xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมดับแล้ว 269 ราย “วิทยา” กำชับส่งต่อผู้ป่วยให้คำนึงปลอดภัยเป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรุปน้ำท่วมดับแล้ว 269 ราย “วิทยา” กำชับให้ข้าราชการ สธ.ถือปฏิบัติ 9 มาตรการรับมือน้ำท่วม โดยเฉพาะ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อย่างเคร่งครัด ยันการส่งต่อผู้ป่วยหนักภายหลังน้ำท่วม โรงพยาบาลคำนึงความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นหลัก

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารส่วนกลาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เมื่อบ่ายวันนี้ (10 ต.ค.) ว่า ได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้ปฏิบัติรับมือสถานการณ์น้ำท่วม 9 ข้ออย่างเคร่งครัด ได้แก่ 1.ป้องกันน้ำท่วมสถานที่ ให้ตรวจตราซ่อมเสริมความแข็งแรงแนวป้องกัน 2.สำรองทรัพยากร เวชภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ออกซิเจน ไฟฟ้า และอาหารผู้ป่วย 3.จัดบริการสถานที่ที่จำเป็น เช่น การย้ายบริการจากชั้น 1 ไปชั้นบน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 4.การจัดบริการนอกสถานที่ 5.การส่งต่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกประเภท ทั้งผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยกึ่งหนักและผู้ป่วยทั่วไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 6.ให้เตรียมเส้นทางหลักและเส้นทางสำรองในการส่งต่อผู้ป่วยให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว 7.เตรียมยานพาหนะ เช่น รถยก รถสูง เรือ และสถานที่รับเฮลิคอปเตอร์ 8.การจัดตั้งศูนย์อพยพและศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 9.การตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดห้องน้ำ หรือส้วมฉุกเฉินให้กับผู้อพยพที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้อพยพเหล่านี้ต้องทนอดอาหารระหว่างน้ำท่วม เพราะไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว

นายวิทยา ยังขอให้ทุกจังหวัดต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังให้เตรียมยุทธศาสตร์รองรับหลังน้ำลด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นแบบการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยในส่วนสถานบริการที่เสียหายจากน้ำท่วมต้องได้รับการฟื้นฟูแก้ไข และพร้อมให้บริการทันทีหลังน้ำลด อีกทั้งสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนู และโรคอุจจาระร่วง

สำหรับที่มีข่าวว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการส่งต่อหลังจากที่มีน้ำท่วมโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) นายวิทยา กล่าวว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพียง 1 ราย ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยทั่วไปในหอผู้ป่วยหนักที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวันๆ ละ 5-6 รายอยู่แล้ว ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหนักเสียชีวิตรวม 10 ราย ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไม่ได้มาจากสถานการณ์น้ำท่วมโรงพยาบาลแต่อย่างใด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการหนักเช่นผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย เป็นต้น

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ในระหว่างการส่งต่อผู้ป่วยนั้นมีความปลอดภัย แพทย์ทำอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน และยืนยันว่า ไม่มีพระสงฆ์เสียชีวิต เนื่องจากหยุดหายใจในระหว่างการส่งต่อจาก รพ.พระนครศรีอยุธยา ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น

นายวิทยา ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ว่า ได้สั่งการให้ นายแพทย์ ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรี นายแพทย์ โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปอำนวยการบริหารจัดการและส่งต่อผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยเน้นความปลอดภัยในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นหลัก

ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และตาก รวม 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน และมีผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 217 สาย แยกเป็น ทางหลวง 59 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 158 สาย ใน 32 จังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น