“เสรี” ระบุปีหน้ามีสิทธิเจอน้องน้ำอีกรอบ แนะรัฐควรมีแผนรับมือที่ชัดเจน เลิกรังเกียจน้ำ แต่ให้ยินดีรับและเปิดพื้นที่บริหารจัดการให้ดี ด้าน อ.จุฬาฯ ติงไม่คุ้มหากย้ายเมืองหลวง ควรทำให้ กทม.มีพื้นที่ว่างมากขึ้นเพื่อรับและระบายน้ำ ขณะที่ อ.ธรรมศาสตร์ มองรัฐกลัวถูกฟ้องทำปอดไม่กล้าใช้ พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณะภัยทั้งที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ
วันที่ 21 ธ.ค. สำนักงานศาลปกครอง ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดเสวนาประชาชน “เรื่องรับมืออย่างไรกับภัยน้ำท่วม” โดยนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากสังคมยังไม่ได้มีการปรับตัวหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจริง เชื่อว่าจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา จากประสบการณ์คิดว่าเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น มาจากคนไทยขาดข้อมูลและให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อมูลสภาวะโลกร้อน ทั้งที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี ได้ทำรายงานออกมาต่อเนื่องตลอด 16 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดมีการระบุว่าในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยมีความล่อแหลมมากที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่มีการแปลและเผยแพร่รายงานให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่การทำงานของรัฐค่อนข้างนิ่ง คูคลองไม่มีศักยภาพในการระบายน้ำ ผังเมืองก็ไร้ระเบียบ และยังมีปัจจัยภายในคือ ฝนตกหนัก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แผ่นดินทรุดตัว พื้นที่สีเขียวหายไป ก่อนหน้านี้ทางธนาคารโลกได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ ไจก้า ทำการศึกษาโดยมองภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 200 ปีข้างหน้าในกรณีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็กลับพบว่าสภาวะโลกร้อนได้ทำให้สิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดใน 200 ปีข้างหน้า อาจเกิดเร็วขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็อาจจะได้นั่งเรือในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน
นายเสรีกล่าวต่อว่า การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดระบบการสนับสนุนการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤต ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็น ในต่างประเทศจะมีแผนรับมือในแต่ละสถานการณ์ไว้เป็นการเฉพาะ แต่ของไทยกลับใช้วิธีการขอเวลาประเมินก่อนจึงจะตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการอย่างไร ทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งเราไม่มีระบบประเมินว่าน้ำจะมาเท่าไหร่ และถ้ามาแล้วจะเอาน้ำไว้ที่ไหน แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ว่า ทั้งภาครัฐและประชาชนทุกคนรังเกลียดน้ำ มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำจนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ประตูน้ำแตกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ตระหนักต่อความเสี่ยงระยะยาว ไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อสู้รับมือกับน้ำ ไม่สามารถประเมินความรุนแรงของน้ำได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 4-5 ชาติ ระบุตรงกันว่าการบริหารความเสี่ยงของไทยไม่ดี ที่ผ่านมารัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ตนก็ร่วมอยู่ด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเลียนแบบประเทศญี่ปุ่น แต่ของญี่ปุ่นนั้นมีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเป็นกรรมการและบริหารงานโดยอิสระ แต่ของไทยกลับมีแต่นักการเมืองที่ประชุมแต่ละครั้งก็มีแต่แย่งกันพูดเหมือนหาเสียง อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อเสนอแนะว่าการแก้ไขปัญหาน้ำ ภาครัฐควรมีมาตรการออกมาให้ชัดหากเกิดน้ำท่วมเราจะให้น้ำอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ไปทำให้นิคมอุตสาหกรรมหรือประชาชนรู้สึกว่าจะต้องถมดินให้สูง เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้วเกิดน้ำมาจริงก็จะเป็นอันตรายอย่างมาก
“เวลานี้ถามกันมากว่า ปีหน้าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ จากข้อมูลพายุ 100 ปี ที่ศูนย์พายุไต้ฝุ่นของประเทศญี่ปุ่นเก็บข้อมูลมาระบุว่าหลังเหตุการณ์ลานินญ่าปี ค.ศ. 2010 พายุจะเพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้ก็พบว่าเป็นจริงตามนั้น โดยเราเจอพายุแล้ว 38 ลูก และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ปีหน้าจะท่วมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพายุเข้าที่ไหน หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็อาจจะท่วมไม่รุนแรง”
