xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เตือนออก พ.ร.ก.กู้ตั้ง กนย.เสี่ยงขัด รธน.ชี้ล้วงเงิน ธปท.ส่อกระทบความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“อรรถวิชช์” เผย ครม.เงา ชี้มติ ครม.อนุมัติช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างน้ำท่วม 1.7 หมื่นล้าน น้อยมาก แถมไม่จบในปีเดียว ส่อชัดเจอท่วมซ้ำ เตือนออก พ.ร.ก.กู้ 3.5 แสนล้าน ตั้งกองทุน กนย.เสี่ยงขัด รธน.ฉะล้วงกระเป๋า ธปท.ใช้หนี้ปี 40 ส่อแทรกแซงอิสระการเงิน ด้าน “สรรเสริญ” ห่วงวิกฤตความเชื่อมั่น หยันรัฐที่ดีต้องรับผิดชอบได้ไม่ใช่โยนหนี้ให้แบงก์ชาติใช้

วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.ในฐานะโฆษกคณะรัฐมนตรี (ครม.) เงาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม.เงา ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงมติ ครม.ที่ออกมาใน 4 เรื่อง คือ เรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วม ที่ ครม.ได้มีการนำความเห็นของคณะยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยเราเห็นว่า ไม่มีมติข้อใดของ ครม.ที่ออกตามความเห็นของ กยน.ซึ่งจะทำให้คนไทยมั่นใจว่า ปัญหาน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นอีกในปีหน้า เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างมีจำนวนน้อยมาก คือ 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และไม่ได้เป็นการทำงานที่จบในปีเดียว เพราะถูกแบ่งเป็นสองก้อนในปี 55 จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท และปี 56 จำนวน 4.5 พันล้านบาท เห็นชัดว่าที่บอกปีหน้าน้ำจะไม่ท่วมเป็นไปได้ยาก เพราะเฉพาะตัวโครงการที่มีงบน้อยแล้ว ยังเป็นโครงการที่คาบเกี่ยว 2 ปี

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า กยน.เองก็ตั้งใจจะตั้งกองทุนยุทธศาสตร์อนาคตประเทศไทย (กยอ.)ที่มีงบประมาณสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้ขอเตือนไปยังรัฐบาล ว่า ถ้าจะออกโดยการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการกู้ยืมเงินจำนวนนี้ ขอให้ระมัดระวังเพราะหลายโครงการไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จภายในปีเดียว ดังนั้น ต้องคำนึงถึงการออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ด้วย เทียบเคียงจากสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ทำโครงการไทยเข้มแข็ง โดยเป็นการออก พ.ร.ก.เงินกู้ก่อนเพราะทำในปีแรก ส่วนงบอีกครึ่งหนึ่งจะทำเป็น พ.ร.บ.ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ออก ดังนั้น ขอเตือนรัฐบาลระวังในการตั้งกองทุน กยอ.ว่า ถ้าใช้วิธีการออก พ.ร.ก.ด้วยอำนาจของ ครม.โดยตรงทั้งหมดแล้ว สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะหลายโครงการของรัฐบาลเป็นโครงการระยะยาว

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีมาตรการที่จะมีการนำเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปใช้คืนหนี้สินที่เกิดขึ้นจากกองทุนฟื้นฟูในปี 40 นั้น ขอให้รัฐบาลระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการคิดที่จะเอามือของรัฐบาลล้วงไปหยิบเงินของ ธปท.สัญญาณแบบนี้ไม่สู้ดี เพราะ ธปท.มีความอิสระในการบริหารนโยบายด้านการเงิน ดังนั้น หากรัฐบาลเริ่มไปล้วงกระเป๋าของ ธปท.ออกมา โดยที่เขาไม่ยินยอม ความน่าเชื่อถือด้านการเงินของประเทศจะมีปัญหากับต่างชาติ รวมทั้งความอิสระของ ธปท.ก็จะลดน้อยลงไปด้วย

