xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวเวนคืน “ปทุมวัน-ราชเทวี” สร้างทางด่วน - ผู้ว่าฯ กทพ.ยันไม่กระทบวังสระปทุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม (ภาพจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย)
เผยรายละเอียดแนวเวนคืนสร้างทางด่วนบางโคล่-แจ้งวัฒนะ ผ่านวังสระปทุม-สยามพารากอน ผู้ว่าฯ กทพ.แจง พ.ร.ฎ.เวนคืนล่าสุดเป็นขั้นตอนตามกฎหมายเพื่อต่ออายุ พ.ร.ฎ.เดิมที่ทำมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งละ 4 ปี หลังจากติดปัญหาชุมชนบ้านครัวไม่ยินยอม ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบาย ยืนยันไม่เวนคืนวังสระปทุม-พารากอน-เซ็นทรัลเวิลด์

หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เตรียมที่จะเวนคืนที่ดินวังสระปทุม ซึ่งปัจจุบันที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อก่อสร้างทางพิเศษเชื่อมระหว่างทางด่วนศรีรัช และทางด่วนเฉลิมมหานคร ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กับมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคล ซึ่งมตรา 29 ประกอบกับมตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 34 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทสไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 และมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤาฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดสี่ปี

มาตรา 4 ที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางพิเศษ สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่

มาตรา 5 ให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 6 เขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่เขตราชเทวีและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีส่วนแคบที่สุดสามร้อยห้าสิบเมตร และส่วนกว้างที่สุดหกร้อยเมตร ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในตอนท้ายของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ยังไม่แล้วเสร็จ สมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

สำหรับแนวเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ระบุว่ามีส่วนที่แคบที่สุด 350 เมตรและส่วนที่กว้างที่สุด 600 เมตร โดยแนวเวนคืนด้านถนนพระราม 6 เริ่มตั้งแต่สี่แยกพงษ์พระราม บริเวณใต้ทางด่วนศรีรัช ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองมหานาคเข้าสู่พื้นที่เขตราชเทวี จากนั้นไปทางทิศตะวันออก ผ่านซอยพญานาค ซึ่งกินพื้นที่ชุมชนบ้านครัวเหนือ และชุมชนบ้านครัวใต้ ผ่านสะพานเฉลิมหล้า 56 (สะพานหัวช้าง) ในรัศมี 50 เมตรจากคลองแสนแสบ ก่อนขนานไปกับถนนเพชรบุรีด้านทิศใต้ ห่างจากแยกราชเทวี 370 เมตร ผ่านแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารถ ถนนวิทยุ กินพื้นที่อาคารศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซา, ศูนย์การค้าแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักเพลินจิต ก่อนจะบรรจบทางพิเศษเฉลิมมหานคร

จากนั้นแนวเวนคืนที่ดินจะไปทางทิศใต้ ขนานกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร 200 เมตร จากนั้นไปทางทิศตะวันตก ขนานไปกับคลองแสนแสบ ผ่านถนนวิทยุ เมื่อผ่านถนนราชดำริไป 200 เมตร แนวเวนคืนที่ดินจะไปทางทิศใต้ บรรจบกับถนนพระราม 1 ผ่านสามแยกเฉลิมเผ่าในรัศมี 450 เมตร กินพื้นที่วัดปทุมวนารามวรวิหาร และพื้นที่บางส่วนของศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นแนวเวนคืนที่ดินจะขึ้นไปทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก ผ่านพื้นที่วังสระปทุม สะพานเฉลิมหล้า 56 (สะพานหัวช้าง) กินพื้นที่ถนนพญาไทในรัศมี 50 เมตรจากคลองแสนแสบ จากนั้นจะเบี่ยงขนานไปกับถนนพระราม 1 ผ่านสี่แยกเจริญผล ซึ่งกินพื้นที่สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 1 ถึงสี่แยกพงษ์พระราม

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2551 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างทางการพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ใช้บังคับนาน 4 ปี โดยให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน โดยในช่วงที่ผ่านมาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างถนนรวมและกระจายการจราจร หรือซีดีโรดบริเวณดังกล่าว นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2536 เป็นระยะเวลากว่า 19 ปีแล้ว ซึ่งได้บรรจุโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนแม่บททางพิเศษที่ต้องดำเนินการ แต่เกิดปัญหาพิพาทกับชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (3 ม.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ว่า การต่ออายุ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนในทางปฏิบัติจะเวนคืนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงคมนาคมก่อน สำหรับปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้โครงการก่อสร้างทางลงช่วงถนนราชดำริไม่แล้วเสร็จตามแผน คือ ไม่สามารถเวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนบ้านครัวได้ เพราะประชาชนในพื้นที่คัดค้านอย่างหนัก แต่แนวเส้นทางเวนคืนจะไม่ผ่านพื้นที่วังสระปทุม ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยแนวเส้นทางจะเลียบคลองแสนแสบแต่ไม่ข้ามคลองแสนแสบมาฝั่งนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทพ.ได้ปรับแบบก่อสร้างบริเวณนี้หลายครั้ง เพื่อเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด แต่ชาวบ้านชุมชนบ้านครัวยังคงคัดค้าน ส่งผลให้ กทพ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเวนคืนที่ดินได้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว การต่ออายุ พ.ร.ฎ.เวนคืน ถือเป็นการดำเนินงานปกติ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งละ 4 ปี แต่การเวนคืนไม่สามารถดำเนินการได้มานานแล้ว เพราะมีปัญหามวลชนต่อต้านมาก ส่วนในอนาคตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ต้องเป็นเรื่องของระดับนโยบายที่จะตัดสินใจ
แนวเวนคืนที่ดิน ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554
ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมบนกูเกิลแม็พ แสดงถึงแนวเวนคืนที่ดินช่วงที่ผ่านวังสระปทุม วัดปทุมวนารามวรวิหาร และศูนย์การค้าสยามพารากอน (ภาพจากเว็บไซต์เสรีไทยเว็บบอร์ด)
กำลังโหลดความคิดเห็น