ด้าน นายรุธิร์กล่าวว่า แผนรับมืออุทกภัยในด้านโลจิสติกของไทยมีแต่ไม่สามารถขับเคลื่อนผลักดันได้จึงทำให้กลายเป็นจุดอ่อน ซึ่งตามข้อเท็จจริงการจะเปิดปิดประตูระบายน้ำ จะต้องมีแบบจำลองว่าหากเปิดหรือปิดแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน ที่ผ่านมาเรื่องระบบการขนส่งของไทยให้ความสำคัญกับทางบกมากจนลืมว่าเรายังมีช่องทางการขนส่งอื่นที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ช่วงน้ำจะท่วมพระราม 2 รัฐบาลก็ไปเร่งกู้ถนนสาย 340 (กาญจนาภิเษก-บางบัวทอง) เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งลงสู่ภาคใต้ แต่ความจริงแล้วภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งจากทางบกเป็นทางน้ำ โดยใช้ท่าเรือฝั่งอ้าวไทย เช่นท่าเรือแหลมฉบังเป็นหลักในการกระจายสินค้า หรืออย่ากรณีการให้ข้อมูลกับภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม รัฐก็ไม่ได้มีการสร้างความเชื่อมั่นและสื่อสารข้อมูลออกไปว่าน้ำจะเข้ามาถึงจุดที่ตั้งของผู้ประกอบการเมื่อไหร่ และมีปริมาณเมื่อใด หากมีการสื่อข้อมูลออกไปจะทำให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลที่จะใช้ในการวางแผนเรื่องการขนส่งและการผลิต ตัวอย่างของการที่รัฐปล่อยให้ 7 นิคมอุตสาหกรรมจมน้ำ ถือเป็นเรื่องท้าทายการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติว่าจะยังคงลงทุนในไทยต่อไปหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่ย้ายฐานการผลิต โดยจะลงทุนในไทยอยู่ แต่จะไม่ลงทุนทั้งหมด แต่จะมีการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา
นายนพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำทุกคนควรกลับมาคิดว่าเราไม่ควรที่จะสู้กับน้ำ แต่ต้องหาวิธีอยู่คู่กับน้ำใหม่ เพราะประวัติศาสตร์เราไม่เคยต้านน้ำ แต่ปล่อยและใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งตนอยากให้ภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ มีการพูดคุยของ กทม.และจังหวัดปริมณฑล เพราะถ้าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเฉพาะกทม.ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจังหวัดโดยรอบ กทม.จะเป็นผู้ได้รับน้ำแทนคน กทม. ซึ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งของมวลชนขึ้นมา หรือการระบายน้ำควรจะมีการสร้างคลองต่อเชื่อมกันระหว่างคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.กับคลองที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่นคลองทวีวัฒนาไม่ได้เป็นคลองหลักในการระบายน้ำลงสู่ทะเล แต่ถ้ามีการประสานกันระหว่างกทม.กับชุมชนใน จ.นครปฐม ในการที่เจาะเชื่อมทางระบายน้ำลงสู่คลองย่อยของ จ.นครปฐมก็จะทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนเพื่ออกทะเลรวดเร็วมากขึ้น แต่ทั้งหมดต้องมีการหารือทำความตกลงกันระหว่างมวลชนของทั้ง 2 จังหวัด ทั้งนี้ในขณะนี้ทาง กทม.กำลังยกร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งได้มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับแผนการป้องระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม เช่นมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีพื้นที่ซึมน้ำของภาคเอกชน เพื่อลดปัญหาน้ำที่จะเข้ามาสู่การระบาย หรือมีมาตรการจูงใจให้กับภาคเอกชนที่ต้องการสร้างอาคารสูงว่าหากก่อสร้างอาคารแบบประหยัดพลังงานมีการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำฝนภายในอาคารก็จะได้รับสิทธิการสร้างอาคารมากขึ้น ส่วนที่มีการมองว่าอนาคต กทม.จะจมน้ำนั้นควรจะมีการย้ายเมืองหลวง ตนคิดว่าไม่คุ้ม เพราะประเทศไทยกับน้ำเป็นของคู่กัน ขนาดจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมาน้ำยังท่วม เพราะฉะนั้นอยู่ที่ไหนน้ำก็ท่วม ดังนั้น ควรแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และทำให้ กทม.มีพื้นที่ว่างมากขึ้น เพื่อรับและระบายน้ำ
ด้าน นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ประเทศไทยมีการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำต่อเนื่องมาตลอด 40 ปี ทำให้รู้สึกว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ภัยอันตรายที่คาดหมายไม่ได้ ซึ่งตนอยากให้สังคมได้ย้อนคิดว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นวิปริตธรรมชาติ หรือการขาดความรู้ หรือเป็นภัยที่เกิดจากความประมาท ความเห็นแก่ตัว ความไม่รับผิดชอบ ในเชิงกฎหมายมีไม่น้อยกว่า 20 ฉบับที่รัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการใช้ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเพราะไม่รู้หรือไม่กล้าใช้ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐเข้าไปบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น หากเห็นว่าชุมชนใดขวางทางไหลของน้ำรัฐสามารถใช้ พ.ร.บ.นี้สั่งให้มีการรื้อถอนชุมชนได้ทันที แล้วเยียวยาโดยการจ่ายค่าชดเชยให้ แต่รัฐก็ไม่นำกฎหมายนี้มาใช้ และทำให้ประชาชนรู้จักกฎหมายนี้เฉพาะแต่การรองรับการจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนเท่านั้น เท่าที่ทราบการที่รัฐไม่กล้าใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวในการแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าอาจถูกฟ้องร้องเพราะการตรา พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ตราไว้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตราใด หรือเช่นกรณีที่คนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำไม่ยอมที่จะรับน้ำก็มีหลักกฎหมายทั่วไปที่ระบุแนวปฏิบัติในทำนองว่า เอกชนที่มีที่ดินต่ำก็มีหน้าที่รับน้ำ ส่วนเอกชนที่มีที่ดินสูงก็มีหน้าที่ปล่อยน้ำ หากใครมีหน้าที่แล้วไม่ดำเนินการตามหน้าที่ก็ต้องมีความผิด แต่สังคมเราก็ยังรู้เรื่องนี้น้อย หรืออย่างกรณีที่รัฐพยายามกั้นน้ำไม่ให้กระทบ กทม. ก็จะทำให้พื้นที่ด้านข้างเกิดสภาพน้ำท่วมขัง ในหลักกฎหมายทั่วไปในต่างประเทศจะถือว่ารับผลักภาระให้ผู้นั้น ทำให้บุคคลนั้นเกิดสภาพเหมือนถูกเวนคืนที่ดิน ซึ่งรัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชย คดีลักษณะนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเป็นหลักของการแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านสาธารณภัย