xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-7 ม.ค.2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “นปช.” ตั้งท่าล่า 2 แสนรายชื่อเสนอแก้ รธน. ด้าน “คำนูณ-ปานเทพ” ปัดนั่ง คกก.ร่าง รธน. ยัน พันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วย!
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ
ความคืบหน้ากรณีพรรคเพื่อไทยพยายามขับเคลื่อนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังวิปรัฐบาล มีมติเห็นควรให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) โดยจะให้รัฐบาลและ ส.ส.เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาคู่กัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ส่วนช่วงเวลาที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วิปรัฐบาลเห็นว่า ควรจะอยู่ในสมัยประชุมนี้ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในเดือน ม.ค.หรือ ก.พ. ปรากฏว่า ยังคงมีเสียงแตกภายในพรรคเพื่อไทย โดยฝ่ายหนึ่ง เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ยังไม่ควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ “ควรรอไปก่อนอีก 8 เดือน เพื่อให้รัฐบาลมีผลงานทั้งเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และเรื่องอื่นๆ ก่อน ส่วนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งในพรรคเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แสดงว่าพรรคเพื่อไทยมีความเป็นประชาธิปไตย จึงมีความขัดแย้งกันได้”

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าควรรีบแก้รัฐธรรมนูญ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาจี้ให้พรรคเพื่อไทยกำหนดท่าทีให้ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไรในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดจุดยืนของทุกคนให้ตรงกัน พร้อมย้ำว่า “รัฐบาลไม่ต้องกลัวว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วใครจะมาโค่นล้ม ถ้าเขาจะโค่นล้ม เราก็จะหาทางโค่นล้มให้ได้...”

ขณะที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดงก็เตรียมล่าชื่อประชาชน 2 แสนชื่อเพื่อหนุนแก้รัฐธรรมนูญ โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช.เปิดแถลง(4 ม.ค.)ว่า ในปี 2555 นี้ นปช.มีภารกิจต้องทำ 5 ข้อ เช่น เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อ 2 แสนคน ให้ได้ภายในวันที่ 15 ม.ค. ก่อนจะเสนอรัฐสภาในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ พร้อมมั่นใจว่า ประชาชนไทยคงได้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี 2556 อย่างแน่นอน นอกจากนี้จะเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น

ด้านนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เผยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช.ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียด คาดว่าจะยื่นแก้ไขได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะเป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 291 อย่างเดียว และยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก

ส่วนท่าทีของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานนั้น ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาว่า มี 2 วิธี วิธีแรกให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจำนวน 30-35 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ด้านรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยใช้เวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ คอ.นธ.ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.เนื่องจากการคัดเลือกผู้มีอาชีพหลากหลายมาร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ขาดผู้มีความรู้และประสบการณ์ ซึ่งในที่สุดจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกรรมการที่ ครม.ตั้งขึ้น หรือของผู้รู้ที่สมาชิกเลือกตั้ง

ส่วนวิธีที่ 2 ของ คอ.นธ.ในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็คือ ให้ประชาชน 5 หมื่นคนเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะตั้งขึ้นมากี่คณะก็ได้ แล้วเสนอร่างแก้ไขนั้นให้สภาพิจารณา 3 วาระ โดยวาระ 2 ต้องมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์และวิทยุให้ประชาชนรับรู้ พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้ที่เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ จากนั้นเมื่อสภาผ่านวาระ 3 แล้ว ควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่ คอ.นธ.เสนอให้ ครม.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว เพราะ ครม.อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “รัฐธรรมนูญเป็นกติกาของบ้านเมือง และรัฐบาลเปรียบเสมือนเป็นผู้เล่นกลุ่มหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่งในการที่จะต้องใช้กติกานี้ ดังนั้นจะเห็นว่าเกือบทุกประเทศและรัฐธรรมนูญของไทยเกือบทุกฉบับ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่เคยให้รัฐบาลเป็นผู้ชี้ฝ่ายเดียว จะเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภา และถ้ามีการแก้ไขครั้งใหญ่ มักจะมีกระบวนการที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ทราบว่า คอ.นธ.มีเหตุผลอะไรที่จะมาแนวทางนี้”

ทั้งนี้ คอ.นธ.ได้เสนอรายชื่อบุคคลที่มีความรู้และมีความสนใจในรัฐธรรมนูญไว้ 34 รายชื่อ คาดว่าเพื่อเสนอ ครม.ให้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รายชื่อมากกว่าครึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ เช่น นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ ,นักกฎหมายกลุ่มคนเสื้อแดง ,สมาชิกบ้านเลขที่ 111 เป็นต้น แต่ได้มีการเสริมนักวิชาการด้านกฎหมาย ,สมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปบ้าง เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา , นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ เป็นต้น

