xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” แจงสภา งบปี 55 วาระ 2 ลด 4.3 หมื่นล้าน “กรณ์” ห่วงกู้บานทำหนี้ท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวรายงานงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2555 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2555 จำนวน 2.380 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2555 แล้วเสร็จ (4 ม.ค.55) 
สภาถกงบปี 55 วาระ 2 “กิตติรัตน์” แจงปรับลด 4.3 หมื่นล้าน ยึดหลักการเคร่งครัด แต่แปรงบเพิ่มให้หน่วยงานตามร้องขอจนเต็มวงเงิน ฝ่ายค้านรุมสับรัฐบาลปูแดง ดีแต่กู้หนี้ ทำ ปชช.แบกหนี้ท่วมหัว ถล่มรัฐทุ่มงบปรองดอง แต่กลับเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงสร้างความแตกแยก เจอ “เพื่อไทย” สวนทันควัน ยันปกป้องประชาธิปไตย ด้าน “กรณ์” ห่วง รบ.ตะลุยกู้หนี้ ต้องยึด 7 ข้อพึงปฏิบัติ

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.50 น.การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 2,380,000 ล้านบาท หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้น

โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อที่ประชุม ว่า สารสำคัญ กรรมาธิการได้พิจารณาปรับลดงบประมาณลงจำนวน 43,429 ล้านบาท โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ เช่น เป้าหมายการใช้งบประมาณ, ผลการดำเนินงานจริง, เวลาที่เหลือในการใช้งบบอีกประมาณ 8 เดือน รวมถึงให้ความสำคัญของการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่ก็มีการปรับเพิ่มงบประมาณรายการต่างๆ ที่ ครม.มีความเห็นชอบและหน่วยงานต่างๆ ขอแปรญัตติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 9 ในวงเงินเท่ากับวงเงินที่ปรับลดรวมวงเงิน คือ ปรับเพิ่ม 43,429 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสมาชิกโดยเรียงรายมาตรา เริ่มจากมาตรา 3 งบประมาณรายจ่ายภาพรวมทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท โดยสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติได้เสนอให้ตัดงบบางส่วนลง เนื่องจากไม่มั่นใจต่อการบริหารของรัฐบาล และบางส่วนก็มีความซ้ำซ้อน อีกทั้งหากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มจะเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะให้กับประเทศ

โดย น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย จากพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า งบประมาณที่นำเสนอต่อที่ประชุมขณะนี้ ยังมีส่วนที่สามารถปรับลดลงได้ แบ่งเป็น 1.งบประมาณที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการทำงานที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น โครงการปราบยาเสพติด นโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐ, การพิทักษ์สถาบัน ที่พบว่า ได้จัดสรรงบประมาณทุกกระทรวง แต่ไม่สามารถประเมินผล หรือประสิทธิภาพการดำเนินการได้ 2.งบประมาณที่ไม่ได้พิจารณาผลกระทบในวงกว้าง เช่น โครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แบบปูพรมทั่วประเทศ ซึ่งการประชุมของ กมธ.ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานได้ท้วงติงผลกระทบที่อาจจะเกิดกับตัวนักเรียน ในด้านอีคิว และ ไอคิว รวมถึงสายตา

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายถึงงบปรองดองไม่ได้ตั้งทุกกระทรวง แต่ตั้งทุกกรม จำนวน 528.1 ล้านบาท ดูแล้วปรองดองไม่ได้ เพราะสีต่างๆ หยุดหมดแล้ว เหลือแต่สีแดงยังไม่หยุด มีการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง สร้างความแตกแยก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไม่จริงใจเรื่องปรองดอง หากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก็ปรองดองไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ตัดไป เพราะไม่มีประโยชน์ หากมีพฤติกรรมแบบนี้

ทำให้ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงทันที ว่า ผู้อภิปรายเลยเถิดไปถึงหมู่บ้านเสื้อแดง ว่า ทำให้เกิดความแตกแยกไม่เกิดความสามัคคี ซึ่งจริงๆ แล้วหมู่บ้านเสื้อแดง ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ไม่ได้ทำลายความปรองดอง ขอให้ถอนคำพูด สุดท้ายประธานที่ประชุมตัดบท เตือนผู้อภิปราย ว่า ให้อภิปรายในกรอบของงบประมาณ

ด้าน นพ.สุกิจ อภิปรายต่อว่า ในกรณีที่ คอป.มีข้อเสนอให้นำนักโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีความผิดในกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนักโทษผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปขังไว้ที่เรือนจำชั่วคราว โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ซึ่งเรือนจำชั่วคราวมีความแตกต่างจากคุกธรรมดา ที่มีทั้งความแออัด และการแพร่เชื้อโรค แต่กลับมีแนวคิดจะนำนักโทษในคดีหมิ่นไปขังไว้ที่นั่น ซึ่งเป็นที่ที่สบายกว่าคนอื่นเขา เป็นเรื่องที่ตนยอมไม่ได้ เพราะตนรักพระเจ้าอยู่หัว ใครมาดูหมิ่น มันจะมาสบายไม่ได้

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เสนอให้ปรับลดงบประมาณในมาตรา 3 ลงร้อยละ 15 ซึ่งประชาชนสับสนว่า สุดท้ายแล้วทำไมรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ที่เคยต่อต้านการกู้เงินทุกรูปแบบที่จะทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่ม แต่กลับสนับสนุนร่า งพ.ร.บ.งบฯ ปี 55 ที่ทำให้รัฐบาลและประเทศมีหนี้สาธารณะถึง 4 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 55 นี้ เคยผ่านการพิจารณาของ ครม.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาแล้วครั้งนั้น ตั้งงบให้มีการขาดดุลแค่ 3.5 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้กลับให้เพิ่มงบขาดดุลเป็น 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ครม.จะมีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ รมว.คลัง กู้เพิ่มถึง 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งรวมหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 7.5 แสนล้านบาท ภายในเวลา 4 เดือน ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ได้สร้างผลงานเลย

