xs
xsm
sm
md
lg

ยัดหนี้กองทุนฯ ครม.โยนธปท. ปูสั่งโต้ง-ธีระชัยจูบปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ครม.ปู" รับทราบในหลักการ พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับ หลังถกเครียด เหตุกลัวถูกด่า นายกฯ สั่ง "กิตติรัตน์- ธีระชัย" ไปจูบปากก่อนแถลงข่าว คู่เกาเหลารับมุขต่างคนต่างไป ล่าสุด"ธีระชัย" กลับลำ อ้างจำเป็น ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติมึนรัฐบาลโยนหนี้กองทุนฟื้นฟูพร้อมดอกเบี้ยมาให้ เผยกองทุนฟื้นฟูเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก ธปท.แล้ว จะโอนหนี้ต้องระบุให้ชัดเจนใช้เครื่องมืออะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. เมื่อวานนี้ ( 4 ม.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 3 ห้องประชุมกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งเป็นนัดแรกต้อนรับศักราชใหม่ปี 2555 โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมใช้เวลานานพอสมควรในการพิจารณา เรื่องที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เสนอขอความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. 4 ฉบับ เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศไทย ที่จะมีการกู้เงินมาใช้ดำเนินมาตรการเยียวยาวฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์น้ำท่วม 4 แสนล้านบาท รวมทั้งให้ปรับปรุงระบบบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ด้วย ปรากฏว่า ครม.มีการหารือกันอย่างเคร่งเครียดในประเด็นการกู้เงินจำนวนมากซึ่ง อาจทำให้เป็นเป้าโจมตีรัฐบาล

ครม.เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและที่ผ่านมาทั้งนายกิตติรัตน์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง มีปัญหาขัดแย้งในการทำงาน และพูดเรื่องเดียวกันแต่ไม่ตรงกัน จึงถกเถียงกันว่าควรที่แถลงให้สาธารณชนทราบได้หรือไม่ และได้มากน้อยแค่ไหน และพิจารณาเรื่องนี้โดยขอเรียกเก็บเอกสารกลับคืนทั้งหมดด้วย และเลขาธิการ ครม. แจ้งตั้งแต่ต้นว่า เป็นเรื่องห้ามแถลง

นายธีระชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดได้ ต้องเปิดเผย อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ไม่มีอะไรต้องปกปิด

ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ท่านต้องเข้าใจการเมืองด้วย ถ้าไม่พูดได้จะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แล้วประชาชนจะนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทันทีว่า พรรคเพื่อไทยไปว่าเขา ออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่แล้วคุณก็ออกเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เหมือน เราต้องไปหาความต่างของเราก่อนว่าเป็นอย่างไร

"เราต้องกู้เงินแน่นอน ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีเงินมาใช้ฟื้นฟู แต่ก่อนจะไปพูดขอให้ไปจัดระบบความคิดให้ดีก่อน รอไว้กลับจากการประชุม ครม.ที่ จ.เชียงใหม่ก่อน ยังจะดีกว่า"
 

ขณะที่นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การที่เราไม่พูดอะไรออกไป แต่ชาวบ้านก็คิดไปไกลแล้ว นักข่าวสายเศรษฐกิจรู้หมดแล้วว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับ มีเรื่องอะไรบ้างโดยส่วนตัวก็รู้ว่า ควรจะพูดอย่างไร แต่ไม่ขอพูดในชั้นนี้ ขณะที่นายกฯ เห็นว่าเราพูดได้ แต่ให้แถลงในหลักการเพียงกว้างๆ เราผ่านพ้นการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมมาแล้ว ตอนนี้ประชาชนกำลังจับตาว่า เราจะฟื้นฟูเยียวยาอย่างไร และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ พร้อมสรุปมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ และนายธีระชัย ไปให้สัมภาษณ์สื่อพร้อมกัน หลังการประชุม ครม.เสร็จสิ้น แต่ปรากฎว่า นายกิตติรัตน์ กลับออกห้องประชุมครม.ไปก่อน ส่วนนายธีระชัย ออกไปตอนใกล้จะเลิกประชุม โดยไม่ได้มีการแถลงร่วมกันแต่อย่างใด

