ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นครหาดใหญ่เตรียมงบเบื้องต้น 60 ล้านบาท ป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ โดยปรับปรุงและวางแผนการทำงานเพื่อป้องกันเมืองไว้อย่างเต็มที่ จากประสบการณ์ปีก่อนๆ ชี้ หากปริมาณน้ำน้อยกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะสามารถพาเมืองหาดใหญ่รอดน้ำท่วมได้ โดยปีนี้เน้นให้ชุมชนตื่นตัวและเตรียมความพร้อม มากกว่าพึ่งพาความช่วยเหลือจากเทศบาลและรัฐบาล
ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เปิดถึงมาตรการเตรียมป้องกันอุทกภัยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ว่า ล่าสุดได้มีการสัมมนาป้องกันอุทกภัยไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ หอประชุมพลาซ่า ท่ามกลางความสนใจของประชาชน เพื่อชี้แจงข้อมูลต่างๆ ประกอบการตัดสินใจในการวิเคราะห์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการรับทราบอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยได้เตรียมงบประมาณดำเนินการป้องกันน้ำท่วมของปีนี้ไว้ราว 60 ล้านบาท ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน
ดร.ไพร กล่าวว่า ภายหลังจากที่ผ่านวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ในปี 2531, 2543 มาได้ ซึ่งในเวลานั้นคลองอู่ตะเภาสามารถรับน้ำได้เพียง 450 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้มีการขุดคลองระบายน้ำ 1-6 (คลอง ร.1-6) ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ในปีต่อๆ แต่ในส่วนของ อ.หาดใหญ่ นั้น มีคลองอู่ตะเภา และคลอง ร.1 เป็นหลัก ซึ่งหากปริมาณน้ำไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แล้ว เทศบาลนครหาดใหญ่จะสามารถรับมือและป้องกันน้ำท่วมได้
ขณะนี้เทศบาลนครหาดใหญ่ได้เตรียมแผนป้องกันภัยน้ำท่วม การซักซ้อมแผนรับมือน้ำท่วม และมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งชลประทานที่ 16, ทรัพยากรน้ำภาค 8, อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก, ศูนย์วิทยุท้องถิ่นต่างๆ ในลุ่มน้ำ, ศูนย์วิทยุเทศบาล (กุญชร-มณโฑ) ชมรมวิทยุสมัครเล่น เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีการขุดลอกคูคลองแล้ว ยังปรับปรุงระบบระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ ยกเครื่องสูบน้ำป้องกันน้ำล้นตลิ่ง และติดตั้งร่วมกับเพิ่มเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ในจุดที่มีน้ำท่วมขัง แก้มลิง เตรียมกระสอบทรายจำนวน 500,000 กระสอบ รวมถึงอาหารแห้ง 20,000 ชุด ที่พร้อมแจกหากสถานการณ์มีแนวโน้มวิกฤตจากน้ำท่วม
สำหรับทิศทางการไหลของน้ำ ดร.ไพร กล่าวว่า หากเมืองหาดใหญ่ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมแล้ว จะเกิดในบริเวณที่ลุ่มก่อนเสมอ นั่นคือทิศตะวันตกของคลองอู่ตะเภา ที่หาดใหญ่ใน บางแฟบ ซึ่งมีระดับพื้นที่ต่ำที่สุดและขนาบด้วยคลองทั้ง 3 ด้าน ส่วนปริมาณน้ำที่มาจาก อ.สะเดาจะไหลเร็วเข้าถึงเมืองหาดใหญ่ภายใน 5-7 ชั่วโมง เพราะเป็นพื้นที่สูงกว่า และเมื่อเข้าเมืองหาดใหญ่แล้วจะระบายสู่ทะเลสาบสงขลาได้ช้าลง ด้วยเป็นพื้นที่ราบ ทั้งนี้ เทศบาลจะติดธงแจ้งเขียว เหลือง แดง และแดง+ไซเรนเตือนภัยน้ำท่วมอีกช่องทางหนึ่ง
ดร.ไพร กล่าวต่อว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้เตรียมศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่ออำนวยการสั่งการในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แจ้งข้อมูลข่าวสารและเตือนภัยแก่ประชาชน ให้การสนับสนุนกำลังพล เครื่องมือในการปฎิบัติงานขณะเกิดเหตุและบูรณะฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ โดยมีศูนย์อำนวยการย่อยประจำเขต ที่มีรองนายกเทศมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ย่อย จำนวน 4 เขตได้แก่ เขต 1 ร.ร.เทศบาล 3 (โสภณพิทยาคุณานุสารณ์) เขต2 บ้านพักครูเทศบาล (ถ.ประชายินดี) เขต 3 ร.ร.เทศบาล 4 (วัดคลองเรียน) และเขต 4 ร.ร.เทศบาล 2 (บ้านหาดใหญ่)
ในเวลานี้ ประชาชนชาวหาดใหญ่สามารถติดตามข่าวสารและสถานการณ์น้ำได้หลายช่องทาง ทั้ง สายด่วนกุญชร 1559, รถประชาสัมพันธ์, สถานีวิทยุ FM.96.0 MHz, วิทยุสมัครเล่น, ศูนย์วิทยุเครื่องแดง ความถี่ 245.325 MHz, SMS 089-8761559, ธงแจ้งเตือนอุทกภัย, www.hatyaicity.go.th, www.hatyaicityclimate.com โทร.074-200000, 074-200191-4 และป้ายอักษรไฟวิ่ง (VMS)
อย่างไรก็ตาม นอกจากเทศบาลนครหาดใหญ่ได้เน้นการเตรียมตัวป้องกัน แล้วยังได้ให้ความสำคัญและกระตุ้นให้คนในชุมชนช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งแต่ละครั้งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจนับหมื่นล้าน มากกว่างบประมาณที่รัฐบาลควรจะนำมาแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมของเมืองหาดใหญ่ทั้งระบบเสียอีก โดยให้แต่ละชุมชนได้มีการสำรวจและคัดเลือกบ้านพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้นที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับเพื่อนบ้านได้พึ่งพิงในกรณีเกิดน้ำท่วม
สำหรับการจอดรถแก่ประชาชนกรณีเกิดน้ำท่วม เทศบาลได้เตรียมพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมไว้บริการ ทั้งในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ และทำหนังสือขอความร่วมมือภาคเอกชนในการเอื้อเฟื้อ ทั้งอาคารจอดรถของห้างสรรพสินค้าในเมืองหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อรองรับ
ในส่วนของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ซึ่ง ดร.ไพร พัฒโน เป็นนายกสมาคม นั้น ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นวอล์รูมในการช่วยเหลือน้ำท่วม 30 ล้านบาท และคณะกรรมการได้มอบเงิน 5 ล้านบาทให้กับรัฐบาลไปแล้วเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมในส่วนรวมแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 25 ล้าน ก็เบิกจ่ายเป็นค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ของที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งได้จัดส่งไปอย่างต่อเนื่อง
แต่ทั้งนี้ ทางสมาคมจะเน้นการช่วยเหลือในเรื่องฟื้นฟูมากกว่า เพราะว่าการช่วยเหลือในขณะนี้ทุกองค์กรร่วมกันบริจาคมาเยอะมากแล้ว สันนิบาตเทศบาลในฐานะที่เป็นสมาคมของเทศบาล จะระดมเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และกำลังคนไปช่วย โดยส่วนหนึ่งจะใช้งบประมาณจากเทศบาลต้นสังกัด ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณจากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยการนำหาดใหญ่โมเดลมาใช้ จากประสบการณ์จริงที่หาดใหญ่เคยประสบมา