โดยนายคำนูณ ได้ออกตัวผ่านทวิตเตอร์ว่า ไม่เคยได้รับการติดต่อหรือบอกกล่าวจาก คอ.นธ.ว่าจะเสนอให้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอบคุณแต่ไม่ขอรับตำแหน่ง เพราะปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.อยู่ และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายปานเทพ ก็ปฏิเสธเช่นกันว่าจะไม่รับตำแหน่งดังกล่าว “เราเห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การปรองดองที่แท้จริง สืบเนื่องจากรายชื่อคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายของรัฐบาลและคนเสื้อแดง ส่วนรายชื่อคนกลางหรือฝ่ายอื่นที่เอาเข้าไปก็เป็นเพียงไม้ประดับสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มพันธมิตรฯ จึงไม่ขอมีส่วนร่วมกับแนวทางดังกล่าว”

2. ครม. ไฟเขียว พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ โยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท. “กิตติรัตน์” อ้าง ไม่ใช่ซุกหนี้ ด้าน “ปชป.”ชี้ รบ. จ้องล้วงเงิน ธปท.!
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่รัฐสภา โดยมีรายงานว่า วาระการประชุมมีเรื่องการเตรียมแผนการเงินที่จะใช้ในการฟื้นฟูประเทศด้วย พร้อมทั้งมีการแจกเอกสารลับให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา และหลังประชุมแล้วเสร็จ ได้มีการเก็บเอกสารลับดังกล่าวคืน ซึ่งเอกสารดังกล่าว คือ ร่าง พ.ร.ก. เกี่ยวกับการกู้เงิน 4 ฉบับ ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้กองทุนรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท รวมทั้งให้ ครม.พิจารณาออก พ.ร.ก.แก้ไขธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อให้ ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนแก่สถาบันการเงินในวงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมี พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันน้ำท่วมอีก 5 หมื่นล้านบาท

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ครม.มีมติอนุมัติในหลักการว่า การแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง ส่วน ธปท.จะไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม รวมทั้งการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณอีก จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ครม.ให้แถลงเรื่องนี้ บอกว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 4 ฉบับ สำหรับการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ(กยน.) จัดทำโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่วนการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้น นายกิตติรัตน์ บอกว่า จะโอนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยให้อำนาจ ธปท.เก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อรวมกับอัตราที่กำหนดให้นำส่งเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.4%

นายกิตติรัตน์ ยังชี้ด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.มีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก อยู่ในวิสัยที่ไม่ต้องพิมพ์ธนบัตร จึงไม่เสียวินัยทางการเงิน และจะไม่แตะทุนสำรองเงินตรา พร้อมย้ำว่า การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ใช่การซุกหนี้แต่อย่างใด “หนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็เป็นหนี้ของประเทศ แต่ถ้าอยู่กับกระทรวงการคลัง จะติดเพดานการก่อหนี้ การโอนหนี้กลับไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ จึงไม่ใช่การแอบซ่อนหนี้ เราไม่ได้เร่งรัด แต่ถ้าลดหนี้ได้เร็วก็ดี”

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงร่าง พ.ร.ก.ที่ ครม.เห็นชอบ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายข้อที่ไปหักล้าง พ.ร.บ.เดิมหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ. ธปท.2551 นอกจากนั้นในมาตรา 7(3) ยังระบุให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของ ธปท.หรือกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่ ครม.กำหนดด้วย หมายความว่า ครม.สามารถสั่งให้ ธปท.โอนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือโอนที่ดิน และทุกอย่างที่เป็นสินทรัพย์ของ ธปท.ได้ ซึ่ง ธปท.ห่วงว่าอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของ ธปท.

ขณะที่กลุ่มคณะสงฆ์ และคณะศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กว่า 50 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ยกเลิกมาตราที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนทุนสำรองเงินตราที่ระบุอยู่ใน พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ เพื่อรักษาไว้เป็นทุนสำรองตามเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัว

ด้านที่ประชุม ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มีมติเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ว่า ครม.เงาเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ที่ให้มีกองทุนประกันภัย ส่วน พ.ร.ก.อีก 3 ฉบับ มีคำถามว่า รัฐบาลกำลังโยนภาระการแก้ปัญหาการเงินการคลังให้หน่วยงานอื่นแทนที่จะทบทวนการบริหารจัดการงบประมาณของตัวเอง ซึ่งการทำเช่นนี้จะสร้างปัญหาในอนาคต พร้อมชี้ว่า รัฐบาลกำลังใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าระบบ ส่วนการแก้ไขระบบคุ้มครองเงินฝากและการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท. จะทำให้เกิดความสับสนในระบบการเงินและสถาบันการเงินของชาติ เป็นการเรียกเงินมาปนกันเพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการดูแลของ ธปท. ถือว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นในขณะนี้ เพราะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้ และว่า รัฐบาลพยายามเข้าไปล้วงเงินของ ธปท.ในหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการเติมเงินเฟ้อที่จะส่งผลให้เงินในมือประชาชนมีมูลค่าน้อยลงด้วย

