xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯแนะทุ่มทุนสร้าง“ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์”แก้น้ำท่วมใหญ่ ฟื้นความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ทำให้หลายฝ่ายเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหลายมิติทั้งระบบ (ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จุฬาฯ ชี้อนาคตสภาพอากาศโลกแปรปรวนวิปริตส่งผลจัดการบริหารน้ำทั้งระบบยากขึ้น เสนอ 11 มาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบหลายมิติ แนะเวนคืนที่ดินเร่งสร้างซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ยาว 200 กม.ผันน้ำลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ควบคุมการถมที่ดิน-พัฒนาเส้นทางคมนาคม สร้างเมืองบริวารสกัดการขยายตัวของกรุงเทพฯ

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่บริหารจัดการยากยิ่งขึ้นในครั้งนี้ ทำให้หลายหน่วยงานมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำไปใช้สำหรับวางแผนจัดการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 22 คน เพื่อรับภารกิจหาแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างถาวร

ล่าสุด หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จัดแถลงเรื่อง “11 มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ : ซุปเปอร์เอ็กซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำของโลก พบว่า ในอนาคตสภาพอากาศจะมีความแปรปรวนถี่ยิ่งขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุโซนร้อน พายุฤดูร้อน ฯลฯ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในแบบเฉพาะพื้นที่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับความขัดแย้งของรัฐบาลแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้มีการทบทวนแผนการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ในส่วนของการบริหาร และการจัดการน้ำ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมและยั่งยืน และไม่ก่อเกิดให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่เหมือนในปีนี้ ซึ่งมั่นใจว่า หากดำเนินการในมาตรการใดมาตรการหนึ่งได้ น่าจะส่ามารถปกป้องเมืองหลวงจากปัญหาน้ำทุ่งหลากเข้าท่วมกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่เสนอนั้น ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 สร้างระบบทางด่วนพิเศษ ระบายน้ำ หรือ ซูเปอร์ฟลัดเวย์ (Super - express floodway) ซึ่งมีระยะทางโดยรวมตั้งแต่คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัทธ์ ใต้ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งรวมระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร

ตามหลักการนี้หากสามารถทำได้ คาดว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่าการขุดคลองใหม่ได้มาก ซึ่งหากทำได้ซูเปอร์ฟลัดเวย์จะช่วยในการกักเก็บน้ำ และช่วยระบายน้ำพร้อมๆ กัน โดยกักเก็บน้ำสูงสุดได้ราว 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำได้ 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ต้องยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับประชาชนที่ต้องสละพื้นที่สำหรับฟลัดเวย์สองฝั่ง โดยระยะห่างของผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นไม่เกินฝั่งละ 1 กิโลเมตร ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ดำเนินการเรื่องโมเดลจำลองของคลองซุปเปอร์ฟลัดเวย์แล้ว แต่อาจต้องทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบ

“หากต้องดำเนินการจริงๆ ในส่วนของซูเปอร์ฟลัดเวย์นั้น รัฐบาลไม่ต้องขุดคลองใหม่ แค่ลอกคลองที่มีอยู่แล้วออกบางส่วนเท่านั้น แต่ต้องมาคุยในรายละเอียดก่อนว่าจะลอกคลองพื้นที่ใด ระยะความลึกเท่าใด และที่สำคัญต้องห้ามประชาชนหรือสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ในพื้นที่ซปเปอร์ฟลัดเวย์ แต่หากไม่มีภัยพิบัติก็สามารถปลูกพืชหรือเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ทำนาข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการซูเปอร์ฟลัดเวย์นั้น อาจทำได้ดีในกรณีป้องกันน้ำทุ่ง แต่หากกรณีพายุนั้นอาจจะไม่ได้ผล หากป้องกันพายุต้องพัฒนาระบบเตือนภัยให้มั่นคง และมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

มาตรการที่ 2 ต้องวางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ ควบคุมการถมดินทั้งระบบ ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลองต่างๆ วางระบบการดูแลคูคลองและขุดลอกสม่ำเสมอ

มาตรการที่ 3 ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยจะต้องศึกษาระบบน้ำในแต่ละปี ศึกษากลุ่มเมฆฝนว่า ปีหนึ่งๆ จะมีฝนตกลงมาเท่าไหร่ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีคนทำ แต่ทำไม่ครบ ตรงนี้ต้องแม่นว่าตกที่ไหน ตกเท่าไหร่ ตกเมื่อไหร่ บอกได้ทั้งหมด ซึ่งเวลานี้หลายประเทศทำได้

มาตรการที่ 4 วางแผนพัฒนากทม. และเมืองบริวารในอนาคต โดยจะต้องปิดกั้นการขยายตัวของกทม. ด้วยการหันไปขยายเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้เป็นเมืองบริวาร เช่น ราชบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี แล้วใช้ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูงเดินทางเข้ามายังกทม.ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

มาตรการที่ 5 ออกมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อตั้งกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ควบคุมการขุดน้ำบาดาล และภาษีทางอ้อมเพื่อปกป้องพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ รวมทั้งกำหนดระยะเพาะปลูก ออกกฎหมายป้องกันชาวบ้านรื้อคันกั้นน้ำ

มาตรการที่ 6 ควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองไทยโดยใช้แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

มาตรการที่ 7 ควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อลดปัญหาแผ่นดินทรุด ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น

มาตรการที่ 8 แผนแม่บทกำหนดระยะเวลาในการเพาะปลูกในลุ่มน้ำท่วมอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับการแปรปรวนของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ช่วงน้ำน้อยทำนา 3 ครั้ง ช่วงน้ำมากงดทำนา เป็นต้น

มาตรการที่ 9 เร่งออกมาตรการอนุรักษ์ปกป้องพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน เพื่อมีการรักษาระบบน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้คนนอกไม่มีสิทธิ์ยุ่งกับแนวทางของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นแก้มลิง หากไม่รู้วิธีบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องของชุมชน เชื่อว่า มาตรการนี้คนในพื้นที่ย่อมเชี่ยวชาญกว่า ดังนั้น ภาครัฐทำแค่ในส่วนของการป้องกันการรุกรานพื้นที่เท่านั่น

มาตรการที่ 10 เร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและพิบัติภัยทั้งระบบ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการภัยพิบัติของภาครัฐด้วย เช่น เปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำออกสู่สื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ปกปิดข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นความลับเนื่องจากเรื่องพิบัติภัยนั้นเกิดผลกระทบต่อทุกคน

มาตรการที่ 11 ตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องภัยพิบัติอย่างถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยระบบพิบัติภัยอย่างจริงจัง ด้วยองค์ความรู้รอบด้าน เพื่อลดพิบัติภัยด้วยความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การจัดการเฉพาะพื้นที่โดยปล่อยให้เป็นไปตามกระแสการเมือง หากดำเนินการตามข้อเสนอเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงตามที่นักวิชาการต่างประเทศวิเคราะห์ เพราะกรุงเทพฯ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น