xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ศปภ.ผลาญเงินบริจาค 500 ล้าน “สุขา-เต็นท์นอน” กลิ่นทุจริตหึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุขากระดาษ
สื่อหยิบรายละเอียดเงินบริจาค ศปภ.ชำแหละ พบรับเงินบริจาค 816 ล้าน ใช้ไป 507 ล้าน เหลือแค่ 371 ล้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซื้อเต็นท์นอนไม่มีชั้นความร้อน 2 ครั้ง พบส่วนต่างสูงถึง 800 กว่าบาท ขณะที่สุขากระดาษแพงกว่าของมูลนิธิซิเมนต์ไทยกว่าเท่าตัว จับตา ศปภ.อนุมัติซื้อหัวเชื้ออีเอ็มแก้น้ำเน่าเสียเพิ่ม

วานนี้ (8 พ.ย.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปรายละเอียดการใช้เงินรับบริจาคผ่านบัญชีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2554 ณ วันที่ 3 พ.ย.2554 มียอดรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-2 พ.ย.2554 รวมทั้งสิ้น 816,323,457.57 ล้านบาท เมื่อรวมกับยอดเงินบริจาคและดอกเบี้ยที่เหลืออยู่ก่อนหน้านี้อีก 60 กว่าล้านบาทแล้ว กองทุนมีเงินรวม 878,487,897.44 ล้านบาท

ขณะที่รายจ่ายของกองทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-3 พ.ย.2554 มีจำนวน 507,114,560 ล้านบาท จึงมียอดคงเหลือ 371,373,337.44 ล้านบาท โดยรายจ่ายสำคัญของกองทุน คือ การจัดหาถุงยังชีพ 3 รายการ วงเงินรวมกว่า 294.634 ล้านบาท ประกอบด้วยการจัดหาเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่นๆ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 173,124,560 ล้านบาท การจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคในการบรรจุร่วมกับสิ่งของบริจาคสำหรับสนับสนุนภารกิจของ ศปภ.จำนวน 71,510,354.79 ล้านบาท และค่าจัดหาถุงยังชีพของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ จำนวน 1 แสนถุงๆ ละ 500 บาท อีก 50 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดการใช้เงินสำหรับจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้อื่นๆ ของ ปภ.จำนวน 173,124,560 บาท ประกอบด้วย 14 รายการ คือ

1.เรือท้องแบนไฟเบอร์กลาส 30 ลำๆ ละ 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท
2.เรือพาย 209 ลำๆ ละ 5,500 บาท รวมเป็นเงิน 1,149,500 บาท
3.ห้องสุขาเคลื่อนที่ ทำด้วยไฟเบอร์ 18 ห้องๆ ละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 576,000 บาท
4.ถุงยังชีพ 10,000 ถุงๆ ละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 5 ล้านบาท
5.สุขากระดาษ 30,088 ชุดๆ ละ 245 บาท รวมเป็นเงิน 7,371,560 บาท
6.ถุงยังชีพถุงละ 800 บาท 100,000 ถุง รวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท
7.เต็นท์นอน 2 คนแบบไม่มีชั้นความร้อน 2,700 หลัง หลังละ 925 บาท รวมเป็นเงิน 2,497,500 บาท
8.เต็นท์นอน 2 คน แบบไม่มีชั้นความร้อน 1,200 หลัง หลังละ 1,750 บาท รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท
9.เต็นท์นอน 2 คนแบบมีชั้นความร้อน 3,100 หลัง หลังละ 1,950 บาท รวมเป็นเงิน 6,045,000 บาท

10.เต็นท์นอน 3 คน ทรงสูงแบบมีชั้นความร้อน 3,100 หลัง หลังละ 3,450 บาท รวมเป็นเงิน 4,485,000 บาท
11.เต็นท์นอน 4 คน ทรงสูงแบบมีชั้นความร้อน 1,950 หลัง หลังละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,800,000 บาท
12.เต็นท์ยกพื้นขนาดนอน 5-6 คน 200 หลัง หลังละ 55,000 บาท รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาท
13.สุขาเคลื่อนที่ 800 หลัง หลังละ 32,000 บาท รวมเป็นเงิน 25,600,000 บาท
14.สุขามือถือพลาสติก 30,000 ชุดๆ ละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การใช้เงินบริจาคใน การจัดซื้อเต็นท์นอน 2 คน แบบไม่มีชั้นความร้อนในรายการที่ 7 และ 8 ซึ่งเป็นรายการเดียวกัน กลับมีราคาแตกต่างกันถึง 825 บาทต่อหลัง ขณะที่ ในรายการที่ 5 การจัดซื้อสุขากระดาษ ที่ระบุว่า มีราคาชุดละ 245 บาท จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการจัดซื้อที่แพงกว่าสุขากระดาษที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย จัดทำสำหรับบริจาคให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัย มีราคาอยู่ที่ 111 บาทเท่านั้น ดังนั้นการจัดซื้อสุขากระดาษของ ปภ.ครั้งนี้ จึงมีราคาแพงกว่าของมูลนิธิซีเมนต์ไทยถึง 134 บาทต่อ 1 ชุด เมื่อคำนวณจากจำนวนที่ ปภ.จัดจัดซื้อทั้งหมด 30,088 ชุด จะมีราคาแพงกว่า 4,031,792 บาท

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก ศปภ.ยังเปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงกลาโหมแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียภายใน 15 วัน โดยกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นประธานในการดำเนินการ ในชั้นของการหารือผู้แทนกระทรวงทรัพยากรฯ จะขอใช้อีเอ็มที่ได้รับบริจาคมา แต่ทางกระทรวงกลาโหมไม่แน่ใจที่มาของเชื้อจุลินทรีย์ ว่าจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือไม่ เนื่องจากจุลินทรีย์มีหลายประเภท และมีวิธีการทำแตกต่างกัน จึงเสนอให้แยกพื้นที่ในการบำบัด เพื่อวัดผลว่าการบำบัดได้ผลในพื้นที่ใดและไม่ได้ผลในพื้นที่ใดบ้าง

แต่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ.และกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เห็นด้วยกับการแยกดำเนินการ จุลินทรีย์ที่กระทรวงทรัพยากรฯ อ้างว่าได้มาจากการบริจาคนั้น หากต้องการปริมาณมากต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาทำหัวเชื้อในราคาลิตรละ 3 บาท แต่หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่กระทรวงกลาโหมนำมาใช้นั้นมีราคาเพียงลิตรละ 80 สตางค์ และประชาชนสามารถนำเชื้อจุลินทรีย์ไปขยายหัวเชื้อต่อได้ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เนื่องจากหัวเชื้อ 1 ลิตร นำไปขยายหัวเชื้อได้จำนวนมาก
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว โดยนำส้วมกระดาษมาแสดงเป็นตัวอย่าง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น