ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.หาดใหญ่จับมือเทศบาลนครหาดใหญ่ จัดสัมมนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วม”ครั้งที่ 3 ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมตามแผน “หาดใหญ่โมเดล” แจงทุกหน่วยพร้อมรับมือน้ำท่วม วอน ปชช.ติดตามพยากรณ์อากาศและธงเตือนภัยของทางเทศบาลฯใกล้ชิด
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดสัมมนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง...สู้ภัยน้ำท่วม” ครั้งที่ 3 ขึ้นเพื่อรายงานผลการปฏิบัติการเตรียมการรับมือน้ำท่วมตามแผน“หาดใหญ่โมเดล”ซึ่งมีการผนึกกำลัง และประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 43 และปี 53 มาปรับใช้อย่างเป็นระบบเพื่อหาทางออก ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด โดยมีหน่วยงานราชการ สื่อมวลชน และชาวหาดใหญ่เข้าร่วมรับฟังราว 100 คน
นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เผยว่า จังหวัดสงขลาได้จัดตั้งศูนย์ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำขึ้น โดยมีตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วม เพื่อเฝ้าระวัง ตลอดจนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมกันทุกวันพุธ และหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะประชุมถี่ขึ้น เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ได้แบ่งอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสงขลาออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุอุทกภัย ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ อ.เมือง อ.สิงหนคร อ.กระแสสิญจน์ อ.ระโนด โดยมีกองทัพเรือเป็นผู้ดูแล กลุ่มที่ 2 ได้แก่ อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ อ.นาหม่อม อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง โดยมีทหารบก ค่ายรัตนพล เป็นผู้ดูแล กลุ่มที่ 3 ได้แก่ อ.คลองหอยโข่ง และ อ.สะเดา โดยมีทหารอากาศ กองบิน 56 เป็นผู้ดูแล และกลุ่มที่ 4 ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา โดยมีกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 4 ค่ายรามคำแหง เป็นผู้ดูแล
ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เผยว่า ขณะนี้กรมอุตุฯประจำจังหวัดสงขลา ได้ปรับปรุงเรดาร์ตรวจจับอากาศใหม่แล้ว โดยสามารถตรวจจับได้ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง จึงสามารถรายงานสภาพอากาศได้แม่นยำ และเตือนภัยในกรณีเกิดพายุได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังติดตั้งมาตรวัดน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งตรวจผลได้ทุกๆ 15 นาทีด้วย
“จะต้องเฝ้าระวังเรื่องปริมาณน้ำฝนไปจนถึงช่วงปีใหม่ ปีนี้ฝนมากกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหากไม่มีพายุเข้าซ้ำ เพราะเป็นเพียงฝนประจำฤดู ซึ่งอยากเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง อย่าตื่นตระหนกเพราะข่าวลือ เนื่องจากตอนนี้มีข่าวลือบ่อยมาก และสำหรับ อ.หาดใหญ่ ในช่วงสัปดาห์นี้ไม่มีพายุ ทั้งนี้ การเกิดพายุนั้นจะใช้เวลาก่อตัวร่วม 1 สัปดาห์ ซึ่งกรมอุตุฯ ก็เห็นก่อนทุกครั้ง และเตือนภัยทันทุกครั้ง” ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าว
