xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ซัด! พ.ร.ก.โอนหนี้ ปล้นคลังหลวง เปิดช่อง ครม.แทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “คำนูณ” ซัดร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เปิดช่อง ครม.แทรกแซง “3 ปล้น 1 กดหัว” ชี้ เอาเงินเหลือจากบัญชีผลประโยชน์ไปใช้ไม่ต้องส่งคลังหลวงตาม พ.ร.บ.เงินตรา ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ บังคับแบงก์ชาติใช้หนี้ที่บังคับโอนมา แถมกดหัวให้อยู่ใต้อาณัติ ครม.ธนาคารพาณิชย์โดนด้วยต้องส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ แล้วใช้เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากแทน

วานนี้ (4 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เปิดเผยร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .....ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปทบทวนใหม่

นายคำนูณ โพสต์ข้อความว่า “ถ้าร่าง พ.ร.ก.ซุกหนี้ที่ไม่ผ่าน ครม.วันนี้เป็นไปตามนี้จริง ถือว่าคนเขียนไร้หิริโอตัปปะ และเหี้ยมมาก เป็น “3 ปล้น 1 กดหัว” : ปล้นที่ 1 ปล้นคลังหลวง (บัญชีทุนสำรองพิเศษ) โดยมาตรา 7(2) กำหนดให้นำเงินที่เหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมาเลยไม่ต้องส่งไปคลังหลวงตาม พ.ร.บ.เงินตรา อันจะทำให้คลังหลวงไม่มีโอกาสจะมีเงินเพิ่มอีกเลยผิดวัตถุประสงค์ของบุรพกษัตริย์ และบรรพชน รวมทั้งหลวงตาที่จะให้คลังหลวงมีแต่เพิ่มไม่มีลด เพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ เท่านั้น

ปล้นที่ 2 ปล้นแบงก์ชาติ โดยมาตรา 7(1) กำหนดให้ร้อยละ 90 ของผลกำไรของแบงก์ชาติต้องไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมา, ปล้นที่ 3 ปล้นธนาคารพาณิชย์ในลักษณะลงโทษแบบเหมารวม โดยมาตรา 8-9-10 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงินเข้ากองทุน และนำเงินจากกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาใช้ ; ส่วน 1 กดหัว คือ กดหัวแบงก์ชาติให้อยู่ใต้อาณัติ ครม.ผิดวิสัยของธนาคารกลางที่มีมาตรฐาน โดยมาตรา 7(3) เปิดกว้างให้ ครม.สามารถกำหนดให้แบงก์ชาติโอนทรัพย์สินใดไปใช้หนี้ก็ได้ : มิน่า ครม.ถึงยังไม่อาจมีมติได้ในวันนี้ !”

สำหรับร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .....ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นำเสนอนั้น ประเด็นหลักอยู่ที่ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบชำระหนี้ทั้งหมด และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้

แหล่งข่าวระบุว่า ในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.ก.นี้ กำหนดให้กองทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ ได้แก่ หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ 2541 ที่ยังคงมีอยู่ และหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 ที่ยังคงมีอยู่ ยอดหนี้ทั้ง 2 ก้อนนี้ มียอดรวมกันประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

ต่อมาในมาตราที่ 5 บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนเงินต้นกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยกำหนดให้เงินหรือสินทรัพย์ตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ ให้นำส่งเข้าหรือรับขึ้นบัญชีสะสมดังกล่าว

ทั้งนี้ ใน มาตรา 7 กำหนดว่า ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธะต้องดำเนินการ 3 ประการ
ได้แก่ (1) ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5(2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ (3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ขณะที่ มาตรา 8 ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้แก่กองทุนตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

มาตรา 9 สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบและไม่เสียเงินเพิ่ม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้สถาบันการเงินนั้นชำระเงินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดมาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังโอนเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 เข้าบัญชีตามมาตรา 5
เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยุบเลิกกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 และมาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ปัจจุบันคือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) รักษาการตาม พ.ร.ก.นี้

ด้าน พระครูอรรถกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล นันทโน) เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร ในฐานะตัวแทนลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ผู้ดูแลเรื่องเงินและทองคำที่บริจาคให้ ธปท.กล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง และในฐานะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ดูแลเงินคลังหลวง มีความเป็นห่วงในเรื่องการโอนหนี้ของ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จากภาครัฐมาไว้ที่ ธปท.หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แม้ว่าจากการที่ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกคนก็ได้รับปากกับคณะลูกศิษย์ว่า จะไม่แตะต้องเงินคลังหลวง ซึ่งเป็นเงินจากจิตศัทธาของประชาชนก็ตาม เพราะหนี้กองทุนเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับกำไรของทุนสำรอง ทั้งฝั่งทุนสำรองฝ่ายกิจการธนาคาร และทุนสำรองเงินตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น