xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลชง"ฟลัดเวย์"เข้าครม. มาร์คฉะละเลงงบ3.5แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 17.30 น. วานนี้ (26 ธ.ค.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม กยน. ว่า มีข้อสรุปที่จะเสนอแผนเข้าครม.ในวันนี้ เป็นแผนที่ครอบคลุมภารกิจระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้น หมายถึงการดำเนินการเรื่องที่สามารถทำได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี หลายเรื่องต้องทำให้เสร็จภายใน 4-5 เดือนข้างหน้า เพื่อให้พร้อมเผชิญกับฤดูฝนในปีหน้า
ส่วนระยะยาว จะต้องดำเนินการด้านต่างๆ ในการป้องกันและความเสี่ยงอุทกภัยให้สมบูรณ์ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด โดยหลายโครงการต้องหาพื้นที่ในการเก็บรักษาน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งแก้มลิง ฝาย อ่างเก็บน้ำ เพราะเราไม่ได้ทำเรื่องการระบายเท่านั้น
"นอกจากนี้ ยังมีแผนในการทำเส้นทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ โดยที่ประชุมยังไม่ต้องการมีข้อยุติว่า จะหมายถึงคลองขนาดใหญ่ หรือหมายถึง ลักษณะของการทำพื้นที่ให้พร้อมเป็นพื้นที่ระบายน้ำในฤดูกาล หรือถาวร ที่ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบอีกครั้ง ในแผนจะมีแนวเส้นทางทั้งตะวันตก และตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเส้นทางระบายน้ำจะสนับสนุนจังหวัดอื่นด้วย ไม่ใช่สร้างเพื่อคนกรุงเทพฯ เท่านั้น" นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงที่มาของเงินกู้ 3 แสนล้านบาท จะกู้จากในประเทศหรือต่างประเทศ ว่า ตนเชื่อว่าส่วนใหญ่จากทั้งหมด จะเป็นทรัพยากรการเงินจากในประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการบางส่วน เป็นการใช้งบประมาณประจำปีตามปกติ โดยเฉพาะการซ่อมสร้างบางส่วนให้เหมือนเดิม ส่วนของการระดมเงินใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการสร้างใหม่ แต่ ตนขอไม่เรียนรายละเอียด เพราะการนำเข้า ครม.จะมีความเห็นของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่อาจนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้ย้ำอีกครั้งว่า แผนขณะนี้เสร็จแล้ว ถามว่าลงไปถึงมีโครงการปฏิบัติการหรือไม่ ก็มีแล้วหลายโครงการ แต่ยังไม่เป็นรายละเอียดที่ต้องเข้าครม. แต่ครม.จะเห็นว่าที่ต้องทำคืออะไร
" เคาะแนวก็เคาะวันนี้ ว่าจะมีแผนที่เลยว่า แนวทาง เส้นทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ จะอยู่จากตรงไหนถึงตรงไหน โดยทีมผู้เชี่ยวชาญได้บินสำรวจแล้ว และ ฟลัดเวย์จะทำให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด ส่วนจากต้นทางจากไหนถึงไหนนั้น พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน เพราะต้องให้ครม.ได้เห็น แต่ก็ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาว เพราะไม่ใช่เส้นทางสั้นๆ ที่ดูแลเฉพาะเมืองหลวง และ ที่มีหลายคนสงสัยว่าปีหน้าน้ำจะท่วมไหม ก็เรียนว่า ในพื้นที่ที่ได้รับการปกป้อง จะไม่ท่วมอย่างแน่นอน หมายถึงเขตที่เป็นเขตเศรษฐกิจ หรือเป็นเขตที่ประชากรหนาแน่น เรามีหน้าที่ดูแลท่านเหล่านั้น ทั้งสังคมและเศรษฐกิจด้วย พื้นที่ที่มีความเสี่ยง จะหมายถึงพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งผู้อยู่อาศัยจำนวนไม่มาก พื้นที่เหล่านั้นจะได้รับการประสานกับเกษตรกร หรือผู้ที่อยู่อาศัยว่าจะขอ ดูแลท่านอย่างดีในกรณีที่ได้รับผลกระทบ โดยเหตุผลที่จะดูแลท่านได้อย่างดี เนื่องจากจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจะน้อยแล้ว ก็ท่านก็สมควรจะได้รับการดูแลอย่างดี เพราะถ้าหากมีปริมาณน้ำมากถือว่าท่าน เป็นผู้เสียสละให้ระบบรวมได้รับความปลอดภัย" รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ กล่าว