ขณะที่ตัวแทนสำนักชลประทานที่ 16 สงขลาชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา กรมชลประทานพยายามพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำสะเดาให้สามารถรองรับน้ำฝนในฤดูฝนที่จะถึงให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ จะต้องสงวนน้ำไว้จำนวนหนึ่งเพื่อให้การประปาได้นำไปผลิตน้ำประปาด้วย ส่วนเรื่องที่ประชาชนวิตกกังวลว่าอ่างเก็บน้ำสะเดาจะแตกนั้น ขอยืนยันว่าไม่แตกแน่นอน เพราะมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน นอกจากนี้ กรมชลฯยังได้ขุดลอกคลองสายหลัก 14 สายเสร็จเรียบร้อยแล้วและมีแผนจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีกหลายจุด ซึ่งบางจุดก็ได้ติดตั้งไปแล้ว ทั้งนี้ยังมีการตั้งจุดตรวจวัดระดับน้ำตามคลองต่างๆ ให้ดูง่ายและเห็นได้ชัดเจนขึ้น
อย่างไรตาม ชาวหาดใหญ่สามารถติดตามระดับน้ำจากคลองต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ (Real time) ที่ http://hatyaicityclimate.org โดยจะมีการอัปโหลดรูปภาพระดับน้ำจากคลองต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งระบุวันที่และเวลาไว้บนภาพด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจและร่วมกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ด้านนายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ กล่าวเน้นย้ำให้ชาวหาดใหญ่เฝ้าระวังสัญญาณการเตือนภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะสัญลักษณ์ธงสีต่างๆ ของทางเทศบาลฯ ด้วย เนื่องจากปีที่ผ่านมามีชาวหาดใหญ่จำนวนไม่น้อยเพิกเฉยต่อการเตือนภัยดังกล่าวส่งผลให้ขนข้าวของหนีน้ำไม่ทัน ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนรับ SMS เตือนภัยได้ฟรี ซึ่งจะแจ้งเตือนทั้งภัยน้ำท่วมและเหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยโทรศัพท์มาลงทะเบียนได้ที่ หมายเลข 1559
ฝ่าย นพ.อุทัย เก้าเอี้ยน รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในฤดูฝนที่จะถึงนี้ว่า ได้หารือและประสานหน่วยงานต่างๆ ใน ม.อ.วางแผนเรื่องการใช้พื้นที่แล้ว เนื่องจาก ม.อ.เป็นที่สูง น้ำไม่ท่วม และที่ผ่านมาได้ใช้เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมมาโดยตลอด ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่ดังนี้ 1.เตรียมแหล่งจอดรถในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ 5 จุด,2.เตรียมพื้นที่รองรับผู้ประสบภัยประมาณ 400-500 คน,3.เตรียมการรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ถูกน้ำท่วม และ 4.เตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นทั้งศูนย์รับบริจาค แจกจ่ายอาหารแห้งและอาหารปรุงสุก นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมกำลังคนเพื่อเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด และเตรียมน้ำสำหรับล้างบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมด้วย
และปิดท้ายการสัมมนาด้วยการนำเสนอผลงานวิจัย “อาหารยังชีพพร้อมจ่ายสำหรับผู้ประสบอุทกภัย” ซึ่งเป็นข้าวพร้อมรับประทาน สามารถเก็บได้นาน 1 เดือน ผลงานของนักวิจัย ม.อ.ด้วย โดยเบื้องต้นมีการบริจาคไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลางแล้วบางส่วน
นางอัจฉรา นิยมเดชา อายุ 43 ปี ชาวชุมชนมุสลิมมัสยิยาเม๊าะ (บริเวณวงเวียนน้ำพุ) ผู้เข้าร่วมรับฟังสัมมนา กล่าวว่า ปีที่แล้วบ้านน้ำท่วมถึงระดับอก ปีนี้จากการติดตามข่าวน้ำท่วมทางโทรทัศน์ ทำให้กระตือรือร้นที่จะเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม โดยตอนนี้เตรียมเสบียงอาหารที่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว ขาดก็แต่เสื้อชูชีพ ซึ่งตอนนี้ใน อ.หาดใหญ่ ค่อนข้างหาซื้อได้ยากและมีราคาสูง จึงสนใจเสื้อชูชีพแบบใช้ขวดน้ำ ถ้าภาครัฐมีการฝึกฝนให้ชาวบ้านหรือชุมชนทำเสื้อชูชีพแบบนี้เองได้จะดีมาก ถือเป็นการลดต้นทุนในการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมด้วย