ด้านคณะกรรมการกฤษฎีกาเตรียมชงเรื่อง 4 พ.ร.ก.กู้เงินเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 10 ม.ค.นี้ หลัง ครม.ขอหารือถึงแนวคิดการออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวว่า ควรจะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า แนวโน้มน่าจะเสนอออกเป็น พ.ร.ก.ทั้งหมด

3. สภาฯ ผ่านงบฯ ปี ’55 วงเงิน 2.3 ล้านล้านแล้ว ด้วยเสียง 272 : 3 ด้าน “ยิ่งลักษณ์” โดดประชุม แค่เข้าร่วมลงมติ!
บรรยากาศการประชุมสภาฯ
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงิน 2.38 ล้านล้านบาท ในวาระ 2-3 ซึ่งกำหนดประชุม 3 วัน 4-6 ม.ค. สำหรับการประชุมวันแรก เริ่มด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้รายงานการพิจารณาให้ที่ประชุมสภาฯทราบว่า กมธ.ได้ปรับลดงบประมาณลงกว่า 4.34 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น เป้าหมายการใช้งบประมาณ ,ผลการดำเนินงานจริง และเวลาที่เหลือในการใช้งบอีกประมาณ 8 เดือน

สำหรับบรรยากาศการอภิปรายงบประมาณของ ส.ส.ที่ขอสงวนคำแปรญัตติ ที่น่าสนใจได้แก่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ได้เสนอให้ตัดงบปรองดองที่มีการตั้งกันทุกกรมจำนวนมากถึง 528 ล้านบาท แต่ดูแล้วปรองดองไม่ได้ เพราะสีต่างๆ ได้หยุดหมดแล้ว เหลือแต่สีแดงยังไม่หยุด มีการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง สร้างความแตกแยก ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็ไม่จริงใจเรื่องปรองดอง ปล่อยให้ใช้งบประมาณ 10,000 ล้าน ก็ปรองดองไม่ได้ จึงขอให้ตัดงบส่วนนี้ไป ด้านนายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ฟัง นพ.สุกิจอภิปรายแล้วไม่พอใจ จึงลุกขึ้นประท้วงว่า หมู่บ้านเสื้อแดงตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ไม่ได้ทำลายความปรองดอง

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายติงการจัดทำงบของรัฐบาลว่า ไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ เช่น การจัดซื้อเรือของหน่วยงานต่างๆ ที่มีทั้งสิ้น 41,000 ลำ แต่เมื่อเกิดอุทกภัย ไม่พบว่าได้นำเรือดังกล่าวออกมาใช้ จึงเห็นว่าการใช้เงินไม่คุ้มค่า

ขณะที่นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแฉว่า ร่างงบประมาณฉบับนี้ มีการนำหนี้สาธารณะซุกซ่อนไว้จำนวนมาก เช่น การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ไปดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องนำเงินไปชดใช้หนี้ให้ ธกส. ซึ่งเชื่อว่า ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยน่าจะทะลุ 5 ล้านล้านบาทแล้ว นายพิเชษฐ ยังถามรัฐบาลด้วยว่า ที่บอกว่าจะมีการกู้เงินอีก ถามว่า จะหาเงินที่ไหนมาลดเงินต้น รัฐบาลทำได้แค่การลดเงินปีละกว่า 20,000 ล้านบาทเท่านั้น “ประเทศไทยถูกน้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนเสียหาย คนเป็นล้านคนได้รับผลกระทบ แต่วันนี้รัฐบาลกลับพูดแต่เรื่องรถคันแรก บ้านหลังแรก ผมอยากให้รัฐบาลใช้งบประมาณให้ถูกเป้าหมายดีกว่าการนำไปใช้ในนโยบายประชานิยม รวมไปถึงงบกลางจำนวน 120,000 ล้านบาท ที่มีการนำไปลงทุนในสิ่งที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินเลย ซึ่งไม่ทำให้สถานการณ์ประเทศดีขึ้น”

