xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เปิดแผนจัดการน้ำ คู่ขนาน กยน.ฟื้นความเชื่อมั่น แนะ 3 สิ่งที่ต้องแก้เร่งด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.เผย 6 ยุทธศาสตร์ คู่ขนานแผน กยน.บริหารจัดการน้ำ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน แนะ 3 สิ่งที่ต้องแก้เร่งด่วน “พื้นที่เสี่ยงภัย-การทำงานคนละทิศละทาง-เพิ่มเครื่องมือจัดการน้ำและการแจ้งข้อมูลที่รวดเร็วถูกต้อง “พยุงศักดิ์” ชี้ มาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นได้ แต่หวั่นรัฐทำไม่ได้ตามแผน และไม่ทำโครงการต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ไจก้า” พร้อมร่วมมือรัฐบาลไทยบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวภายในงานสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยระบุว่า หลังจากได้รับฟังคำชี้แจงเรื่องมาตรการการจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาลแล้ว ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีครอบคุลมทุกมิติ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

“สิ่งที่สำคัญ คือ การที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ จึงเชื่อว่าเอกชนและนักลงทุนจะมีความเข้าในการกัปัญหาของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และสามารถฟื้นฟูหรือวางแผนธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีความมั่นใจ และดำเนินการทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วมต่อไป”

นายพยุงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ส.อ.ท.และภาคเอกชน ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 6 แผน เพื่อดำเนินการควบคู่กับแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ควรดำเนินการทันที ได้แก่ 1.การผลักดันการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 2.การดูแลบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำให้ทำงานร่วมกัน และ 3.ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการจัดการน้ำให้ทันสมัย และเผยแพร่ข้อมูลไปสู่ประชาชนอย่างทันท่วงที

ส่วนแนวทางระยะยาวมี 3 แนวทางเช่นกัน ได้แก่ จัดตั้งบริษัทจัดการน้ำระยะยาวในรูปแบบPPP, สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน และรัฐบาลควรสนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคการผลิตและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนในการออกแผนการป้องกันน้ำท่วมในปี 2555 และรัฐบาลควรบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอแนะทั้งหมด มั่นในว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ และจากการรับฟังมาตรการของ กยน.แล้วมั่นใจ แต่จะต้องบริหารจัดการให้ได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ และมีความต่อเนื่องในการดำเนินการแม้เปลี่ยนรัฐบาล

“คงต้องขอย้ำว่านักลงทุนต้องการเห็นการป้องกันน้ำ โดยเฉพาะในช่วงก่อเข้าหน้าฝนในปีนี้ รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และการการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว และการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง”

นายทาเคยะ คิมิโอะ ที่ปรึกษาอาวุโสองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) กล่าวว่า การป้องกันน้ำท่วมอย่างเห็นผล ต้องใช้มาตรการทางโครงสร้างไปพร้อมกับมาตรการที่ไม่ใช่โครงสร้าง โดยมาตรการทางโครงสร้าง ได้แก่ รัฐบาลต้องเก็บน้ำและหันเหทิศทางของน้ำโดยการใช้คูน้ำ, สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่ม และจัดทำ flood way ระบายน้ำลงทะเล ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่โครงสร้าง คือ การปลูกป่า และจัดการการใช้ที่ดินอย่างถูกต้อง

“เชื่อว่า มาตรการการป้องกันน้ำและแผน Master Plan ของรัฐบาลไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในฐานะที่ไทยเป็นพื้นที่ของนักลงทุนต่างประเทศ และพร้อมปรับปรุงแผนของไจก้าในการบริหารลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของทาง กยน.ในการป้องกันผลกระทบได้อย่างรอบด้าน”

นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงแผนของไจก้าแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ มาตรการการใช้โครงสร้าง เช่น วิธีการกักเก็บน้ำ เปลี่ยนทิศทางน้ำ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ การ่ลูกป่าพื้นที่เหนือน้ำ ทำฟลัดเวย์ สร้างอ่างเก็บน้ำและการชดเชยให้พื้นที่ที่ใด้รับผลกระทบ

สำหรับระบบที่ไม่ใช่โครงสร้าง คือการหาพื้นที่ที่ไมใช่การขวางทางน้ำ การจัดทำระบบเตือนภัย การวางแผนการอพยพประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์และการให้ความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์

พร้อมกันนี้ ไจก้าในฐานะตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นขอบคุณรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการญี่ปุ่นเมื่อประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อุตสาหกรรม และหวังว่า จะเพิ่มมาตรการการช่วยเหลือมากขึ้นและขอบคุณความช่วยเหลือเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติสึนามิปี 2554 และพร้อมจะช่วยเหลือประเทศไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน

นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการ กยน.กล่าวว่าในปี2555 รัฐบาลได้ลงทุนงบประมาณ 17,000 ล้านบาท ในช่วง 6-8 เดือนข้างหน้า ในการบริหารจัดการน้ำ หากน้ำมีปริมาณมากเท่ากับปีที่ผ่านมา คือ 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะสามารถบริหารจัดการด้วยเขื่อนจนถึงการปรับปรุงโครงการแก้มลิงและปรับปรุงเส้นทางน้ำหลาก ซึ่งจะมีการทำแนวป้องกันน้ำครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจ อันรวมถึงนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ยกเว้นสหรัตนนคร ที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งท้ายสุดแล้วมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมมากเท่ากับปี 2554

ทั้งนี้ กยน.ได้มีแผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำพร้อมกับมาตรการเยียวยาไว้แล้ว สำหรับความเสียหายปี 2554 ธนาคารโลกประมาณความเสียหายไว้ที่มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจากนี้ไปประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สัมพันธ์กับผังน้ำ โดยบริหารให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดผ่านมาตรการที่ลงทุนสิ่งก่อสร้าง และมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น