xs
xsm
sm
md
lg

ส่งสายตรวจเฝ้ารถจอดบนทางด่วน หวั่นแก๊งโจรกรรมฉวยโอกาส

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ประชาชนพากันนำรถยนต์ขึ้นไปจอดหนีน้ำท่วมบนทางด่วน
บช.น.ส่งสายตรวจดูแลรถประชาชนที่ขึ้นไปจอดหนีน้ำท่วมบนทางด่วนหวั่นแก๊งโจรกรรมรถฉวยโอกาสก่อเหตุ ยัน ตร.เข้าใจสถานการณ์พร้อมอะลุ้มอล่วยยกเฉพาะรถที่จอดกีดขวางเส้นทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้าน สตช.ตั้งศูนย์ปราบมิจฉาชีพซ้ำเติมประชาชนช่วงน้ำท่วม ตร.ทางหลวงสรุปจมน้ำสัญจรไม่ได้แล้ว 17 เส้นทาง ราชทัณฑ์พร้อมเคลื่อนย้ายนักโทษ ภายใน 1-2 ชั่วโมง



วันนี้ (23 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น.รับผิดชอบงานจราจร กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติด้านการดูแลปัญหาการจราจรและประชาชนในพื้นที่ กทม.หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม ว่า ในส่วนของงานจราจรตำรวจนครบาลจัดกำลังอำนวยความสะดวกด้านการจราจรดูแลความสะดวกกรณีรถบรรทุกวัสดุ อิฐ หิน ดิน ทราย เพื่อนำไปทำคันกั้นน้ำ,รถขนสิ่งของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือขนย้ายทรัพย์สินของประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งจัดที่จอดรถให้ประชาชน และดูแลไม่ให้มีการจอดกีดขวางการจราจรตามสถานที่ต่างๆ

พล.ต.ต.ภาณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนนำรถไปจอดบนพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สะพานข้ามแยก ทางต่างระดับ และทางด่วนว่าที่จริงแล้วการจอดรถตามที่ต่างเหล่านี้ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินที่ประสบปัญหาอุทกภัย ทางตำรวจจึงผ่อนผันให้มีการจอดได้ในบางจุด ที่ไม่เป็นการกีดขวางความสะดวกและความปลอดภัยในด้านการจราจรโดยต้องไม่นำรถยนต์มาจอดทางขึ้นลงทางด่วนพิเศษ ทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ทุกเส้นทาง รวมถึงสะพานกลับรถและสะพานต่างๆ เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ กีดขวางทางจราจรในการลำเลียงผู้ป่วย และลำเลียงความช่วยเหลือด้านต่างๆ

รองผบช.น.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรถที่นำไปจอดตามที่ห้ามจอดขณะนี้พบว่ามีรถยนต์จำนวนมากจอดซ้อนคัน ส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัด จึงขอให้ผู้ที่นำรถไปจอดในลักษณะดังกล่าวเคลื่อนย้ายรถของตนโดยด่วน โดยนำไปจอดในที่เหมาะสม เช่น บ้านญาติ บ้านเพื่อน จังหวัดใกล้เคียง นอกเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังรวมทั้งผู้ที่นำรถไปจอดแล้วไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายกรุณาไปดูแลรักษารถของตนอย่างสม่ำเสมอพร้อมติดชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ไว้ที่กระจกหน้ารถด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกับเจ้าของรถได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

“ตอนนี้การดูแลรถของประชาชนที่นำมาจอดค่อนข้างยากเพราะรถที่นำมาจอดไม่ค่อยเป็นระเบียบ ไม่สามารถระบุเจ้าของรถยนต์ได้ ปัญหาเรื่องการงัดแงะขโมยรถเราก็เป็นห่วงจึงส่งสายตรวจ 191 ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตรวจเป็นระยะ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานสถิติโจรกรรมรถเหล่านี้ จึงอยากให้ประชาชนที่จะนำรถไปจอดทิ้งบนทางด่วน หรือสะพานข้ามแยกต่างๆพึงระวังเพราะนอกจากจะเสี่ยงถูกโจรกรรมแล้วยังเสี่ยงอุบัติเหตุด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็พยายามอะลุ้มอล่วยยกรถเฉพาะคันที่กีดขวางจริงๆ เท่านั้นเพราะเห็นว่าเป็นภาวะจำเป็น แต่รถในกรุงเทพมหานคร มีกว่า 4 ล้านกว่า แต่ที่จอดรถที่มีการจัดไว้รองรับได้แค่ 70,000 คันเท่านั้น จึงควรหาที่อื่นที่ปลอดภัยและห่างน้ำเช่นต่างจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม” พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รรท.ผบช.ภ1 กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามเพิ่มขึ้นเพื่อสอดส่องดูแลป้องกันมิจฉาชีพที่จะเข้ามาโจรกรรมทรัพย์สินของประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำงานกันอย่างเต็มที่โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำกำลังมาช่วยเพิ่มเติมและแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดยนำเรือออกสำรวจตรวจตราในพื้นที่น้ำท่วมอย่างเข้มงวด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลทรัพย์สินของประชาชน พร้อมย้ำว่าบทลงโทษมิจฉาชีพที่เข้ามาโจรกรรมทรัพย์สินนั้นจะต้องลงโทษตามกฎหมายสูงสุด เนื่องจากถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย

