xs
xsm
sm
md
lg

สุเมธห่วง3เดือนท่วม! แนะยึดพระราชดำรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “สุเมธ” เตือนรัฐเร่งเคลียร์น้ำค้างทุ่ง หวั่น 3 เดือนน้ำมาใหม่จะไม่มีที่อยู่ แนะยึดแนวพระราชดำรัสจัดการน้ำ ชี้พื้นที่เกษตรต้องขุดคลอง สระ บึง เก็บน้ำ ส่วนแนวป้องกันเมือง ต้องมีฟลัดเวย์

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ในงานเสวนา “น้ำ! มิตรหรือศัตรู กับหนทางสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน” จัดโดยหอการค้าไทย วานนี้ (13 ม.ค.) ว่า น้ำคือชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งตลอด แต่เวลานี้ เรามองน้ำเป็นศัตรู แต่น้ำไม่ใช่ศัตรู น้ำเป็นธรรมชาติ ถ้าบริหารจัดการได้ ก็จะไม่มีปัญหา พระองค์ทรงรับสั่งมาแล้วตั้งแต่ปี 2538 ในการแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ ผ่านมา 16 ปี ไม่มีใครทำอะไร และไม่มีใครโดนลงโทษ เพราะพระองค์เป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้น้ำในอนาคตมีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีประชากรทั้งโลกประมาณ 6.5 พันล้านคน จะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนในไม่ช้า เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ แต่น้ำเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ทำให้น้ำมีโอกาสขาดแคลน และเกิดสงครามแย่งน้ำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังมา แต่มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้น ในการบริหารจัดการน้ำ ก็ควรจะบริหารอย่างฉลาด เพื่อทำให้น้ำเกิดเป็นประโยชน์มากกว่าโทษเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการน้ำจากนี้ไป รัฐบาลจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพราะแต่ละปีไทยมีฝนตกทั้งประเทศ 7.4 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่จัดการได้เพียงแค่ 8-9% ที่เหลือตัวใครตัวมัน แล้วแต่น้ำจะไป การจะทำให้น้ำเป็นมิตร ก็ต้องหาทางให้น้ำไป ถ้าไม่มีทางให้ไปก็จะมาขึ้นที่ถนนพหลโยธิน แล้วก็จะมุ่งเข้ามาสู่เมืองเหมือนปีก่อน

“ต้องทุ่มเท จะโอ้เอ้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ต้องนับเป็นวัน เป็นเดือน คิดเป็นปีช้าไป หนอง คลอง บึง ตื้นเขินไปหมด ต้องเร่งขุดลอก ต้องวางแผนหาทางให้น้ำไป เพราะวันนี้น้ำยังค้างในไร่นา ในที่ลุ่มอีกจำนวนมาก ถ้าไม่รีบเคลียร์ให้หมด อีก 3 เดือนเพื่อนใหม่มา น้ำจะไปอยู่ที่ไหน”นายสุเมธกล่าว

นายสุเมธกล่าวว่า การจัดการน้ำขอให้ยึดแนวพระราชดำริ ในพื้นที่การเกษตรบริหารจัดการได้ง่ายกว่าการจัดการน้ำในเมือง โดยขอให้เร่งขุดคลองตามแนวแม่น้ำสายหลัก ถ้ากลัวตลิ่งพัง ก็ให้ปลูกหญ้าแฝกยึดดิน จากนั้นให้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ถือเป็นการสร้างแก้มลิงช่วยดึงน้ำเอาไว้ หรือเรียกให้สมัยใหม่ ก็ทำแบงก์น้ำ ฝากน้ำเก็บไว้ รวมทั้งให้วางแผนการสร้างฝาย และทางระบายน้ำ

ส่วนการป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง จะต้องมีทางให้น้ำไหล (ฟลัด เวย์) ซึ่งรัฐจะต้องรีบไปเจรจากับคนในพื้นที่ที่จะทำเป็นฟลัด เวย์ ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอให้น้ำมาก่อน เพราะหากน้ำท่วม รัฐก็ต้องจ่ายชดเชยอยู่แล้ว ก็ไปเจรจาไว้เลยว่า ถ้าปีไหนน้ำมาก จะใช้พื้นที่นี้เป็นฟลัด เวย์ คนในพื้นที่ก็จะได้รู้ ไม่ต้องทำนา ทำการเกษตร แต่ก็ยังได้เงิน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการผังเมือง คมนาคม จะต้องวางแผนการจัดทำถนน หนทาง สะพาน หมู่บ้าน โรงงาน อย่างขวางทางน้ำ ถ้าขวาง ก็ต้องมีทางให้น้ำไป