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ยืนยันว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน “รัฐบาลจำเป็นต้องมีการลงทุนบริหารจัดการประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้นคงมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่ม การที่รัฐบาลกู้ยืมเงินเพิ่ม ถ้าหากดำเนินการได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ส่วนการมีหนี้เพิ่มนั้น ถ้าเราสร้างระบบเพื่อให้การทำมาหากินประเทศสร้างรายได้ประชาชาติ ดำเนินการไปยั่งยืนให้เกิดความเชื่อมั่น การกู้ยืมไม่เกิดความเสียหาย และการกู้ยืมโครงการต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่า ต้องไม่ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วันที่สอง(5 ม.ค.) ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นถามว่าเหตุใดโทรทัศน์ช่อง 11 จึงไม่ถ่ายทอดการประชุม ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า ช่อง 11 ติดภารกิจถ่ายทอดงานบีโอไอแฟร์ จังหวะนั้นนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้หยิบไอแพดที่กำลังถ่ายทอดสดช่อง 11 ซึ่งเป็นภาพพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)เกมส์ ที่ จ.สุพรรณบุรี ขึ้นชูกลางสภา ก่อนกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ถือว่าเป็นการหักหลัง(รัฐบาล)ไม่ทำตามที่พูด จะปิดหูปิดตาประชาชนหรืออย่างไร ถ้าทำอย่างนี้จะเสนอนับองค์ประชุม

ด้านนายวิชาญ ชี้แจงอีกครั้งโดยอ้างว่า การถ่ายทอดดังกล่าวได้มีการทำข้อตกลงสัญญากันตั้งแต่ก่อนจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสภา โดยมีการตัดถ่ายทอดสลับกับงานบีโอไอแฟร์ ทั้งนี้ ความไม่พอใจของนายบุญยอด ส่งผลให้บรรยากาศตึงเครียด เพราะนายบุญยอดเสนอให้นับองค์ประชุม ส่งผลให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ต้องชิงสั่งพักการประชุมถึง 2 รอบ กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและประชุมต่อได้

สำหรับบรรยากาศการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วันสุดท้าย(6 ม.ค.) ที่น่าสนใจได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเสนอให้ตัดลดงบของกระทรวงการคลังลง 10% เพราะการจัดสรรงบไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมแสดงความกังวลว่า การที่รัฐบาลจะกู้เงิน โดยออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 3-4 ฉบับ จะเป็นการก่อหนี้เพิ่มอีกนับล้านล้านบาท นายกรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นโยบายด้านภาษีที่รัฐบาลช่วยผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยก็ยังทำไม่ได้สักเรื่อง ขณะที่การดูแลค่าครองชีพประชาชน รัฐบาลก็เริ่มปรับลดสิทธินโยบายช่วยค่าครองชีพประชาชนลงแล้ว เช่น ปรับลดจำนวนหน่วยค่าไฟฟรีจาก 90 หน่วย เหลือเพียง 50 หน่วย ทำให้ประชาชน 4 ล้านครัวเรือนเสียสิทธิ์ใช้ไฟฟรี

ส่วนงบของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้รับจัดสรร 7,500 ล้านบาทนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ต่างอภิปรายโจมตีว่า กระทรวงการต่างประเทศทำงานในทิศทางเพื่อคนคนเดียว เช่น การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็อภิปรายว่า คณะทูตานุทูตในวงการสหประชาชาติรู้สึกอึดอัดใจกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลุกขึ้นชี้แจงโดยสวนกลับว่า สิ่งที่ตนทำเชื่อว่ายังดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ที่คอยตามล่าคนคนเดียวจนขัดแย้งทั่วโลก นายสุรพงษ์ ยังอ้างด้วยว่า การออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องของกรมการกงสุลที่ดำเนินการตามขั้นตอน

ทั้งนี้ หลังอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ กัน 3 วัน ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ด้วยคะแนน 272 ต่อ 3 เสียง ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โดดประชุมสภาฯ 2 วัน โดยเข้าประชุมในช่วงเย็นของวันที่สาม ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติในช่วงดึก ได้กล่าวขอบคุณสภาที่ให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พร้อมย้ำว่า จะนำเม็ดเงินงบประมาณไปใช้อย่างคุ้มค่า โปร่งใส และให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2554

4. สรุป 7 วันอันตราย ดับ 335 ราย “นครสวรรค์-บุรีรัมย์” ตายมากสุด ขณะที่ 10 จังหวัดไร้ตาย!
รถทัวร์กรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ชนรถปิกอัพ บริเวณสี่แยกใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ดับคาที่ 12 ศพ บาดเจ็บอีก 4 ราย(31 ธ.ค.54)
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ได้สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่รวม 7 วัน(29 ธ.ค.2554-4 ม.ค.2555) หรือ 7 วันอันตราย ว่า เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,093 ครั้ง ลดลงจากปี 2554 (3,497 ครั้ง) 404 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 11.55 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 335 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 23 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งสิ้น 3,375 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 375 คน

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จ.เชียงราย 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครสวรรค์ และบุรีรัมย์ 18 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในช่วง 7 วันอันตราย มี 10 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุโขทัน ,ตาก ,หนองคาย ,อุดรธานี ,ศรีสะเกษ ,นนทบุรี ,ตราด ,สตูล ,ยะลา และปัตตานี ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากเมาสุรา รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิกอัพ ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลา 16.00น.-20.00น.
กำลังโหลดความคิดเห็น