xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ซัดร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ปล้น “คลังหลวง-ธปท.-ธ.พาณิชย์” เปิดช่อง ครม.จุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (แฟ้มภาพ)
ส.ว.สรรหา เปรียบร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ ครม.ถูกตีกลับ “3 ปล้น 1 กดหัว” ชี้ เอาเงินเหลือจากบัญชีผลประโยชน์ไปใช้ ไม่ต้องส่งคลังหลวงตาม พ.ร.บ.เงินตรา ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ บังคับแบงก์ชาติใช้หนี้ที่บังคับโอนมา แถมกดหัวให้อยู่ใต้อาณัติ ครม.ธนาคารพาณิชย์โดนด้วย ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ แล้วใช้เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากแทน

วันนี้ (4 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เขียนข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัว คำนูณ สิทธิสมาน (Kamnoon Sidhisamarn)กรณีที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เปิดเผยร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .....ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปทบทวนใหม่

โดย นายคำนูณ เขียนว่า “ถ้าร่าง พ.ร.ก.ซุกหนี้ที่ไม่ผ่าน ครม.วันนี้เป็นไปตามนี้จริง ถือว่าคนเขียนไร้หิริโอตัปปะ และเหี้ยมมาก เป็น “3 ปล้น 1 กดหัว” : ปล้นที่ 1 ปล้นคลังหลวง (บัญชีทุนสำรองพิเศษ) โดยมาตรา 7(2) กำหนดให้นำเงินที่เหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมาเลย ไม่ต้องส่งไปคลังหลวงตาม พ.ร.บ.เงินตรา อันจะทำให้คลังหลวงไม่มีโอกาสจะมีเงินเพิ่มอีกเลย ผิดวัตถุประสงค์ของบุรพกษัตริย์และบรรพชน รวมทั้งหลวงตาที่จะให้คลังหลวงมีแต่เพิ่ม ไม่มีลด เพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ เท่านั้น

ปล้นที่ 2 ปล้นแบงก์ชาติ โดยมาตรา 7(1) กำหนดให้ร้อยละ 90 ของผลกำไรของแบงก์ชาติต้องไปใช้หนี้ที่บังคับโอนมา, ปล้นที่ 3 ปล้นธนาคารพาณิชย์ในลักษณะลงโทษแบบเหมารวม โดยมาตรา 8-9-10 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงินเข้ากองทุน และนำเงินจากกองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาใช้ ; ส่วน 1 กดหัว คือ กดหัวแบงก์ชาติให้อยู่ใต้อาณัติ ครม.ผิดวิสัยของธนาคารกลางที่มีมาตรฐาน โดยมาตรา 7(3) เปิดกว้างให้ ครม.สามารถกำหนดให้แบงก์ชาติโอนทรัพย์สินใดไปใช้หนี้ก็ได้ : มิน่า ครม.ถึงยังไม่อาจมีมติได้ในวันนี้ !”

สำหรับร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. .....ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นำเสนอนั้น เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ประเด็นหลักอยู่ที่ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องรับผิดชอบชำระหนี้ทั้งหมด และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้

แหล่งข่าวระบุว่า ในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.ก.นี้ กำหนดให้กองทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ ได้แก่ หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลัง กู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ 2541 ที่ยังคงมีอยู่ และหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 ที่ยังคงมีอยู่ ยอดหนี้ทั้ง 2 ก้อนนี้ มียอดรวมกันประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

ต่อมาในมาตราที่ 5 บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนเงินต้นกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยกำหนดให้เงินหรือสินทรัพย์ตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ ให้นำส่งเข้าหรือรับขึ้นบัญชีสะสมดังกล่าว

ทั้งนี้ ในมาตรา 7 กำหนดว่า ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธะต้องดำเนินการ 3 ประการ ได้แก่ (1) ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5 (2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ (3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ขณะที่ มาตรา 8 ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้แก่กองทุนตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

มาตรา 9 สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบและไม่เสียเงินเพิ่ม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้สถาบันการเงินนั้นชำระเงินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังโอนเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยุบเลิกกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541

และมาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ปัจจุบันคือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) รักษาการตาม พ.ร.ก.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น