ต่อมานายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบในหลักการเรื่องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 4 ฉบับ โดยมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไปหารือในรายละเอียดกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เนื่องจากพบข้อขัดข้องในเรื่องของข้อกฎหมายว่าจะตราเป็นกฎหมายในรูปแบบใด ส่วนเนื้อหานั้นยังคงเดิมทั้ง 4 ฉบับ

ด้านนายกิตติรัตน์ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดการภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น ยอดหนี้ดังกล่าวเกิดจากการกู้มาเพื่อแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินในปี 2540 โดยกำหนดให้เป็นภาระที่กระทรวงการคลังต้องชำระดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วน ธปท.มีหน้าที่ดูแลภาระเงินต้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้มีการจัดการกับปัญหาหนี้ดังกล่าวอย่างเหมาะสม

"การแก้กฏหมายก็เพื่อให้ ธปท.สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน เป็นอัตราร้อยละของยอดเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง" นายกิตติรัตน์ กล่าว
 

ทั้งนี้ การออกกฎหมายจะรองรับแนวทางที่จะทำให้ ธปท.มีเงินไปชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ แต่ต้องไม่เกิน 15% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชำระเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยอยู่ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น ยอดเงินต้นและดอกเบี้ยที่รวมกัน 15% จะต้องไม่เกิน 3.6 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งการจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง

นายกิตติรัตน์อ้างว่า กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่จากวิธีการทั้งหมดนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และจะไม่เข้าไปแตะต้องทุนสำรองระหว่างประเทศ และจะไม่กระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ

"ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูร่างก่อนดำเนินการ แต่ต้องเร็ว เพราะงบ 3.5 แสนล้านบาทที่ใช้ลงทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำจะต้องเริ่มได้เร็วก่อนที่หน้าฝนจะมาถึง ต่างประเทศจ้องดูอยู่และเป็นห่วง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายไม่น้อย" นายกิตติรัตน์กล่าว

"ธีระชัย” พลิกลิ้นอ้างจำเป็น
 

ส่วนนายธีระชัยกล่าวว่า ที่มีความกังวลว่ารัฐบาลเตรียมแผนเอาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูไปซุกไปหมกไว้ในบัญชีของ ธปท.เพื่อเอื้อให้รัฐบาลกู้ยืมเงินได้เพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจำเป็นเอาหนี้ไปซุกใน ธปท.เพราะอัตราหนี้ถือว่ายังต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเอเชีย และในยุโรป ถ้าไม่จัดการปัญหาให้ดีจะสร้างภาระให้งบประมาณ ตลอดที่ผ่านมารัฐบาลจะต้องหาเงินไปชำระดอกเบี้ยอีก
“ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นหนี้ ที่จะเอาไปซุกซ่อนใน ธปท.เพื่อบีบให้ ธปท.พิมพ์เงินขึ้นมา แต่รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าไปบริหารหนี้ของกองทุนฟื้นฟูโดยเร็ว เพื่อให้สามารถบริหารประเทศต่อไป ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาด้านวินัยทางการเงิน การคลัง รวมถึงจะไม่เป็นกระบวนการไปบีบ ธปท.ให้พิมพ์แบงก์และส่งผลกระทบต่อเงินทุนสำรองของประเทศอย่างแน่นอน" รมว.คลังกล่าว.

