ผ่าประเด็นร้อน
นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่จังหวัดปทุมธานีกำลังโกลาหล ต้องสั่งอพยพคนออกนอกพื้นที่เป็นการฉุกเฉินหลังจากคันกั้นน้ำด้านเหนือเริ่มพังลงมาและน้ำทะลักเข้ามาหลายทิศทาง!!
นั่นเป็นข่าวด่วนที่น่าตระหนกตกใจเมื่อตอนเที่ยงวานนี้ (17 ตุลาคม) เพราะนิคมดังกล่าวเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีโรงงานอยู่รวมกันเกือบสองร้อยโรง มีแรงงานและครอบครัวอยู่กันเป็นชุมชนขนาดใหญ่จำนวนกว่า 2 แสนคน ซึ่งถ้านิคมฯ แห่งนี้จมน้ำไปอีกแห่งก็ย่อมหมายความว่าจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงไปอีก เพราะถ้าจมน้ำก็ย่อมหมายความว่าจะมีคนงาน “ตกงาน” เพิ่มขึ้นอีกนับแสนคน และถ้ารวมกับความเสียหายในนิคมอุตสาหกรรม 4-5 แห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนหน้านี้ที่ต้องปิดตัวลงทำให้คนงานต้องตกงานไปแล้วกว่า 2 แสนคน
ลองหลับตานึกภาพเอาก็แล้วกันว่ามันหนักหนาสาหัสแค่ไหน!!
ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำที่ไหลต่อเนื่องจากนิคมฯนวนครแล้วก็จะไหลบ่าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และจะเริ่มเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นลำดับต่อไป มันก็ต้องลุ้นระทึกกันอยู่ว่าเขื่อนกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ที่มีความสูง 2.5 เมตรจะรับมือได้นานแค่ไหน แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เวลานี้ได้มีการระบายออกมาทั้งฝั่งตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือแนวกั้นน้ำหลัก การป้องกันยังเป็นลักษณะคันดินและกระสอบทรายแบบชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “เอาไม่อยู่” เมื่อต้องเจอกับระดับน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และยิ่งเป็นเส้นทางน้ำแคบๆ กระแสน้ำก็ยิ่งเชี่ยวกราก ดันให้ประตูและคันดินพังทลาย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดที่นิคมนวนคร ที่แม้ว่าจะเสริมคันให้สูงและแข็งแรงก็เอาไม่อยู่
ดังนั้น นาทีนี้ต้องลุ้นอยู่ที่เดียว คือ กรุงเทพมหานครว่าจะสามารถต้านทานได้หรือไม่ เพราะที่นี่ถือเป็นที่มั่นแห่งสุดท้าย และเป็นที่มั่นหลัก หากต้องจมน้ำก็ต้องจบเห่
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากตัวบุคคลที่รับผิดชอบเป็นคนละชุดกับที่เข้ามาดูแล นั่นคือคนละชุดกันศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่กำลังสร้างความสับสนและโกลาหลให้กับชาวบ้าน
แต่เป็นการดูแลรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ที่นำโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ประกาศ “เดิมพัน” ทางการเมือง เพื่อรักษาพื้นที่สำคัญแห่งนี้เอาไว้ได้
สังเกตให้ดีจะเห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้พยายามเน้นย้ำให้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่าเขาเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการดูแลพื้นที่เอาไว้ในฐานะผู้บริหาร และเพื่อป้องกันความสับสนให้ประชาชนติดตามข่าวสารและหากถึงขั้นวิกฤตและต้องสั่งอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ต้องฟังจากเขาเท่านั้น
พร้อมทั้งย้ำชัดๆ ว่า หากกรุงเทพมหานครน้ำท่วมมาถึงเขตชั้นใน ตัวเขาก็อยู่ไม่ได้ เพราะมาจากการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ
ความหมายก็คือในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง คนอื่นไม่ต้องมาแส่ สร้างความวุ่นวายให้เกิดความสับสนให้เกิดขึ้นเพิ่มไปอีก และที่สำคัญความหมายอีกอย่างที่ตามมาก็คือ หากผิดพลาดเกิดความเสียหายตัวเองก็จะซวยคนเดียว แต่ถ้าผ่านพ้นไปได้คนที่ “ได้หน้า” จะเป็นใครนั้นสามารถคาดเดาได้อยู่แล้ว
ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงการรับมือเตรียมการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ หากแยกเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯออกมามันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนอย่างช่วยไม่ได้ เพราะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างสองพรรคใหญ่คือ ประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้บริหารกรุงเทพฯภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขณะที่อีกฝ่ายก็คือพรรคเพื่อไทย และที่สำคัญกำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ปรากฏการณ์วุ่นวายจนสร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านในเวลานี้ก็คือการ “แย่งซีน” ใช้การป้องกันน้ำท่วมเป็นเครื่องมือรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบการทำงานทั้งสองฝ่ายแล้วก็ต้องยอมรับว่านาทีนี้ ฝ่าย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้าน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ทั้งในแง่ของบริหารจัดการ เตรียมการรับมือกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ไม่สับสน รวมไปถึงการให้ข้อมูลชาวบ้านก็เป็นไปอย่างเป็นระบบมากกว่า แต่ขณะเดียวกันเมื่อภาพออกมาแบบนี้มันก็ยิ่งทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาทางเข้ามาแทรกแซง ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ตีกิน” แย่งคะแนนนิยมมาให้ได้ เพราะถ้างานนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทำได้สำเร็จ ก็สามารถมองข้ามช็อตไปได้ไม่ยากว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คราวหน้าจะออกมาอย่างไร ประกอบกับเมื่อพิจารณารวบยอดจากผลงานการรับมือน้ำท่วมที่อื่นๆ ที่หายนะตามรายทางพรรคเพื่อไทยก็เริ่มไปไม่เป็น
นี่ยังไม่นับเรื่องการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่รับรองว่าวิกฤตเดือดร้อนกว่านี้หลายสิบเท่า เพราะเมื่อเห็นภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไร้เดียงสาขาดความรู้รอบตัว ถูกมองเหมือน “ตัวตลก” พร้อมกับคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ มันก็ยิ่งวังเวง!!