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ยอมรับว่าแม้จะมีการบริหารจัดการออกมา โอกาสน้ำท่วมก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะลดความรุนแรงลง โดยการคาดการณ์เหตุการณ์ใดๆ เกินกว่า 5-7 วัน เป็นเรื่องยากที่จะมีความแม่นยำ แต่จากคาดการณ์เบื้องต้นพบว่า ปีนี้พายุจะเข้ามากกว่าค่าเฉลี่ยที่ปีละ 40 ลูก แต่บอกไม่ได้ว่าจะเข้าจำนวนเท่าใด ในพื้นที่ใด แต่สามารถสรุปได้ชัดว่าปี 2555 น้ำจะยังมากเหมือนเดิมปี 2554 ที่ผ่านมา โดยพายุจะเข้ามาจำนวนมากช่วงพ.ค.-ก.ค.

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถพิจารณาข้อมูลเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาสภาพอากาศโลกและประเทศแวดล้อมด้วย ซึ่งจากการคาดการณ์องค์กรระหว่างประเทศระบุว่า ไทยเสี่ยงที่จะเผชิญกับสภาพอากาศทั้งปริมาณฝนมากกว่าปกติและสภาพน้ำแล้งซึ่งจะแล้งมากกว่าปกติ ทำให้การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจไม่ใช่คำตอบ แต่ควรเป็นโครงการขนาดเล็กและควรนำข้อมูลสภาพอากาศสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อวางแผนทางการเกษตร

***รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำว่าปีนี้จะไม่เกิดเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะไม่เช่นนั้น เอกชนจะกระทบหนัก หลังจากที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าประมาณไตรมาส 2 จะเดินเครื่องได้ตามปกติ และตอนนั้นน้ำก็จะมาแล้ว ต้องมีมาตรการและแผนงานที่ชัดเจนในการรับมือตั้งแต่ตอนนี้

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนมีความเป็นห่วงว่าในช่วง 5-6 เดือนจากนี้ไป รัฐบาลจะต้องมีแผนงานออกมาชัดเจนว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง โดยสิ่งที่ห่วง ก็คือ ตอนนี้มีการวางแผนบริหารจัดการแล้วหรือยัง โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนอย่างการซ่อมแซมประตูน้ำ ขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก และต้องมีจุดศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ถ้าทำได้ตามนี้ ต่อให้น้ำมาเท่าปีก่อน ก็บรรเทาได้ เพราะเงินก็มีแล้ว เรื่องเงินจึงไม่น่าห่วง แต่ห่วงเรื่องการใช้เงินต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการและประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมคือมหากาพย์เรื่องยาวที่เพิ่งจบบทแรกคือน้ำแห้งเท่านั้น เพราะปัญหาอื่นๆ ยังจะตามมาอีกมาก เช่น การจ่ายสินไหมทดแทนประกัน การฟื้นฟูจากการสูญเสียตลาด การเสียเวลาและโอกาสการทำธุรกิจ ที่ธุรกิจจะพลาดรอบสองไม่ได้นักธุรกิจจึงต้องการความชัดเจนว่าการบริหารจัดการน้ำ ระยะสั้น กลาง ยาวจะเป็นอย่างไร ต้องลงรายละเอียดทั้งขุดคูคลอง ฟลัดเวย์ จะอยู่ตรงไหน ซึ่งเท่าที่ทราบนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังชอบเมืองไทย แม้ความเสียหายขนาดนี้การลงทุนใหม่ง่ายกว่าการฟื้นฟู แต่ยังไม่ไป คือ ความผูกพันที่มีอยู่เดิม จึงอยากให้โอกาสไทยว่าจะสามารถคืนความมั่นใจกลับไปได้หรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น