แบงก์ชาติลั่นต้องระบุให้ชัด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวกรณีรัฐบาลจะออก พ.ร.ก.แก้ไขการบริหารหนี้ของกระทรวงการคลัง โดยโอนหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดมาให้ ธปท. ว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนฟื้นฟูฯเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก ธปท. และต้องรู้เรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนว่าจะให้กองทุนฟื้นฟูฯใช้เครื่องมืออะไรในการบริหารจัดการหนี้ และคำว่า “ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.” ก็ต้องรู้รายละเอียดว่าจะให้ ธปท.ดำเนินการอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นท้ายที่สุดแล้วหนี้ดังกล่าวก็จะกลับกลายมาเป็นภาระการคลังได้

“ช่วงก่อนหน้านี้จดหมายที่กระทรวงการคลังส่งมายังกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คงสถานะกองทุนฟื้นฟูฯ ไว้ก่อน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในยามที่อนาคตเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากในกฎหมายพ.ร.บ.ธปท.ปี 51 ระบุยกเลิกบทบาทกองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเป็นคนละวัตถุประสงค์นี้ จึงไม่ใช่บทบาทให้กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในอดีต”

ต่อข้อซักถามที่ว่าหากในอนาคตกองทุนฟื้นฟูฯ จะออกพันธบัตรมาชำระหนี้และให้ธปท.เป็นผู้ซื้อพันธบัตรดังกล่าวเป็นการทั่วไป ทางธปท.จะสามารถซื้อพันธบัตรดังกล่าวได้หรือไม่ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ปกติผู้ลงทุนจะตัดสินใจซื้อพันธบัตรอะไรจะต้องดูฐานะผู้ออกพันธบัตร
ส่วนในอนาคตพันธบัตรลักษณะนี้จะออกขายให้ธปท.จะได้หรือไม่นั้นก็ขอดูรายละเอียดเนื้อหาในกฎหมายปี 51 ก่อนว่าธปท.จะสามารถลงทุนในพันธบัตรประเภทอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงคุณภาพพันธบัตรด้วย เพราะหากผู้ออกพันธบัตรมีฐานะย่ำแย่ ธปท.ก็อาจจะซื้อไม่ได้เพราะผิดกฏหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการโอนหนี้สินดังกล่าวมาให้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่ปัจจุบันฐานะกองทุนฟื้นฟูฯ กลับมีสินทรัพย์แค่ 1 แสนล้านบาทจะเป็นการเพิ่มภาระให้กองทุนฟื้นฟูฯ หรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า การโอนหนี้ทั้งก้อนมาให้กองทุนฟื้นฟูฯ จะมีผลให้ฐานะกองทุนฟื้นฟูฯติดลบ เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯมีอยู่ จึงต้องดูให้ชัดเจนว่ากองทุนฟื้นฟูฯจะรับหนี้สินดังกล่าวด้วยบริบทอะไร

"ธีระชัย” พลิกลิ้นอ้างจำเป็น
ส่วนนายธีระชัยกล่าวว่า ที่มีความกังวลว่ารัฐบาลเตรียมแผนเอาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูไปซุกไปหมกไว้ในบัญชีของ ธปท.เพื่อเอื้อให้รัฐบาลกู้ยืมเงินได้เพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจำเป็นเอาหนี้ไปซุกใน ธปท.เพราะอัตราหนี้ถือว่ายังต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเอเชีย และในยุโรป ถ้าไม่จัดการปัญหาให้ดีจะสร้างภาระให้งบประมาณ ตลอดที่ผ่านมารัฐบาลจะต้องหาเงินไปชำระดอกเบี้ยอีก

“ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นหนี้ ที่จะเอาไปซุกซ่อนใน ธปท.เพื่อบีบให้ ธปท.พิมพ์เงินขึ้นมา แต่รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าไปบริหารหนี้ของกองทุนฟื้นฟูโดยเร็ว เพื่อให้สามารถบริหารประเทศต่อไป ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาด้านวินัยทางการเงิน การคลัง รวมถึงจะไม่เป็นกระบวนการไปบีบ ธปท.ให้พิมพ์แบงก์และส่งผลกระทบต่อเงินทุนสำรองของประเทศอย่างแน่นอน" รมว.คลังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น