ด้าน นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.ในฐานะ รมช.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรามีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ ธปท.เนื่องจากเราเป็นห่วงว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ รัฐบาลจะทำให้เป็นวิกฤตความเชื่อมั่นต่อแบงก์ชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการในการร่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายที่ดีต้องปฏิบัติได้จริง แหล่งเงินที่นำมาใช้จ่ายต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้ภาคเศรษฐกิจส่วนอื่น ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กว่า 2 ปีเศษมีการกู้เงินประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หลายครั้งเป็นการออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ที่ไม่ได้ใช้เงินกู้อย่างเต็มวงเงิน เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไปได้แล้ว หลายครั้งออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่เต็มวงเงิน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราสามารถผลักจีดีพีให้โตได้ถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 53 และเป็นประเทศที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค เมื่อมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดนี้อยู่แค่ 5 เดือน มีผลจะกู้ถึง 1.1 ล้านล้านบาท เรากังวลว่าในเงินจำนวนนี้ 3.5 แสนล้านบาท จะเอาไปตั้งกองทุนกยอ. ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดว่าเนื้อหาในกองทุนจะเอาไปลงทุนด้านใด และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องกู้เงินอีก

นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นตนไม่อยากพูดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ กับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ในเรื่องของการผลักภาระค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้ ธปท.เพราะรัฐบาลที่ดีต้องรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่ใช่เอาเงินไปทำนโยบายตัวเองเป็นหลัก พอถึงช่วงวิกฤตจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็ผลักภาระให้ ธปท.เป็นคนใช้แทน มีความพยายามโอนหนี้กองทุนผฟื้นฟูไปให้ ธปท.ซึ่งสามารถลดค่าช้าจ่ายรัฐบาลได้ปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท และมีความพยายามให้ธปท.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง นอกเหนือจะรับผิดชอบตัวเองไม่ได้แล้ว ยังเป็นการล้วงเงินในธปท.เอาเงินไปทำส่วนอื่นที่ไม่จำเป็น พอถึงเวลาจำเป็นจริงๆ ก็ไปปล้นเงินจากธปท.มา หากรัฐบาลทำครั้งนี้สำเร็จเราก็เชื่อว่าปีหน้าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือมีภัยพิบัติอีก รัฐบาลก็จะทำแบบนี้อีก ซึ่งจะกระทบต่อวิกฤตความเชื่อมั่นในธปท.และนโยบายการเงิน

“การที่ นายกิตติรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่าขอให้ ธปท.ดูแลผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมนั้น เรากลับเห็นว่าเป็นมุมมองที่กลับกัน สิ่งที่ ธปท.ทำคือการรักษาระบบโดยรวมการเงิน การคลัง เพื่อที่จะไม่ให้นักการเมืองไปแทรกแซงกิจการการทำนโยบายการเงิน และธปท.เป็นคนดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม ทางกลับกันรัฐบาลเอาตัวรอดมองแต่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีความชัดเจนในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งเรื่องการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการแก้กฎหมายให้ ธปท.รับหนี้จากกองทุนฟื้นฟูไป เราอยากเรียกร้องว่าหลายครั้งที่มีรัฐบาลขัดแย้งกับ ธปท.ไม่อยากให้การขัดแย้งออกมาต่อสาธารณะ เพราะจะทำลายความเชื่อมั่น เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ แค่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียวความเชื่อมั่นก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ดังนั้น อย่าเพิ่มความเชื่อมั่นในเรื่องนี้เข้าไปอีก” นายสรรเสริญ กล่าว

นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังจะกระทบกับสถานะเงินสำรองของประเทศแน่นอน เพราะสาเหตุที่ ธปท.อาจจะชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูได้ล่าช้าประมาณ 2 แสนล้านบาทจากทั้งหมดที่อยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาท เพราะฐานะของ ธปท.ยังไม่ดีพอ แต่เรื่องนี้ยังต้องดูในรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง และต้องมีการดูกรรมวิธีในการทำ การรวมบัญชีและเรื่องอื่นๆ ต้องทำความเข้าใจในหลายภาคส่วน ซึ่งตนคิดว่าหากมาทำเรื่องนี้ในตอนนี้ก็จะเกิดความแตกแยกขึ้นอีกมาก จึงไม่ควรทำในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม แผนบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลได้เคยเสนอเข้ามาตอนรับตำแหน่งมีการทำงบขาดดุลถึง 6 ล้านล้านบาทใน 4 ปี เฉลี่ยแต่ละปี 1.5 ล้านล้านบาท ก็พอจะเห็นภาพว่าลักษณะการใช้เงินของรัฐบาลมีขนาดไหน สะท้อนถึงกระบวนการร่างนโยบายที่มุ่งเกทับอย่างเดียว ไม่สนอย่างอื่นขอแค่ชนะเลือกตั้ง สุดท้ายความเสียหายจะอยู่ที่ภาคส่วนไหนก็ไม่สนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น