xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อน้ำท่วมอีสานให้รัฐบาลสอบตก จัดการปัญหาอุทกภัย ชะลอใช้จ่ายหลังน้ำลด ยกเลิกแผนเที่ยวปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนหนึ่งของความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เผยผลสำรวจอีสานโพล (E-Saan Poll) กรณี “ความพึงพอใจต่อการจัดการน้ำท่วมและการปรับตัวหลังน้ำลดของชาวอีสาน” พบพื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ให้รัฐบาลสอบตกในการจัดการปัญหาน้ำท่วมและการเยียวยา ปีหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ เพราะยังกังวลอุทกภัยจะรุนแรงขึ้น ทั้งวางแผนตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น คาดช่วงปีใหม่อาจซบเซาเพราะคนหยุดเที่ยว

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจในประเด็น “ความพึงพอใจต่อการจัดการน้ำท่วมและการปรับตัวหลังน้ำลดของชาวอีสาน” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 611 รายใน 4 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ พบว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่การเกษตรเสียหาย ร้อยละ 42 รองลงมาได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในการทำงาน ร้อยละ 27 มีผู้ได้รับผลกระทบจากที่อยู่อาศัยเสียหาย ร้อยละ 20 มีผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งของเครื่องใช้เสียหาย ร้อยละ 7

ทั้งนี้ ระดับความเสียหายของพื้นที่การเกษตรมีความรุนแรงมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับเสียหายทั้งหมด ขณะที่ด้านอื่นๆ ได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการของภาครัฐในระหว่างน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินความพึงพอใจในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 49

ขณะที่ความพึงพอใจต่อมาตรการเยียวยาของภาครัฐภายหลังน้ำลดของภาครัฐ ใหญ่ประเมินความพึงพอใจในระดับน้อยเช่นกัน คิดเป็นร้อยละ 47

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานจะคลี่คลายแล้ว แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 71 คาดการณ์ว่า ในอีก 1-5 ปีข้างหน้า ปัญหาน้ำท่วมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อถามถึงวิธีการปรับตัวหลังน้ำลดและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก กลุ่มตัวอย่างตอบว่าจะมีการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ให้มากขึ้น ร้อยละ 39

รองลงมาจะย้ายที่อยู่ไปพื้นที่อื่น ร้อยละ 13 จะย้ายสถานที่ทำงานไปยังพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ร้อยละ 12 หันมาเน้นการออมเงินหรือลงทุนในพันบัตรรัฐบาลมากขึ้น ร้อยละ 12 และวิธีอื่นๆ ร้อยละ 24

ส่วนการปรับตัวด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริโภคหลังน้ำลด พบว่ามีการยกเลิก/เปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางไปเที่ยวในช่วงวันหยุดปีใหม่ ร้อยละ 17 วางแผนลดจำนวนการรับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 17 มีการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิงลง ร้อยละ 16

เน้นตรวจสอบสินค้าจากหลายแหล่งก่อนตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 14 หันมาใช้สินค้าทดแทนที่ราคาถูกกว่า ร้อยละ 14 ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 12 และกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคเผื่อยามฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 8

“ในช่วงที่ผ่านมา 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเช่นเดียวกัน แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบ เพราะระดับความเสียหายไม่รุนแรงเท่าภาคกลางและกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคอีสานได้มีความตื่นตัวต่อการรับมือภัยธรรมชาติมากขึ้น และมีการปรับตัวโดยวางแผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะแผนการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ ประชาชนยังได้เสนอแนะว่าอยากให้ภาครัฐเร่งบริหารจัดการแหล่งกักเก็บน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในปีหน้า” ดร.สุทิน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น