** "มาร์ค"ขวางแผนละเลงงบ3.5แสนล.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแผนการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่เตรียมใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ในการฟื้นฟูและป้องกันน้ำท่วม ว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องของรายละเอียดโครงการที่จะดำเนินการ เพราะหากเป็นการใช้จ่ายในเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภค ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากทันที แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรกคือ การเยียวยาประชาชนให้ครอบคลุม ที่ต้องเร่งรัดและไล่ดูแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ตนเห็นว่ารัฐบาลมีแต่การเสนอขอเงิน แต่กลับไม่มีโครงการจากคนในพื้นที่ไปยังส่วนกลาง ทั้งๆ ที่จะเป็นผู้ทราบดีที่สุดว่าปัญหาการระบายน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ดังนั้น หากใช้วิธีกำหนดโครงการจากบนลงล่าง ไม่น่าจะพอ เพราะในทางปฏิบัติเมื่อส่วนกลางกำหนดโครงการมายังพื้นที่ แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่มีความเข้าใจ ขาดความร่วมมือจากชาวบ้าน ก็จะเกิดปัญหาการระบายน้ำอยู่ดี จึงอยากให้มีกระบวนการรับฟังข้อเสนอจากแต่ละลุ่มน้ำก่อนที่จะกำหนดเป็นมาตรการแก้ไข
" ผมไม่เชื่อว่าการประกาศจะใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท สามารถแก้ปัญหาน้ำได้ภายใน 6 เดือน ก่อนที่น้ำจะมา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการที่ต้องลงทุนก่อสร้าง ไม่มีทางทำเสร็จภายใน 6 เดือน หรือก่อนถึงฤดูน้ำในปีหน้า แต่สิ่งที่ทำได้ก่อนคือ ปรับปรุงการบริหารจัดการ นี่คือเหตุผลที่ต้องรีบระดมความเห็นจากโครงการในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กหรือการปรับปรุงสภาพพื้นที่บางอย่าง เช่น การรื้อสิ่งกีดขวาง การทำแก้มลิง ขุดลอดคูคลองนาจะทำได้เร็วกว่า และนักลงทุนก็คงจะถามคำถามพื้นฐานว่า ถึงเวลาที่น้ำมาในปีหน้า เมื่อเทียบกับปีนี้ จะมีความแตกต่างอย่างไร ซึ่งผมยืนยันมาตลอดว่า ถ้ารัฐบาลไม่กล้าเผชิญข้อเท็จจริงว่า มีปัญหาในการบริหารจัดการน้ำ จะสร้างความเชื่อมั่นได้ยากมาก" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลพูดถึงแต่ตัวเลขงบประมาณจำนวนมหาศาล และเตรียมเร่งรัดการใช้จ่าย จะกลายเป็นช่องว่างในการทุจริตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่า เงินจะนำไปใช้ทำอะไร กรอบเวลาในการใช้เงิน คืออะไร ถ้าบอกว่าเงิน 3.5 แสนล้านบาท คือ การลงทุนระยะยาว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินในขณะนี้ สมมติว่าต้องใช้เวลา 5 ปี ในการทำโครงการ ก็สามารถกระจายภาระงบประมาณได้
ที่สำคัญคือ รัฐบาลยังมีโครงการอีกมากที่ไม่เร่งด่วน แต่กลับไม่มีการทบทวน ทั้งๆ ที่ควรนำงบดังกล่าวมาฟื้นฟูประเทศ และยืนยันว่าหากเงินไม่ได้ใช้ทันที ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เพื่อมาใช้จ่ายใน 4-5 ปีข้างหน้า
" ผมคิดว่าไม่มีเหตุผล ที่ยังไม่สามารถบอกโครงการได้ แต่บอกว่า จะใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือไปไกลเป็นล้านๆ และยังต้องมีระบบในการตรวจสอบทั้งก่อน และหลังด้วย แต่ถ้าไม่มีระบบการตรวจสอบ ก็จะเป็นอันตรายในเรื่องการทุจริตมากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลมีโครงการในใจอยู่ ก็ต้องบอกประชาชนมาเลย อย่างไรก็ตาม จะรอฟังรัฐบาลก่อนว่า มีแนวคิดที่ชัดเจนอย่างไร เพราะผมยังมองว่า สิ่งที่ นายวีระพงษ์ รามางกูร เสนอแทบจะไม่ใช่เรื่องนี้ แต่กลายเป็นการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะมากกว่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น