xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนกระทุ้งรัฐเร่งเคลียร์น้ำค้างทุ่ง "สุเมธ" แนะทุ่มเท-มัวโอ้เอ้ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอกชนผวา "น้องน้ำ" ยังตามหลอน หอการค้าฯ เปิดเวทีสัมมนา “น้ำ! มิตรหรือศัตรู กับหนทางสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน” จี้รัฐสร้างความเชื่อมั่นน้ำไม่ท่วมอีก พร้อมห่วงงบประมาณรั่วไหล "สุเมธ" เตือนรัฐเร่งเคลียร์น้ำค้างทุ่ง แนะให้ทุ่มเท จะมัวโอ้เอ้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ต้องนับเป็นวัน หวั่นอีก 3 เดือนน้ำมาใหม่กระทบหนัก แนะยึดแนวพระราชดำริจัดการน้ำ ทั้งพื้นที่เกษตรและในเมือง

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา “น้ำ! มิตรหรือศัตรู กับหนทางสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำว่าปีนี้จะไม่เกิดเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะไม่เช่นนั้น เอกชนจะกระทบหนัก หลังจากที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าประมาณไตรมาส 2 จะเดินเครื่องได้ตามปกติ และตอนนั้นน้ำก็จะมาแล้ว ต้องมีมาตรการและแผนงานที่ชัดเจนในการรับมือตั้งแต่ตอนนี้

"ขณะนี้ การฟื้นตัวของภาคธุรกิจนั้นขณะนี้ฟื้นตัวไปเกินกว่าครึ่งแล้ว และจะกลับมาฟื้นตัวได้แบบ 100 % ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ควรที่จะมีความชัดเจนให้เร็วที่สุด เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น"

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า แนวทางในการบริหารจัดการน้ำจากนี้ไป รัฐบาลจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพราะแต่ละปีไทยมีฝนตกทั้งประเทศ 7.4 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่จัดการได้เพียงแค่ 8-9% ที่เหลือตัวใครตัวมัน แล้วแต่น้ำจะไป

“ต้องทุ่มเท จะมัวโอ้เอ้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ต้องนับเป็นวัน เป็นเดือน คิดเป็นปีช้าไป หนอง คลอง บึง ตื้นเขินไปหมด ต้องเร่งขุดลอก ต้องวางแผนหาทางให้น้ำไป เพราะวันนี้น้ำยังค้างในไร่นา ในที่ลุ่มอีกจำนวนมาก ถ้าไม่รีบเคลียร์ให้หมด อีก 3 เดือนเพื่อนใหม่มา น้ำจะไปอยู่ที่ไหน”

นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการน้ำขอให้ยึดแนวพระราชดำริ ในพื้นที่การเกษตรให้เร่งขุดคลองตามแนวแม่น้ำสายหลัก ถ้ากลัวตลิ่งพัง ก็ให้ปลูกหญ้าแฝกยึดดิน จากนั้นให้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ถือเป็นการสร้างแก้มลิงช่วยดึงน้ำเอาไว้ หรือเรียกให้สมัยใหม่ก็ทำแบงก์น้ำ ฝากน้ำเก็บไว้ รวมทั้งให้วางแผนการสร้างฝาย และทางระบายน้ำ

ส่วนในเขตเมือง จะต้องมีทางให้น้ำไหล (ฟลัดเวย์) ซึ่งรัฐจะต้องรีบไปเจรจากับคนในพื้นที่ที่จะทำเป็นฟลัดเวย์ ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอให้น้ำมาก่อน เพื่อให้คนในพื้นที่ก็จะได้รู้ ไม่ต้องทำนา ทำการเกษตร แต่ยังได้เงินชดเชยหากน้ำท่วม

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนั้น จากการที่ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ ได้อนุมัติแผนการบริหารจัดกาน้ำออกมา โดยมีอนุมัติวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนของรายละเอียด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมเหมือนช่วงที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการถือโอกาสลงทุนในอนาคต ซึ่งวงเงินเบื้องต้นที่จะใช้ในการลงทุนในอนาคตนั้นกว่าล้านล้านบาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนั้นทางสภาพัฒฯจะนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และ 10 มารวมไว้ในยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังคงเป็นห่วงในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำด้วยว่า ในช่วง 5-6 เดือนนั้น การบริหารจัดการน้ำจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และจะทำได้อย่างไร และยังมีความกังวลการรั่วไหลของเงิน เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดแจกแจงในส่วนของเงินว่าจะนำไปใช้อย่างไร จึงมองว่าสิ่งที่จะสามารถทำได้เร็วจึงควรเร่งทำ อาทิการดูแล ซ่อมแซมประตูระบายน้ำให้แข็งแรง การขุดคลองเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก รวมไปถึงการบริหารจัดการการปล่อยน้ำจากเขื่อน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะสามารถทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นน้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น