ขณะที่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง สรุปเส้นทางหลวงแผ่นดินที่มีน้ำท่วมขัง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ มีจำนวน 17 เส้นทาง ซึ่งมีระดับน้ำเฉลี่ย 30-150 เซนติเมตร ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงกิโลเมตรที่ 28-33 , 41-48 , 54-78 , 83-84 และ 290-290 , ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงกิโลเมตรที่ 0-4 , 45-50 , 51-52 และ 62-81 ,ทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงกิโลเมตรที่ 4-5 , ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงกิโลเมตรที่ 0-51 , ทางหลวงหมายเลข 117 ช่วงกิโลเมตรที่ 4-10 , ทางหลวงหมายเลข 122 กิโลเมตรที่ 0-7 , ทางหลวงหมายเลข 225 ช่วงกิโลเมตรที่ 1-36 , ทางหลวงหมายเลข 311 ช่วงกิโลเมตรที่ 8-19 และ 159-166 , ทางหลวงหมายเลข 305 ช่วงกิโลเมตรที่ 0-8 , ทางหลวงหมายเลข 309 กิโลเมตรที่ 0-20 , ทางหลวงหมายเลข 329 ช่วงกิโลเมตรที่ 32-43 , ทางหลวงหมายเลข 333 ช่วงกิโลเมตรที่1-14 , ทางหลวงหมายเลข 340 ช่วงกิโลเมตรที่ 25-31 , ทางหลวงหมายเลข 345 ช่วงกิโลเมตรที่ 2-10 , ทางหลวงหมายเลข 346 ช่วงกิโลเมตรที่ 0-19 และ 20-29 , ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงกิโลเมตรที่ 21-50 และ ทางหลวงหมายเลข 352 ช่วงกิโลเมตรที่ 25-27

ทั้งนี้ กองบังคับการตำรวจทางหลวง แนะเส้นทางเลี่ยงไปภาคเหนือ 2 เส้นทาง คือ จากกรุงเทพมหานคร ใช้ถนนวงแหวนตะวันออก (กาญจนาภิเษก) ลงต่างระดับธัญบุรี เลี้ยวขวาถนนรังสิต-นครนายก ถึงแยกบ้านนา ใช้เส้นทางถนนสุวรรณศร ถึงแยกหินกอง ลงถนนพหลโยธิน ไปจังหวัดสระบุรี และไปจังหวัดลพบุรี ผ่านวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ ไปอำเภอโคกสำโรง สามแยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายมุ่มหน้าไปสี่แยกตากฟ้า แล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นทางหลวงหมายเลข 11 หรือใช้เส้นทาง วงแหวนตะวันตกหมายเลข 9 บางบัวทอง-ตลิ่งชัน-สาย 338 ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี-สาย 4 นครชัยศรี-นครปฐม แล้วใช้เส้นทางสาย 321 นครปฐม-กำแพงแสน สำหรับเส้นทางเลี่ยงไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก)-สี่แยกบ้านนา - ต่างระดับแก่งคอย กิโลเมตรที่ 10-11 - ถนนมิตรภาพ - อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการรับมือน้ำท่วมใน กทม.และนนทบุรีว่า ส่วนตัวคาดว่าระดับน้ำไม่น่าจะท่วมถึงขนาดต้องขนย้ายนักโทษ แต่หากมีความจำเป็นก็มีการวางแผนพร้อมกับประสานเรือนจำในจังหวัดต่างๆ ที่ไม่ประสบภัยไว้แล้วโดยสามารถขนย้ายนักโทษได้ภายใน 1- 2 ชั่วโมง ส่วนการป้องกันน้ำในเรือนจำต่างๆ นั้น เน้นไปที่เรือนจำลาดยาวเนื่องจากพื้นที่ทางฝั่งทัณฑสถานหญิงกลางอยู่ติดกับคลองเปรมประชากรจึงอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น