xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมภาคอื่น…ภาคใต้ได้บทเรียนอะไรบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

โดยภูมิศาสตร์ภาคใต้จะมักเกิดน้ำท่วมใหญ่หลังภาคอื่นๆ ประมาณหนึ่งเดือน ในขณะนี้ภาคอื่นๆ กำลังสู้กับ “มหาอุทกภัย” อย่างเหน็ดเหนื่อย คำถามก็คือ คนภาคใต้ได้บทเรียนอะไรบ้าง

เท่าที่ผมทราบในจังหวัดสงขลา ทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิชาการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนได้มีการเตรียมตัวกันบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมมีบางประเด็นที่จะนำเสนอ ดังนี้

1. ภาคใต้มีทั้งสิ่งที่จะเพิ่มและลดความเสี่ยงได้มากกว่าภาคอื่นๆ ที่เสียเปรียบคือ มีฝนและพายุรุนแรงฉับพลันมากกว่าทุกภาคของประเทศ แต่ที่ได้เปรียบก็คือน้ำสามารถไหลลงสู่ทะเลได้รวดเร็วกว่า เพราะความแคบและลาดชันลงทะเลทั้งสองฝั่ง ต่างจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นที่ราบลุ่มซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ อย่างไรก็ตาม ทิศทางและความแรงของกระแสลมในอ่าวไทยอาจจะทำให้ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นได้ถึง 40-50 เซนติเมตรซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงทะเลได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ ก็คือได้เกิดปรากฏการณ์ “ดินเปื่อย” ที่อาจจะไถลถล่มลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลรอยปริร้าวเมื่อคราวน้ำท่วมในเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านมา

2. ที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 เป็นธรรมชาติของภาคใต้ในสภาพปกติ (ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าสภาพดังกล่าวเป็นอดีตไปแล้ว) แต่ในปัจจุบัน “ปัญหาโลกร้อน” ได้ส่งผลให้สภาพธรรมชาติของภาคใต้ต้องเปลี่ยนไปอย่างมากจนยากที่จะคาดการณ์ได้

ตั้งแต่ผมจำความได้ ผมเจอกับวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก (ปี 2505) ถัดมาคือพายุเกย์ (ปี 32 -ใช้เวลา 27 ปี) ในระยหลังนี้เกิดถี่มากขึ้นจนนับไม่ถูก ผมเคยเรียนในคอลัมน์นี้มาแล้วว่า “นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดพายุระดับรุนแรงสูงสุดจะเพิ่มขึ้นปีละ 31% โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนก็มาจากการใช้พลังงาน”

ในช่วง 70 ปีหลังนี้ จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วทั้งโลกเกิดเพิ่มขึ้นถึงกว่าหนึ่งร้อยเท่าตัว ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมันเกิดคงที่มาตลอด

3. จากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามข้อที่ 2 ได้ส่งผลให้ธรรมชาติมีความซับซ้อนมากขึ้น (complexity-มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินซึ่งแปลว่า ฟั่น (entwine) สิ่งต่างๆ ให้ติดไปด้วยกัน)

ระบบต่างๆ ของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ ความร้อน ความชื้น ลม กระแสน้ำ ระบบนิเวศ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ได้ถูก “ฟั่น” ให้ติดกันแน่นมากขึ้นกว่าเดิมจนยากยิ่งที่ใครจะทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และคาดหมายมันได้ วิธีคิด ทฤษฎี และวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้ว

นักคิดบางท่านถึงกับล้อเล่นต่อนักเศรษฐศาสตร์ว่า “นักเศรษฐศาสตร์แบ่งออกได้เป็นสองพวก คือ พวกที่ทำนายเศรษฐกิจในอนาคตไม่ถูกกับพวกที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองทำนายไม่ถูก”

ผมอยากจะสรุปว่า ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ไม่รู้ตัวเองว่า ความรู้ที่ตนมีอยู่นั้นไม่สามารถทำนายปรากฏการณ์ในอนาคตของธรรมชาติได้ หากท่านผู้อ่านไม่เชื่อ โอกาสเหมาะๆ ผมจะนำสมการคณิตศาสตร์ง่ายๆ มาให้ท่านทดลองทำนายดูด้วยเครื่องคิดเลขราคาถูก