นายกรณ์ กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะกู้เงินต้องมีความชัดเจนใน 7 ข้อที่พึงปฏิบัติคือ 1.จุดจบของการกู้เงินเมื่อใด รวมทั้งจุดจบการตั้งงบชำระหนี้ที่เพียงพอ เพราะหากไม่จัดสรรเตรียมงบที่จะคืนเงินต้นแล้วเมื่อไหร่หนี้จะหมด 2.ต้องเผื่อว่าจะมีความผันผวนของดอกเบี้ย และรายได้รัฐบาล ตัวอย่างอิตาลีปัจจุบันล่มสลายทางเศรษฐกิจ เพราะอัตราดอกเบี้ยเพิ่มโดยไม่มีการเตรียมเงินรองรับ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยของรัฐบาลปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุก 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จะเพิ่มภาระต่อรัฐบาลเป็น 4 หมื่นล้านบาท จึงอยากถามว่ารัฐบาลเตรียมรองรับในส่วนนี้ไว้หรือยัง ส่วนเรื่องของรายได้นั้น รัฐบาลกำลังปรับลดลงจากนโยบายปรับลดภาษีประเภทต่างๆ เช่น การยืดระยะเวลาจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของรัฐบาลที่อาจจะไม่เพียงพอรองรับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้ 3.การใช้เม็ดเงินต้องคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและประชาชน รวมทั้งต้องพึงระวังว่าจะลดความเสี่ยงต่อการกู้ยืมเงินของรัฐบาลด้วย

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า 4.ต้องชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะหยุดกู้เงินที่ยังไม่มีความชัดเจน 5.ต้องชัดเจนว่าเมื่อกู้เงินมาแล้ว เงินที่กู้มาในแต่ละปีจะเอาไปทำอะไรบ้าง แค่งบกลางในส่วนของงบฟื้นฟูน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท จนถึงวันนี้มีรายละเอียดของโครงการแค่ 4.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น 6.รัฐบาลต้องประสานกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทุกหน่วยงานของประเทศ อาทิ สำนักงบประมาณ ธปท.เพราะที่ผ่านมาการทำงานเหมือนชวนทะเลาะกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากจะมีผลกระทบบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อประชาชนและนักลงทุนแล้ว ยังสร้างความสับสนในการกำหนดนโยบายต่างๆ แค่เรื่องแก้ไขปัญหานี้กองทุนฟื้นฟู ไม่ใช่แค่ขัดแย้งกับ ธปท.แต่รัฐบาลขัดแย้งกันเองด้วย และ 7.การบริหารงานเบิกจ่ายเงินที่กู้ยืมมาต้องโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล เช่น เรื่องการผลักภาระให้กองทุนฟื้นฟูโอนหนี้สาธารณะให้ ธปท.ซึ่งถือเป็นการขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะ ธปท.ไม่มีรายได้ จึงไม่มีช่องทางในการชำระหนี้ แต่รัฐบาลสามารถเก็บภาษีและมีรายได้อื่นๆ มาชำระหนี้ได้ วิธีเดียวที่จะทำได้ คือ ให้แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรให้รัฐบาล

“ส่วนที่มีข่าวว่า รัฐบาลจะไปเอาเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีเงินสะสมกว่า 8 หมื่นล้านบาท มาชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯแทนนั้น ซึ่งปกติเงินที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเอามาจ่ายให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็จะนำเงินส่วนนี้ที่เป็นเงินค้ำประกันผู้มีบัญชีเงินฝากมาจ่ายหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯแทน อยากถามว่าหากธนาคารพาณิชย์เกิดขาดสภาพคล่อง ผู้ที่มีบัญชีเงินฝากในสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไปเอาเงินคืนจากใคร” นายกรณ์ กล่าว

ส่วน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเป็นห่วงต่องบลงทุน เพราะรายได้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการลงทุนประจำปี และยังมีรายงานจากกรมบัญชีกลาง ว่า สามารถเบิกได้จริงได้แค่ร้อยละ 65 หรือแสนกว่าล้าน ซึ่งคำนวณแล้วจะได้ใช้เงินลงทุนเพียงร้อยละ 10 ที่เหลือส่วนใหญ่ใช้ไปกับงบประจำปีเช่นเงินเดือนที่มีการเพิ่มสูงขึ้นทุกวันเช่น จะมีการปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เงินค่าแรงรายวัน 300 บาท และยังมีการเอาหนี้สาธารณะไปซุกซ่อนตามสถาบันการเงินต่างๆ จำนวนมาก เช่น ให้ ธ.ก.ส.ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ปีนี้ค้างอยู่แสนกว่าล้าน ก็ถือเป็นงบลงทุนเช่นกัน รัฐบาลชุดนี้เป็นหนี้กองทุนประกันสังคมอีก 4 หมื่นกว่าบาท ยังไม่รวม แบงก์ออมสิน แบงก์เอสเอ็มอี รวมทั้งสิ้นคาดว่า จะทะลุ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งน่าตกใจ เพราะกลายเป็นดอกเบี้ย ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องใช้ดอกเบี้ยไปทั้งสิ้น 1.7 แสนล้าน และยังมีหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมาอีก 1.16 ล้านล้าน ดอกเบี้ยแต่ละปีเกินไปกว่าแสนล้านบาท แล้วจะหาเงินที่ไหนมาลดเงินต้น ตนจึงขอปรับลดงบในมาตรา 3 ลงร้อยละ 2



กำลังโหลดความคิดเห็น