถึงอย่างไรการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นนั้น อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ขณะนี้ประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว การเคลื่อนไหวนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.เพื่อไทยด้วย
นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเองก็อาจเสนอร่างของตนเองด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพรรคเพื่อไทยก็ได้กำหนดเป็นนโยบายของพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาไว้อย่างชัดเจน เมื่อทั้งประชาชน และ ส.ส.ต่างก็เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันรัฐบาลจะทำอย่างไร
“ผมคิดว่ารัฐบาลไม่มีทางหลีกเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องเข้าร่วม และสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญ รัฐบาลนี้ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้แล้วว่า จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งยังระบุว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำใน 1 ปีด้วย รัฐบาลจึงมีพันธะทั้งต่อประชาชน และรัฐสภาที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้
“สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น ผมคิดว่า แม้ขณะนี้จะช้าไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สายไป ในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้น่าจะแก้มาตรา 291 ให้แล้วเสร็จได้ หากปล่อยช้าออกไปก็จะเจอกับช่วงปิดสมัยประชุม 3 เดือน กว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งก็คงไม่ทันระยะเวลา 1 ปี ตามที่แถลงไว้” นายจาตุรนต์ กล่าว
สำหรับการที่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมคิดว่า กระแสหลักในขณะนี้ คือ การแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ขึ้น เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว ก็ให้มีการลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ส่วน ส.ส.ร.จะมีที่มาจากไหนนั้น หากพิจารณาจากสภาวะทางการเมืองที่ยังมีความเห็นแตกต่างค่อนข้างมาก การเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.โดยตรงน่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นที่ยอมรับมากที่สุด ในเรื่องจำนวน ส.ส.ร.ควรเป็นเท่าไร เป็นสัดส่วนกับประชากรหรือไม่เป็นประเด็นที่สามารถหารือกันต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่มาของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมายกร่าง ขณะนี้ก็มีความเห็นเป็นหลายแบบ หากหารือกันในขั้นต่อไปก็คงหาข้อยุติที่ดีได้
ต่อกรณีข้อเสนอของ คอ.นธ.นั้น ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่สังคมไทยน่ารับฟัง โดยเฉพาะเรื่องเหตุผลว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้น คอ.นธ.เสนอได้ชัดเจนมาก ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง
ส่วนข้อเสนอที่ให้ ครม.ตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายที่ขัดแย้งแตกต่างกันมาร่วมร่างเสียเลยนั้นก็น่าสนใจ แม้ยังไม่สามารถทำได้ในขั้นตอนนี้ หากรัฐสภา หรือ ส.ส.ร.จะนำไปประกอบการพิจารณาเมื่อถึงขั้นตอนที่จะตั้งคณะกรรมการยกร่างก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย
ต่อข้อถามที่ว่าในรายชื่อของคณะกรรมการที่เสนอนั้น มีชื่อของตนอยู่ด้วย จะรับหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในขั้นนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นต้องตอบ แต่ก็ต้องขอขอบคุณ คอ.นธ.ที่ให้เกียรติตน
นายจาตุรนต์ ยังได้กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้อเสนอของ คอ.นธ.เป็นเผด็จการ ว่า เป็นการวิจารณ์ที่เกินเลยไปมาก เพราะข้อเสนอของ คอ.นธ.เป็นเพียงตุ๊กตา แนวคิดสำคัญของเขา คือ การให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันร่าง และเขาก็บอกอยู่แล้วว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากๆ และยังเสนอให้มีการลงประชามติในขั้นตอนสุดท้ายด้วย จะว่าเป็นเผด็จการได้อย่างไร