4. จากข้อ 3 ผมอยากจะสรุปว่า เราคาดหมายไม่ถูกหรอกครับว่า ในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ที่กำลังจะมาถึงนี้จะตกเท่าใด พายุจะมาเยือนสักกี่ลูก เพื่อความไม่ประมาทหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการเขื่อน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โปรดคำนึงเรื่องนี้ด้วย

ผมเรียนว่าเขื่อนมีประโยชน์ แต่การจัดการเขื่อนในปัจจุบันนั้นยากมากๆ นี่มองในแง่ของธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่คิดถึงอิทธิพลของนักการเมืองที่แอบแฝงอย่าง “ยากแท้หยั่งถึง”

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เขื่อนรัชชประภาและเขื่อนแก่งกระจานได้เก็บน้ำไปแล้ว 81% ถ้าฝนตกหนักมันอาจจะล้นในเวลาอันสั้นอย่างที่เราคาดไม่ถึง ขอได้โปรดพิจารณาบริหารจัดการก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึงซึ่งคาดได้ยากมากว่าจะมาตอนไหนและต้องพร่องไปเท่าใด น่าเห็นใจมากครับ เพราะต้องตัดสินใจระหว่างการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งกับการเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของน้ำท่วม

เท่าที่ผมทราบ เทศบาลนครหาดใหญ่ได้พร่องน้ำในแก้มลิงของตนแล้ว อ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่งก็ได้กระทำเช่นเดียวกัน

5. ผมได้เข้าไปดูเว็บไซต์ http://www.hatyaicityclimate.org ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 12 องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนด้วย พบว่าได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก มีข้อมูลระดับน้ำในคลอง ความลึกของน้ำจากระดับตลิ่ง ปริมาณน้ำฝนที่เวลาจริง น่ายกย่องครับ

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ควรมีการเขียนกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝนรายวันกับระดับน้ำในคลองต่างๆ ในแต่ละลุ่มน้ำ โดยใช้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งหมดในลุ่มน้ำ ในขณะนี้ทางกรมชลประทานได้นำเสนอทุก 15 นาที ผมเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไป ทำให้เราเห็นภาพรวมได้ยาก ผมคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นรายวันหรืออย่างมากก็ไม่ควรถี่กว่าวันละสองครั้ง

กราฟที่จะได้นี้นอกจากจะทำให้เราเห็นแนวโน้มในอนาคตระยะใกล้ได้แล้ว ยังทำให้เราใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของลุ่มน้ำว่า จะสามารถดูดซับหรืออุ้มน้ำได้ดีมากน้อยเพียงใด เช่น เมื่อฝนหยุดตกแล้วน้ำท่ายังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีกกี่วัน ด้วยอัตราหรือปริมาณเท่าใด (ทำนองเดียวกับเวลารถยนต์เบรกแล้วผู้โดยสารจะหัวขมำไปข้างหน้า ความแรงของการขมำทำให้เราพอจะทราบถึงความเร็วของรถได้)

นอกจากนี้พอจะทำให้เราทราบถึงอุปสรรคหรือสิ่งก่อสร้างที่ขวางกั้นการไหลของน้ำด้วย ภาพข้างล่างนี้คือส่วนหนึ่งของข้อมูลในลุ่มน้ำหนึ่งของทะเลสาบสงขลาครับ

6. หากภาคใต้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในช่วงที่กรุงเทพฯ และภาคกลางยังไม่จบ คงเป็นเรื่องยากที่สื่อกระแสหลักจะให้ความสนใจกับความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนภาคใต้ควรเตรียมการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ

7. แม้น้ำท่วมภาคกลางนานเป็นเดือนแล้ว แต่เรายังเพิ่งเห็นมีการลอกผักตบชวาอยู่เลย!

ผมมีเนื้อที่เท่านี้ ผมเชื่อมั่นในพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น