"กิตติรัตน์" แจงแผนบริหารจัดการน้ำปี 55 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมเปิด 7 โครงการ "เมกะโปรเจกต์" มูลค่าลงทุน 3 แสนล้าน แก้น้ำท่วมแบบครอบคลุมทุกมิติ เริ่มสตาร์ททันทีเดือน ม.ค.นี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) กล่าวให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนในงานสัมมนาเรื่อง การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ ได้รับทราบรายละเอียดของแผนบริหารจัดการน้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนรวมทั้งได้มีส่วนรวมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจหลังเกิดอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมา
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่ปี 2542 และเสร็จในปี 2543 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากจึงไม่กล้าลงทุน แต่หลังจากธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการในแผนดังกล่าว โดยระยะสั้น 6-8 เดือนข้างหน้าจะลงทุนรวม 17,610 ล้านบาท ส่วนอีก 3.5 แสนล้านบาท จะใช้เพื่อจัดการน้ำในระยะยาว
สำหรับการดำเนินการทั้งหมด รัฐบาลจะว่าจ้างคาดว่า จะมีผู้รับเหมางานก่อสร้างจากต่างประเทศเข้ามาร่วมรับงานด้วย ส่วนงบประมาณปีงบ 2555 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ขอให้เข้าใจและร่วมความมือ อย่านำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะรัฐบาลมั่นใจว่าแผนดังกล่าวจะสามารถป้องน้ำท่วมในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีแผนเชื่อมปากน้ำต่างๆ ลงสู่ทะเล ซึ่งอยู่การระหว่างการศึกษาและจะดำเนินการต่อไป
ส่วนสาระสำคัญในการจัดการอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนโดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่น้ำท่วมถึงและพื้นที่ส่วนที่อยู่นอกพื้นที่น้ำท่วมถึง ซึ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึงมีพื้นที่ประมาณ 35,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 18 ล้านคน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างหนาแน่น ประกอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุ่มน้ำ ประมาณร้อยละ 80 และพื้นที่ชุมชนเมืองพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมร้อยละ 20 พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่นอกพื้นที่น้ำท่วมถึงมีพื้นที่123,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 7 ล้านคน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหนาแน่นน้อยกว่า ประกอบด้วยพื้นที่ป่าไม้ เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และมีสัดส่วนพื้นที่ชุมชนเมืองพาณิชยกรรมอุตสาหกรรมน้อย เมื่อเกิดอุทกภัยจะเกิดความเสียหายน้อย
สำหรับโครงการลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีทั้งสิ้น 7 โครงการ รวมงบประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป ได้แก่ โครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ดินต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าสร้างฝาย และอนุรักษ์ต้นน้ำ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก โครงการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานเป็นแก้มลิงแม่น้ำประมาณ 2 ล้านไร่ โครงการจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที โครงการจัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือจากกลุ่มโครงการที่ 3 และที่ 5 รวมถึงโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ ระบบเตือนภัย รวมทั้งจัดตั้งองค์กร กฎระเบียบที่จำเป็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน